หมายเหตุ : หลังจากที่ “รสนา โตสิตระกูล” อดีตสมาชิกวุฒิสภา ได้ประกาศตัวลงแข่งในสนามเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทำให้เป็นที่น่าสนใจอย่างมาก ว่าจะเกิดปรากฏการณ์ “ผู้ว่าฯกทม.หญิง” คนแรก แห่งเมืองกรุงหรือไม่ ทั้งนี้ รสนา ได้เปิดใจกับ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ถึงการตัดสินใจลงสู้ศึกในครั้งนี้ โดยมีรายละเอียดที่น่านสนใจ ดังนี้ -เสียงตอบรับจากประชาชน หลังประกาศลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เสียงตอบรับจากประชาชนทั่วไป ให้การสนับสนุนจำนวนมาก รวมทั้งเครือข่าย องกรต่างๆ ก็ให้การตอบรับ และยินดีที่จะเป็นตัวกลางพูดคุยกับสมาชิก เพื่อให้การสนับสนุนอีกทางหนึ่ง และมีหลายคนพร้อมให้การสนับสนุนในการร่วมคิด และช่วยเหลือในด้านต่างๆ -เพราะเหตุใด ถึงตัดสินใจลงสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ เนื่องจากทำงานทางสังคมมาเกือบ 40 ปี ทั้งส่วนงานพื้นฐาน เช่น เรื่องสมุนไพร อาหารปลอดสารพิษ และงานการตรวจสอบทุจริตคอร์รัปชั่น เช่น ทุจริตจัดซื้อยาในกระทรวงสาธารณสุข การแปรรูปของรัฐวิสาหกิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเรื่องอื่นๆ ที่ทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ หลังจากนั้นได้รับเลือกให้เป็น ส.ว.กทม. ตั้งแต่ปี 2551-2557 ส่วนต่างๆ เหล่านี้ ทำให้เราได้เห็นปัญหาต่างๆ การตัดสินใจลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เพราะเราเป็นคนกรุงเทพฯ ทั้งเรียน และทำงานในกรุงเทพฯ จึงอยากเห็นกรุงเทพฯ เป็นบ้านสำหรับทุกคน เนื่องจากกรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าท่องเที่ยวติดอันดับโลก 4 ปีซ้อน แต่คนกรุงเทพฯ หลายคนกลับรู้สึกว่า กรุงเทพฯแสนจะหมดหวัง มีแต่ปัญหาซ้ำซาก รถติด น้ำท่วม คุณภาพชีวิตไม่ดีขึ้น ด้วยจุดนี้ ทำให้เกิดความรู้สึกอยากมีโอกาสมาทำให้บ้านของตัวเอง เป็นบ้านที่เราอยู่ได้อย่างมีความสุข ไม่ใช่เป็นเพียงเมืองน่าท่องเที่ยว แต่ควรเป็นบ้านที่น่าอยู่ของคนกรุงเทพฯ ทั้งหมด -ปัญหาในพื้นที่ กทม. ที่ต้องเร่งแก้ไข 3 อันดับแรก คือเรื่องอะไร ปัญหา กทม. มีหลากหลายมาก ถ้าคิดอย่างบูรณาการจะมีความเกี่ยวพันธ์กัน ปัจจุบัน กทม. มีคนหลากหลายกลุ่ม เช่น คนชั้นสูง คนชั้นกลาง ที่ต้องขับรถอยู่ในถนน ซึ่งเป็นปัญหาร่วมของคนทั้งหมด คือ รถติด แต่ถ้าเป็นคนทำงานหาเช้า กินค่ำ การทำมาหากินฝืดเคือง จะให้เลือกปัญหาใดปัญหาหนึ่ง อาจจะไม่ใช่คำตอบของปัญหาใด แต่ต้องมองภาพรวมทั้งหมดของ กทม. เช่น เรามองปัญหาเรื่องขยะ ถ้าเราสามารถจัดการปัญหาเรื่องขยะได้ อาจจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม หรือแปรรูปขยะมาทำปุ๋ย เพื่อปลูกพืชอินทรีย์ใน กทม. เป็นอาหารที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน และอาจจะเชื่อมโยงในแง่คนมีรายได้น้อยในเมือง ซึ่งเวลานี้ก็หากินฝืดเคือง จะทำอย่างไรให้มีงานทำ มีโอกาสลดค่าใช้จ่าย ก็เกี่ยวโยงในเรื่องการเดินทางโดยรถสาธารณะ อาทิ รถไฟฟ้า คนรายได้น้อย หรือคนชั้นกลาง มองว่าราคาแพงเกินไป