ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย สงครามสารสนเทศหรือเรียกอีกอย่างว่าการปฏิบัติการสารสนเทศ (IO) เป็นคำที่ใช้เพื่อกำหนดแนวคิดของสงครามในศตวรรษที่ 21 ซึ่งต้องใช้องค์ประกอบของระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่ก้าวหน้าทันสมัย นั่นคือระบบ Hardware ควบคู่ไปกับระบบ Software และการบริหารจัดการข้อมูลทั้งที่เป็นความจริงบางส่วน (Half Truth) และข้อมูลเท็จ (Fake News) ในสหรัฐอเมริกาหรือในประเทศที่พัฒนาแล้วหน่วยงานของรัฐ เช่น หน่วยข่าวทางทหาร หน่วยข่าวกระทรวงกลาโหมและแม้แต่หน่วยข่าวของกระทรวงการต่างประเทศ หรือหน่วยข่าวของสถาบันความมั่นคงทั้งหลาย ต่างก็ให้ความสำคัญกับหน่วยงานนี้ เพราะมันเป็นยุคดิจิตอล และการปฏิบัติการทางสารสนเทศถือเป็นเครื่องมือในการทำลายล้างศัตรู หรือคู่แข่งทางการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ แน่นอนเรื่องแบบนี้มีการดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่สื่อที่ใช้ก็เป็นเพียงเครื่องมือสื่อสารแบบพื้นๆคือวิทยุ และเรียกปฏิบัตินั้นๆว่าปฏิบัติการทางจิตวิทยา แต่ในยุคดิจิตอลที่เทคโนโลยีเจริญก้าวรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ปฏิบัติการนี้ก็ขยายตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้นในโลกไร้พรมแดน ที่น่าเศร้าก็คือคำจำกัดความของการปฏิบัติการสารสนเทศแทนที่จะใช้เป้าหมายคือศัตรูหรือคู่แข่งของชาติ แต่หลายๆรัฐบาลกลับนำเอาปฏิบัติการนี้มาใช้กับประชาชนของตนเอง ประดุจว่าประชาชนของตนเอง คือศัตรูของชาติ และมักจะอ้างในนาม “ความมั่นคง” ซึ่งก็มีความปนเประหว่าง “ความมั่นคงของรัฐบาล” กับ “ความมั่นคงของรัฐ” ทำให้ประชาชนงมงายหลงเชื่อข้อมูลเท็จ หรือการบิดเบือนข่าวจากรัฐ ในขณะที่ข้อมูลจากอิสรชนที่จะเปิดเผยความจริงก็มักจะถูกรัฐบาลของตนเองกำกับดูแลอย่างเข้มงวดหรือปราบปราม ในนาม “ความมั่นคงของรัฐบาล” แต่อ้างลอยๆว่า “ความมั่นคง” ในการทำปฏิบัติการสารสนเทศระหว่างประเทศนั้นแน่นอนทั้งสองค่ายต่างก็พยายามใช้ศักยภาพของตนเพื่อสร้างความได้เปรียบในทางการเมืองระหว่างประเทศ แต่เขาใช้หน่วยงานของรัฐดำเนินการ อย่างไรก็ตามเมื่อไม่นานมานี้ การปฏิบัติการสารสนเทศเริ่มขยายวงไปสู่ภาคธุรกิจเอกชนในโลกของทุนนิยม ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ สื่อสังคมออนไลน์ยักษ์ใหญ่ที่มีฐานอยู่ในสหรัฐอเมริกาได้มีการเคลื่อนไหวในการปิดปากสื่อสังคมที่วิพากษ์วิจารณ์การประท้วงต่อรัฐบาลจีนในฮ่องกง และยังปิดกั้นสมาชิก จำนวนหลายแสนคนที่มีพฤติกรรมดังกล่าว รวมทั้งเพจหลายอันที่ถูกระงับด้วยข้ออ้างว่า ต้องการที่จะระงับการเสนอข่าวที่ไม่ถูกต้อง หรือการหว่านพืชของความขัดแย้ง ในขณะที่สื่อสังคมออนไลน์ยักษ์ใหญ่เหล่านั้นได้หว่านพืชของความขัดแย้งมาอย่างสม่ำเสมอ เฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ และกูเกิล ได้ดำเนินการปิดบัญชีสมาชิกหลายแสนราย ด้วยข้ออ้างที่กูเกิลกล่าวว่าเพื่อยุติการหว่านพืชของความขัดแย้งทางการเมืองในฮ่องกง รวมทั้งไม่นำพาต่อสิทธิและเสรีภาพ กฎหมายระหว่างประเทศ และเจตนารมณ์อันเสรีทางการเมืองของขบวนการที่ก่อการประท้วง ซึ่งก็สอดรับกับทวิตเตอร์ โดยที่สื่อสังคมออกไลน์ยักษ์ใหญ่ทั้ง 3 ต่างก็อ้างอิงกันและกัน และด้วยเหตุผลที่อ้างสอดรับกัน ยักษ์ใหญ่ทั้ง 3 อ้างเหตุผลที่สอดรับกันคือ ต้องการกำจัดการกระทำที่ไม่น่าไว้วางใจและผสานความร่วมมือกันระหว่างกลุ่มคนดังกล่าว ต่อข้ออ้างนี้นักวิชาการ หรือ ผู้อยู่ในวงการเว็บให้ความเห็นว่ามันคืออะไรก็ได้ที่ 3 บริษัทยักษ์ใหญ่นี้ต้องการให้เป็น ซึ่งไร้ความหมายโดยสิ้นเชิงสำหรับคนทั่วไป ด้วยแนวทางนี้จึงเห็นได้ว่าทั้งสามบริษัทยักษ์ใหญ่ทางสื่อสังคมออนไลน์กำลังเอียงเข้าหากระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เพื่อผลตอบแทนอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง แต่มันขัดกับหลักนิยมของแนวคิดแบบเสรีนิยมที่ใช้กันอยู่ในตะวันตก ที่สำคัญบริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทมหาชนที่มีหุ้นอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งต้องรักษาประโยชน์ของผู้ที่ถือหุ้นและนโยบายของบริษัทที่จะเปิดเสรีทางความคิดและการสื่อสาร แต่กลับกลายเป็นว่าเป้าหมายที่ทั้งเฟสบุ๊ค กูเกิล และทวิตเตอร์ ให้การสนับสนุนคือการโจมตีอิหร่าน รัสเซีย จีน และเวเนซูเอลลา และหากใครที่มีความโน้มเอียงไปในทางส่งเสริม สนับสนุน หรือเปิดเผยความจริงในอีกด้าน บัญชีเหล่านั้นก็จะถูกยกเลิกไป ตัวอย่างที่ชัดเจน เช่น ทวิตเตอร์ได้ถอนเพจ “Venezuel Analysis และต่อมา Telesur English แต่หลังจากโดนประท้วงอย่างรุนแรงจากสมาชิกจำนวนมาก ก็ต้องนำกลับเข้ามาใหม่ ความจริงเหล่านี้จึงเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ที่เราเคยเชื่อกันว่าสื่อคือฐานันดรที่ 4 ที่มีอิสระและเที่ยงตรงนั้นแท้จริงเป็นเพียงภาพลวงตา ยิ่งในยุคปัจจุบันไอที-อิสระนั้นกลับกลายเป็นเครื่องมือในการทำสงครามสารสนเทศอย่างแท้จริง นี่ยังไม่นับรวมสิ่งที่กูเกิล เฟสบุ๊ค และทวิตเตอร์เข้ามามีบทบาทในการสร้างอิทธิพลต่อการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกตั้ง ตลอดจนการนำเอาข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็นความลับมาหาประโยชน์ในทางการค้าและขายให้หน่วยงานบางแห่ง เช่น Cambridge Analytica นำมาใช้ในการวิเคราะห์ วางแผน ผลิตซ้ำทางความคิด เพื่อก่อให้เกิดผลต่อการตัดสินใจของประชาชน อย่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯที่ผ่านมา ทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์ได้รับเลือกตั้งอย่างเกินความคาดหมาย หรือการที่อังกฤษตัดสินใจถอนตัวจากสหภาพยุโรปที่เรียกว่า Brexit ก็เกิดจากฝีมือหน่วยงานเดียวกันนี้ สำหรับประเทศไทยได้ทราบมาว่ามีพรรคการเมืองพรรคหนึ่งก็จ้างหน่วยงานแบบเดียวกันนี้ดำเนินการจนได้ส.ส.จำนวนมากเกินความคาดหมาย ที่สำคัญขณะนี้หน่วยงานของรัฐบาล รวมทั้งกองทัพกำลังเตรียมการจัดตั้งหน่วยงานมาจัดการกับ Fake News ข่าวเท็จที่ก่อให้เกิดความแตกแยก ซึ่งก็นับว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่อย่าเลือกปฏิบัติจัดการกับฝ่ายตรงข้าม แล้วอ้างความมั่นคงในขณะที่ตัวเองก็เป็นฝ่ายปล่อย Fake News เสียเอง ถ้ามันเป็นอย่างนั้นจริงเราก็คงมีผู้นำที่ยึดแนวคิดของมาคิอาเวลลี คือ “ต้องเป็นจิ้งจอกในหนังราชสีห์”