จากเหตุเศร้าการเสียชีวิตของดาราดัง เหม-ภูมิภาฑิต นิตยารส ว่าด้วยสาเหตุจากโรคซึมเศร้า
ขณะที่สถิติฆ่าตัวตายในประเทศไทย ปี 62 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขระบุ อยู่ที่เฉลี่ย 14.4 คนต่อคนไทย 1 แสนคน โดยมากเป็นอันดับที่ 32 ของโลก ส่วนใหญ่มักจะอยู่ในวัยเฉลี่ย 45 ปี โดยที่ประมาณ 80% เป็นเพศชาย และหนึ่งในหลายปัจจัยฆ่าตัวตาย คือโรคซึมเศร้า 7.8%
นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ได้ให้ความรู้โรคซึมเศร้าว่า โรคซึมเศร้าเป็นการเจ็บป่วยทางจิตใจ ทำให้รู้สึกไม่มีความสุข ซึมเศร้า จิตใจหม่นหมอง หมดความกระตือรือร้น เบื่อหน่าย แยกตัวเอง ชอบอยู่เงียบๆ คนเดียว ท้อแท้ บางครั้งรู้สึก สิ้นหวัง มองชีวิตไม่มีคุณค่า เป็นภาระต่อคนอื่น ถ้ามีอาการมากจะมีความรู้สึกเบื่อชีวิต คิดอยากตายหรือคิดฆ่าตัวตาย
ทั้งนี้ สาเหตุของโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุมักเกิดจาก โรคทางกาย เช่น การเจ็บป่วยเรื้อรังจากโรคประจำตัว ทำให้ใช้ชีวิตไม่ได้ตามปกติและยากลำบากขึ้น จากยา เช่น ยารักษาโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจบางชนิด ยารักษามะเร็งบางชนิด ยารักษาโรคพาร์กินสันบางชนิด นอกจากนี้ ยังพบสาเหตุทางจิตใจและสังคม ได้แก่ สูญเสียบุคคลผู้เป็นที่รัก ไม่มีงานไม่มีรายได้ สูญเสียตำแหน่งหน้าที่การงาน ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมเหมือนเช่นเดิม เป็นต้น
นพ.สกานต์ บุนนาค ผอ.สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้สูงอายุมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าได้ค่อนข้างสูงกว่าวัยอื่น นอกจากอาการด้านจิตใจคือ ซึมเศร้า ไม่อยากทำอะไร ไม่ใส่ใจตนเอง รู้สึกตนเองไร้ค่า แล้วอาจมาด้วยอาการทางกาย ดังนี้ 1. นอนไม่หลับ หรือหลับมากกว่าปกติ 2. มีอาการปวดตามที่ต่างๆหลายๆ ที่พร้อมกัน เช่น ปวดหัว ปวดหลัง ปวดท้อง หรือ ไม่สบายตามร่างกาย 3. อ่อนเพลียรู้สึกไม่มีแรง 4. มีอาการทางระบบทางเดินอาหารเช่น เบื่ออาหาร ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับถ่ายอุจจาระกระปริดกระปรอย แต่เมื่อไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพกลับไม่พบความผิดปกติใดๆ
สำหรับวิธีรักษาโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ได้แก่ รักษาด้วยยา ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ขึ้นไป จึงจะเห็นผล ไม่ควรซื้อยากินเองแต่ควรปรึกษาแพทย์ เพราะยาแก้โรคซึมเศร้าอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่อันตรายหากใช้ ไม่ถูกวิธี ทำจิตบำบัดแบบประคับประคองด้านจิตใจ พฤติกรรมบำบัด เพื่อแก้ไขความคิดในด้านลบ การรักษาทาง ด้านจิตใจ เช่น ให้คำปรึกษา และรักษาด้วยไฟฟ้าในผู้ป่วยเฉพาะรายที่อาการหนักไม่ตอบสนองต่อวิธีการรักษาอื่นๆ
นอกจากนี้ ลูกหลานที่ดูแลผู้สูงอายุควรเข้าใจภาวะโรคซึมเศร้าก่อน ยินดีรับฟังเรื่องราวที่ผู้สูงอายุเล่าให้ฟัง มีความอดทนในการดูแลอย่างเพียงพอ เพราะผู้สูงอายุบางรายอาจมีลักษณะอารมณ์กลับมาเป็นเด็กหรืออาจหงุดหงิด จึงควรพูดคุยด้วยท่าทีที่อ่อนโยน รู้จักควบคุมอารมณ์ตัวเอง ทั้งนี้ สามารถเข้ารับการปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญได้