ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต “ความหมายของชีวิตถือเป็นนัยสำคัญของสัญญาณแห่งการดำรงอยู่ที่ต้องค้นหาความหมายอันเที่ยงแท้ให้พบ มันเป็นแรงส่งแห่งความเข้าใจการเคลื่อนขยายทั้งหลายทั้งปวงของโลกกว้างที่ต้องยอมรับกันว่า มันยังข้องติดอยู่กับความขัดแย้งคนละขั้วระหว่างการความสุขอย่างละโมบ กับการแบ่งแยกฝักฝ่ายแล้วกลับมาดีกัน..อันเป็นดั่งการท้าทายต่อการค้นพบนิยามของชีวิตที่เป็นความเข้าใจอย่างหมดเปลือก...กระทั่งเกิดข้อตระหนักในเชิงสัมผัสได้ว่า ชีวิตที่ดีนั้นจักต้องประกอบสร้างขึ้นด้วยอะไรบ้าง?...” “THE POWER OF MEANING”(อะไรทำให้ชีวิตคนเรามีความหมาย) ผลงานสร้างสรรค์ของ”เอมิลี เอสฟาฮานี สมิธ”(Emily Esfahani Smith)..นักคิดนักเขียนประจำที่..เดอะนิวไคทีเรียน..ผู้.มีความสนใจด้านวัฒนธรรม จิตวิทยา ปรัชญา และประสบการณ์มนุษย์/เกิดที่ซูริค สวิตเซอร์แลนด์ แต่มาเติบโตที่ มอนทรีออล แคนาดา/จบการศึกษา ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาเชิงบวก/ปัจจุบันเป็น อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย และเป็นบรรณาธิการของสถาบันฮูเวอร์แห่งมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด นี่คือหนังสือที่สามารถให้คำจำกัดความได้ว่า..มันคือหนังสือที่สามารถทำให้เราก้าวพ้นตัวตน ด้วยประสบการณ์ของผู้เขียนที่ใฝ่หาการเรียนรู้ที่หยั่งลึกของผู้คนในแง่มุมทั้งที่เป็นส่วนของความลึกล้ำและที่เป็นส่วนของความงดงามระคนกัน..การใช้ชีวิตทำงานในลักษณะนี้ ทำให้”เอมิลี”สามารถเกิดองค์ความรู้และความเข้าใจเชิงลึกเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับวัฒนธรรมแห่งความหมาย การสนับสนุน ความกระตือรือร้น รวมถึงความสนุกสนานในหลากหลายบริบท...สาระสำคัญที่ติดตรึงใจผู้อ่านของหนังสือเล่มจึงขึ้นอยู่กับ ภาวะแห่งการแสวงหาสิ่ง สิ่งหนึ่งซึ่งสำคัญกว่าความสุข โดย”เอมิลี”ในฐานะผู้เขียนได้เผยให้เห็นและตั้งคำถามว่า..ทำไมความหมายจึงขาดหายไปจากชีวิตของเรา?.. และเราจะสามารถค้นพบมันได้อย่างไร?/มันคืองานเขียนเชิงจิตวิญญาณที่สืบค้นถึงต้นรากทางความคิดได้อย่างสดใหม่กลมกลืนและงดงาม เชื่อมโยงกับหลักฐานเชิงประจักษ์ ที่นำไปสู่การก่อเกิดแรงบันดาลใจที่ทั้งอบอุ่นและมีค่ายิ่ง “อันที่จริงข้อมูลจากการวิจัยที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ได้บอกกับเราว่าการใช้ชีวิตอย่างมีความหมายสามารถป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้มากมาย...ตัวอย่างเช่น การมีความหมายในชีวิตมักสัมพันธ์กับการมีอายุยืน และ มีระบบภูมิคุ้มกันโรคที่ดีกว่า ...โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “จุดมุ่งหมายนั้น”สามารถเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างกว้างขวาง มันช่วยลดโอกาสที่จะเกิดความผิดปกติทางการรับรู้หรืออาการขี้หลงขี้ลืม โรคสมองเสื่อม และภาวะสมองขาดเลือดได้...และสำหรับผู้มีสุขภาพที่วิกฤตด้วยโรคหัวใจ การมีจุดมุ่งหมายในชีวิต มักมีโอกาสเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย” นัยแห่งความเป็นไปของชีวิตกับบริบทสำคัญทางความหมายจึงก่อเกิดสถานการณ์สำคัญแห่งปริศนาขึ้นมาเพื่อให้เราได้ไตร่ตรองและสืบค้นหาคำตอบกัน/...”เอมิลี”ได้แสวงหาคำตอบจากบทเริ่มต้นแห่งปริศนาคาใจที่ว่า...ทำไม”ความหมาย”กับ”สุขภาพ”ถึงได้สัมพันธ์กันอย่างมากมาย...”เอมิลี”ได้อ้างถึงความคิดโดยรวมของนักจิตวิทยาที่คาดว่า..คนที่ใช้ชีวิตอย่างมีความหมายอาจดูแลสุขภาพตนเองดีกว่า ขณะที่ได้มีงานวิจัยบางชิ้นระบุว่า...พวกเขามีแนวโน้มที่จะสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอลล์ที่น้อยกว่า และดูแลเรื่องอาหารการกินดีกว่า ออกกำลังกายมากกว่า มีนิสัยการนอนที่ดีกว่า และยังมีแนวโน้มว่าจะใช้บริการด้านการป้องกันดูแลสุขภาพที่มากกว่าด้วย...ดังคำพูดของ”ไมเคิล สตีเกอร์” นักจิตวิทยาทางด้านความหมายที่ได้เคยกล่าวเอาไว้ว่า..”ถ้าคุณลงทุนกับชีวิต...คุณก็ลงทุนกับสุขภาพไปในตัว” “เอมิลี”..ได้ยืนยันไว้อย่างแจ้งชัดถึงที่มาที่ไปแห่งการเขียนหนังสือเล่มนี้..โดยระบุว่า...ระหว่างที่เธอทำวิจัยเพื่อเขียนหนังสือเล่มนี้นั้น..แก่นเรื่อง(theme)สี่ประเภทได้ปรากฏขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าระหว่างการพูดคุยกับบุคคลต่างๆทั้งผู้ที่ใช้ชีวิตอย่างมีความหมายและผู้ที่ยังแสวงหาความหมาย แก่นเหล่านี้ยังปรากฎในคำนิยาม”ชีวิตที่มีความหมาย”ของทั้งอริสโตเติลและนักจิตวิทยาอีกหลายๆท่าน ซึ่งได้กล่าวไว้ในรูปแบบว่า..ความหมายเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ของเรากับผู้อื่น การมีพันธกิจสักอย่างที่เอื้อประโยชน์แก่สังคม การทำความเข้าใจประสบการณ์ของเราและเข้าใจว่าตัวเราเป็นใคร ผ่านการบอกเล่าเรื่องราวและเชื่อมโยงกับบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเอง... “ฉันยังได้พบแก่นเหล่านั้นในการวิจัยด้านสังคมศาสตร์แนวใหม่เกี่ยวกับชีวิตที่มีความหมาย และเรื่องที่ว่าเราจะเข้าถึงความหมายนั้นได้อย่างไร และฉันยังพบในผลงานด้านต่างๆไม่ว่าจะเป็นปรัชญา วรรณกรรม ศาสนา และวัฒนธรรมนิยม ทั้งในหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนา ในคตินิยมข้ามพ้นตัวตนแบบอเมริกัน และในนวนิยายและภาพยนตร์” ทั้งนี้..แก่นหลัก(pillars)ของความหมายนั้นอาจแบ่งออกเป็นสี่ประเภทได้แก่ ความรู้สึกผูกพันเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน(belonging)/จุดมุ่งหมาย(purpose)/ การเล่าเรื่อง(storytelling)/และการข้ามพ้นตัวตน(transcendence)...นั่นจึงหมายความว่าทัศนะต่อนิยามของความหมายนั้นจึงเกิดขึ้นจากมุมมองและประสบการณ์การรับรู้ในต่างมิติ...อย่างเช่นสำหรับคนไข้ความหมายอาจมาจากการรักคนอื่นและเกิดความรู้สึกเชื่อมโยงกับคนเหล่านั้นด้วยความเมตตาและเห็นอกเห็นใจ/บางคนอาจมีข้อตระหนักว่า..การใช้ชีวิตที่มีความหมายและการทำสิ่งดีงามบางอย่างเพื่อคนอื่นๆ ย่อมจักทำให้ทั้งเราและเขาต่างมีชีวิตที่ดีขึ้น/..หรือบางคนที่มีโอกาสได้พบกับนิยามของความหมายต่างๆด้วยการเข้าใจชีวิต โดยเฉพาะเมื่อได้มีการสูญเสีย หรือ เมื่อมีการสละตัวตนให้แก่บางที่ทาง หรือให้แก่บางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเอง...ไม่ว่าจะเป็นความจริงทางจิตวิญญาณ หรือความลี้ลับในโลกนี้ที่จับต้องได้ก็ตาม... “เอมิลี”ได้เน้นย้ำว่า...แก่นต่างๆเหล่านี้เป็นองค์ประกอบหลักของระบบความเชื่อทางศาสนาและจิตวิญญาณ อีกทั้งยังเป็นเหตุผลที่แสดงถึงว่าทำไมขนบความเชื่อเหล่านั้นจึงเคยหรือยังคงให้ความหมายแก่ชีวิตของผู้คนมาตลอดช่วงประวัติศาสตร์/รวมทั้งมันยังได้ให้ที่ทางแก่ปัจเจกบุคคลแต่ละคนภายในชุมชนหนึ่งๆ มันช่วยให้พวกเขามีจุดมุ่งหมายที่จะบรรลุ อย่างเช่นการขึ้นสวรรค์ การใกล้ชิดกับพระเจ้ามากขึ้น หรือการได้ช่วยเหลือรับใช้คนอื่นๆ...ที่สุดมันยังช่วยอธิบายว่า ทำไมโลกจึงเป็นอย่างที่เป็น และทำไมทุกคนจึงได้เป็นคนอย่างที่เป็นอยู่...นี่เองคือคำอธิบายถึงนัยสำคัญที่ว่า...ทำไมชีวิตของพวกเราแต่ละคนจึงมีความหมาย...ความงามของแก่นแท้เหล่านี้คือทุกๆคน จักเข้าถึงมันได้ทั้งผู้ที่มีหรือไม่มีศาสนา/ใครก็สร้างมันขึ้นได้ในชีวิตของตัวเอง..มันคือแหล่งกำเนิดหรือที่มาของความหมาย...ซึ่งอยู่ในทุกด้านของการดำรงอยู่ของเรา รากฐานแห่งชีวิตของ”เอมิลี”ผู้เขียนชีวิตให้แก่หนังสือเล่มนี้คือการเติบโตและมีชีวิตอยู่ในวิถีสังคมแห่งความเป็นเลือดเนื้อของ”ชาวซูฟี” ...ผู้เป็นอิสลามแนวรหัสนัย..อันหมายถึงความเร้นลับ...พวกเขายังชื่นชอบการขับลำนำกวีเกี่ยวกับนักบุญและนักปราชญ์ซูฟีในยุคกลาง ดังเช่นบทกวีของ..”รูมี”..ที่ว่า..”นับแต่ข้าถูกบังคับให้ย้ายจากมาตุภูมิแห่งต้นอ้อ ทุกเสียงสูงต่ำที่ข้ากระซิบ จะทำให้ดวงใจแทบทุกดวงร่ำไห้..หรืออย่างบทกวีของ”อัตตาร์”ชื่อ”นับตั้งแต่ความรัก”..