เราจะแก้ปัญหาตรงนี้อย่างไร ให้การเดินทางโดยรถสาธารณะ เป็นทางเลือกที่สำคัญสำหรับทุกคน ถ้าทุกคนลดการนำรถออกจากบ้านได้สัก 20% ก็ช่วยลดปัญหารถติดได้มาก แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือ การเชื่อมต่อ แม้จะมี รถไฟ้ฟ้า ทั้งบนดิน ใต้ดิน บริการจำนวนมาก แต่จากบ้านไปสู่จุดขึ้นรถสาธารณะ ป้ายรถเมล์ ไม่มีรถสาธารณะให้บริการ หรือมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จึงต้องขับรถเพื่อไปใช้บริการรถสาธารณะ แต่กลับไม่มีที่จอดรถ ก็ต้องขับรถเข้าไปในเมือง ฉะนั้น สิ่งสำคัญจะต้องทำให้มีการเชื่อมต่อ เพื่อให้คนไปใช้บริการรถสาธารณะได้ง่ายขึ้น การสัญจรทางน้ำ ก็เป็นตัวเลือกอีกทางหนึ่ง ซึ่งเวลานี้มีเรือสาธารณะวิ่งให้บริการแค่คลองแสนแสบ หากเรามีการสำรวจคลอง อาจจะเชื่อมต่อกับจังหวัดรอบๆ กทม. เช่น รังสิต ซึ่งมีปริมาณรถติดมาก แต่คลองรังสิตกว้างขวาง กลับไม่ได้ใช้ประโยชน์ จะเป็นไปได้หรือไม่ เราจะประสานกับจังหวัดใกล้เคียง ทำเรือสาธารณะวิ่งในคลองมาเชื่อมต่อกับ กทม. และอีกประการ ถ้ามีการใช้คลอง มีการขุดลอก ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งทำให้คนไม่ทิ้งขยะ แต่สิ่งสำคัญที่สุด ทำอย่างไรที่จะให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางรถสาธารณะลดลง ก็เป็นการให้คนมาใช้รถสาธารณะมากขึ้น เพราะการเพิ่มถนน ไม่ใช่การแก้ปัญหารถติดได้ รวมทั้งยังช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองPM 2.5 ได้อีกด้วย การแก้ปัญหาใน กทม. เป็นเรื่องที่ต้องดูภาพรวมทั้งหมด และต้องทำพร้อมๆ กัน ไม่สามารถจัดอันดับได้ว่าปัญหาไหนอันดับ 1 หรือ 2 หรือ 3 เพราะปัญหาหลายอย่างเชื่อมโยงกัน -การเดินสายฟังเสียงประชาชน ซึ่งยังไม่เคยมีผู้สมัครคนไหนทำ มีการมอง กทม. ในรูปแบบไหน ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หลายคนที่ได้เสนอตัว คงไม่มีใครคิดถึงเรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชน และประชาชน คิดว่า กทม. เป็นคลังสมองของคนที่มีความสามารถเยอะ และคนเหล่านี้มีความตื่นตัว อยากเข้ามามีส่วนร่วม แต่โอกาสที่ กทม. จะเปิดให้คนเหล่านี้เข้ามามีส่วนร่วมยังน้อย เพราะรูปแบบการบริหาร มีการเลียนแบบรัฐบาลกลาง เมื่อได้รับการเลือกตั้งมา ก็รับเหมาทำเองทั้งหมด จึงอาจไม่ได้ฟังเสียงประชาชน โดยประชาชนในแต่ละพื้นที่ มีความรู้ความเข้าใจพอสมควร บางเรื่องเราอาจต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งหมด แต่ปัญหาระดับย่อยลงมา ในระดับชุมชนไม่ใช่เป็นการตัดเสื้อโหลมาใส่ ต้องมีเสื้อเฉพาะตัว ซึ่งปัญหาของชุมชนนี้ อาจจะไม่ใช่ปัญหาของชุมชนอื่นๆ ถ้าเรามีการรับฟัง และเปิดโอกาสให้คนในชุมชนร่วมแก้ปัญหา ผู้ว่าฯ กทม. อาจเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกที่ให้คนในชุมชนร่วมแก้ปัญหา และเชื่อว่าปัญหาหลายๆ อย่าง ก็อาจจะแก้ได้ ขณะนี้ เราพูดถึงเรื่อง Smart City ซึ่ง Smart City จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าเรายังมีปัญหาการไม่สุจริต ไม่มีธรรมาภิบาลในการบริหาร ฉะนั้น Smart City ที่มีเครื่องมือที่ทันสมัยอย่างเดียว ก็จะไม่ตอบโจทย์ แต่หากเรามี Smart Citizen เป็นโจทย์ที่สำคัญว่า ทำอย่างไรที่เราจะมี Smart Citizen ที่มาทำให้ Smart City เกิดขึ้นได้จริง ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของวัตถุ แต่เป็นเรื่องของการจัดการบ้านด้วยตัวเราเอง ในความคิดการเมืองท้องถิ่นในเขต กทม. เป็นการเมืองที่ต้องใกล้ชิดกับประชาชน รู้ร้อน รู้หนาวกับปัญหาของประชาชน และพยายามเข้าไปเอื้ออำนวยในการแก้ปัญหา ซึ่งต้องยอมรับว่า คนใน กทม. มีทั้งคนระดับสูง คนหาเช้ากินค่ำ และปัญหาของคนทั้ง 2 กลุ่ม ก็มีความขัดแย้งกัน เช่น หาบเร่แผงลอย สำหรับมนุษย์เงินเดือน หรือคนรายได้น้อย อาจจะอยู่ได้ด้วยการค้าขาย หาบเร่แผงลอย แต่คนระดับสูง และระดับกลาง กลับมองว่า เกะกะ รุกล้ำฟุต บาธทางเดิน อยากให้มีการกวาดล้าง จึงมองว่า เป็นไปได้หรือไม่ จะมีการจัดระเบียบ เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ โดยการแบ่งปันพื้นที่สาธารณะ ที่สำคัญ คนจนในเมืองมีจำนวนมาก ปัญหาของเขาเป็นปัญหาที่เราต้องใส่ใจเข้าไปแก้ไข ไม่เช่นนั้นเราจะมีการเมืองท้องถิ่นทำไม ดังนั้นเรามีการเมืองระดับชาติก็พอแล้ว และที่เห็นชัด การเมืองระดับชาติ ส.ส. ต้องสังกัดพรรค แต่การเมืองท้องถิ่นไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรค เพราะอยากให้ผู้สมัครมาเป็นผู้ว่าฯ ได้อยู่ใกล้ชิดกับประชาชน และร่วมปรึกษาหารือกัน ฉะนั้นการเมืองตัวแทนไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง การเมืองท้องถิ่นจึงเป็นตัวแปร เพื่อเข้ามาดูรายละเอียดต่างๆ ของชีวิตผู้คนใน กทม. ซึ่งจุดนี้ คิดว่า “กทม. ควรเป็นเมืองที่มีความหวัง” จึงต้องมีการร่วมมือกันทำ โดยเชื่อว่า ถ้าเปิดโอกาสให้คนที่มีความสามารถเหล่านี้เข้ามา จะช่วยเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองได้ เหมือนเช่น บ้านใหญ่หลังหนึ่ง ต้องช่วยกันปัดกวาด ช่วยกันกำหนดกติกา ทั้งนี้ กทม. มีส่วนที่เป็นชุมชนดั้งเดิม ซึ่งมีอัตลักษณ์เฉพาะ หากเราช่วยทำให้อัตลักษณ์ที่มียังคงอยู่ เพราะ กทม. เป็นเมืองท่องเที่ยว น่าจะมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระดับชุมชน ถ้าการทำมาหากินของคนในชุมชนคึกคักขึ้นมา ก็จะช่วยเสริมต้นไม้ใหญ่ เพราะต้นไม้ใหญ่จะต้องมีรากแผ่กระจายออกไปให้มากที่สุด และ Living Economy เศรษฐกิจที่มีชีวิตชีวา ควรจะเกิดขึ้นจากคนเล็กคนน้อย ถ้าดิฉัน ได้มีโอกาสเข้ามาทำงานใน กทม. ก็จะทำสิ่งนี้ -นโยบายหลัก คือการเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาแบบบูรณาการใช่หรือไม่ อย่างที่บอก งานที่เป็นของ กทม. ที่ต้องทำอยู่แล้ว เช่น รถติด เป็นเรื่องที่ต้องทำ แต่สิ่งเหล่านี้ เราไม่สามารถจะรับเหมาทั้งหมด เพราะปัญหาหลายอย่างเกิดขึ้นจากพวกเรากันเองด้วย เหมือนเวลาเราอยู่ในบ้านครอบครัวของเรา ก็ต้องมีหน้าที่ แบ่งหน้าที่กันทำ คนนี้กวาดบ้าน คนนี้ล้างจาน คนนี้ไปหุงข้าว และเราก็มาร่วมวงกินด้วยกัน ดังนั้นในฐานะที่เราเป็นสมาชิกในบ้านเดียวกัน ต้องช่วยกัน แต่ในฐานะผู้ว่าฯ ที่เข้ามารับอาสาทำ เราก็ต้องดูแลให้มีสิ่งพื้นฐานที่ทำให้ทุกคนอยู่ได้อย่างปลอดภัย ไม่ใช่ว่าผู้ว่าฯ ไม่รับผิดชอบ แต่เป็นการรับผิดชอบที่เปิดโอกาสให้ทุกคน รับฟังเสียงทุกคน เพื่อร่วมกันยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีในบ้านหลังนี้ -หากมีผู้ว่าฯ หญิงคนแรกในยุคนี้ คิดว่าจะออกมาในรูปแบบไหน ก็เป็นเหมือนแม่บ้าน ที่ต้องดูแลบ้านให้เรียบร้อย ซึ่งดิฉันได้ผ่านชีวิตมาไม่ต่ำกว่า 40 ปี ในการทำกิจกรรมหลากหลายประเภท แต่มาวันนี้ อายุ 60 กว่าปีแล้ว ยังมีความรู้สึกว่าอยากหยุดอยู่ที่นี่ ที่จะทำให้บ้านของเรามันดีขึ้น สำหรับที่เราจะอยู่ร่วมกัน โดยสิ่งที่อยากเห็น คือ กทม. เป็นเมืองน่าท่องเที่ยวสำหรับคนต่างชาติ และเป็นบ้านที่น่าอยู่สำหรับพวกเราที่อยู่ใน กทม. ไม่ว่าจะเป็นคนที่มีทะเบียนบ้านอยู่ใน กทม. หรือคนที่ผ่านเข้ามาอาศัย ควรจะได้รับความสะดวกสบาย ไม่เดือดร้อน และแบ่งปันกัน -ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หลายคน ประกาศตัวลงในนามอิสระ มีข้อดีกว่าสังกัดพรรคอย่างไร การที่ กทม. เปิดโอกาสให้ผู้สมัคร ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรค แสดงว่าการเมืองท้องถิ่นไม่ได้สนใจการเมืองระดับชาติ และการลงสมัครเลือกตั้งแบบอิสระ ทำให้เราไม่ต้องขึ้นอยู่กับพรรคการเมือง หรือกลุ่มทุนใด เราก็สามารถเป็นอิสระได้อย่างแท้จริงในการทำประโยชน์ให้กับคน กทม. และจากการฟังเสียงประชาชน ให้ความสนใจกับผู้สมัครที่เป็นอิสระ จึงทำให้ว่าที่ผู้สมัครหลายคน ถึงแม้จะอยู่สังกัดพรรคการเมืองมาก่อน ก็คิดอยากลงสมัครในนามอิสระ ซึ่งน่าจะเป็นเสียงสะท้อนจากประชาชนในระดับหนึ่ง ที่เห็นว่า การลงสมัครแบบอิสระ ทำให้ประชาชนรู้สึกว่า ไม่ต้องไปพึ่งทุน หรือนักการเมือง โดยอาจจะทำให้คนสงสัย เวลาพึ่งกลุ่มทุน หรือนักการเมือง ก็ต้องไปรับใช้เขา ก่อนไปรับใช้ประชาชนหรือเปล่า ทำให้แนวโน้มในสมัยนี้ คนเริ่มนึกถึงการลงเลือกตั้งในนามอิสระมากขึ้น -การเลือกตั้งระดับประเทศ มีความสัมพันธ์กับการเลือกตั้ง กทม. หรือไม่ ก็พยายามทำแบบนั้น แต่คิดว่า กทม. ไม่ควรเป็นการแย่งชิงระหว่างขั้วอำนาจ เพราะ กทม. เป็นเมืองหลวงของประเทศ เป็นเมืองที่มีพลเมืองอาศัยอยู่ประมาณ 10 ล้านคน เราควรร่วมกันทำให้ กทม. เป็นเมืองที่น่าอยู่ น่าเที่ยว จึงไม่อยากให้เป็นพื้นที่แบ่งขั้วอำนาจ เพราะปัญหาแต่ละเรื่องไม่มีขั้วอำนาจ เวลาเกิดปัญหา ทุกคนก็ได้รับปัญหาเหมือนกันหมด ไม่ได้สนใจว่าอยู่พรรคไหน คิดว่า กทม. ควรปลอดจากการเป็นพรรค และเรามาแก้ปัญหาของชีวิตเราจริงๆ เพื่อทำให้เป็นพื้นฐานสำหรับการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีในบ้านหลังนี้ -อยากฝากอะไรถึงคน กทม. บ้าง หากคน กทม. ต้องการเป็น Smart City เราจะต้องเป็น Smart Citizen โดยคำว่า Citizen แปลว่า พลเมือง หมายความว่า เป็นกำลังของเมือง ซึ่งกำลังของเมืองมาจากประชาชน ที่จะมาร่วมกันแก้ปัญหา แม้ว่าจะไม่สามารถแก้ได้ทั้งหมด แต่จะสามารถบรรเทาปัญหาลงไปได้ค่อนข้างมาก และยิ่งนำสติปัญญามาร่วมกัน คิดว่าปัญหาหลายอย่างไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่เราจะแก้ปัญหาได้