ท่านได้เขียนถึงผู้แสวงหาเอาไว้อย่างกระทบใจว่า..”ได้พูดในดวงวิญญาณท่าน,จงละทิ้งอัตตา,วังน้ำวนที่ทำลายชีวิตเรา”/..นอกจากนั้นพวกเขายังชื่นชอบการนั่งด้วยกันท่ามกลางความเงียบ และรำลึกถึงพระผู้เป็นเจ้าผ่านการใคร่ครวญ... “อะไรที่ทำให้ชีวิตของคนเรามีความหมายกันแน่?”...นั่นคือหัวใจแห่งสาระของหนังสือเล่มนี้ที่”เอมิลี”ได้เอาจริงเอาจังต่อการศึกษาและค้นคว้าข้อมูลในเชิงลึก...ผ่านชีวิตของนักคิดนักเขียนผู้ดังก้องโลกมากมาย นัยที่เธอค้นพบทั้งหมดคือแก่นสารที่ทรงพลังของหนังสือเล่มนี้ที่มีค่าต่อการแสวงหาความหมายอันอเนกอนันต์.. “ชีวิตผมมีความหมายใดบ้างไหม ที่จะไม่ถูกทำลายขณะที่เข้าใกล้ความตายอย่างเลี่ยงไม่พ้น” นั่นคือตัวอย่างคำถามถึงความหมายแห่งชีวิตจากนักเขียนชื่อก้องโลกชาวรัสเซีย”ลีโอ ตอลสตอย” ผู้ซึ่งต่อมาความคิดโดยรวมของเขาได้กลายเป็นหมุดหมายสำคัญอย่างหนึ่งของโลก ..ซึ่งไม่ใช่แค่ผ่านวนิยายของเขาเท่านั้น แต่หลักการต่อต้านคนชั่วโดยใช้กำลัง..ของเขาได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้แก่การรณรงค์ทางการเมืองของมหาตมะ คานธี ในอินเดีย ซึ่งส่งผลต่อการจุดประกายความคิดแก่ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนของ”มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์” ในเวลาต่อมาอีกด้วย...นั่นคือการก่อเกิดภาวะแห่งศรัทธาขึ้นมาเป็นความหมายแห่งการเรียนรู้และจดจำ.. “ทุกคำตอบจากศรัทธานั้น ล้วนมอบความหมายอันไม่มีที่สิ้นสุดแก่การดำรงอยู่อันมีข้อจำกัดของมนุษย์ เป็นความหมายที่ไม่อาจถูกทำลายโดยความทุกข์ การยื้อแย่งถอดถอน และความตาย” เมื่อความหมายได้ขาดหายไปจากชีวิตที่แท้ของเรา ณ ปัจจุบัน ชีวิตที่ขาดความลุ่มลึก ชีวิตที่ขาดรากลึกของความสุข ชีวิตที่ขาดความเฉลียวฉลาดในการใช้ปัญญา และชีวิตที่เต็มไปด้วยความจริงลวงที่คอยแต่กรอกหูกรอกตาเรา.../การได้สัมผัสหนังสือเล่มนี้และคว้านลึกลงไปสู่แก่นสารรายละเอียดของการสืบค้น...มันย่อมคือห้วงยามสำคัญและเนื้องานอันหนักแน่นบริสุทธิ์ที่จักสามารถเปลี่ยนแปลงประสบการณ์แห่งชีวิต ...ให้กลายเป็นแหล่งกำเนิดทางปัญญาญาณที่มีความหมายโดยสมบูรณ์ได้ในที่สุด “อรวรรณ คูหเจริญ นาวายุทธ”..แปลรายละเอียดของหนังสือเล่มนี้ออกมา ได้อย่างน่ายกย่อง มันคือความหมายของการทำงานสู่หัวใจของการแสวงหาอันสมบูรณ์//เช่นเดียวความมุ่งหวังของผู้เขียน “เอมิลี เฮสฟานี สมิธ”...ซึ่งที่สุดหนังสือของเธอก็ได้บอกกับโลกทั้งโลกและคนทุกคนผ่านความสำคัญของนัยชีวิตว่า.. “คนที่มีจุดมุ่งหมาย ย่อมเชื่อว่าชีวิตของตนมีความหมาย และพึงพอใจในชีวิตมากกว่า...”