สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page ได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุ “ดาวเทียมเทสส์พบเบาะแส? นำไปสู่การค้นพบดาวเคราะห์ที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิต #ดาวเทียมเทสส์ (Transiting Exoplanet Survey Satellite: TESS) ของนาซา พบ #ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ที่เป็นเบาะแสนำไปสู่ดาวเคราะห์ดวงอื่นที่โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงเดียวกัน และหนึ่งในนั้น อยู่ในเขตเอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต (habitable zone) ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะนี้ มีชื่อว่า GJ 357 b กำลังโคจรรอบดาวฤกษ์ที่ชื่อว่า GJ 357 เป็นดาวฤกษ์ประเภท M มีขนาดและมวลประมาณ 1 ใน 3 ของดวงอาทิตย์ เย็นกว่าประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ห่างจากโลกประมาณ 31 ปีแสง ในกลุ่มดาวไฮดรา ดาวเทียมเทสส์ พบว่าความเปลี่ยนแปลงของแสงจากดาวฤกษ์ดวงนี้ลดน้อยลงทุกๆ 3.9 วัน เนื่องจากดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะโคจรผ่านหน้าดาวฤกษ์แม่ GJ 357 b เป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะขนาดใหญ่กว่าโลกประมาณ 1.22 เท่า อยู่ใกล้ดาวฤกษ์แม่มากกว่าดาวพุธอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ 11 เท่า อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 254 องศาเซลเซียส ทำให้นักดาราศาสตร์เรียกดาวเคราะห์ดวงนี้ว่าเป็น “ฮอตเอิร์ธ (Hot Earth)” คือดาวเคราะห์ที่มีลักษณะคล้ายกับโลกแต่มีอุณหภูมิสูงกว่า แม้ไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ แต่ก็เป็นดาวเคราะห์หินที่สามารถศึกษาและวัดองค์ประกอบของบรรยากาศได้ ขณะที่นักวิจัยกำลังหาข้อมูลเพื่อยืนยันการมีอยู่ของฮอตเอิร์ธดวงนี้ พวกเขาค้นพบดาวเคราะห์อีกสองดวง คือ GJ 357 c และ GJ 357 d ด้วยวิธีการวัดความเร็วในแนวเล็ง GJ 357 c เป็นดาวเคราะห์ขนาดกลาง มีมวลมากกว่าโลก 3.4 เท่า ใช้เวลาโคจรรอบดาวฤกษ์ 9.1 วัน มีอุณหภูมิเฉลี่ย 127 องศาเซลเซียส ดาวเทียมเทสส์ ไม่สามารถตรวจจับดาวดวงนี้ได้โดยตรง คาดว่าวงโคจรของดาวเคราะห์ดวงนี้เอียงเล็กน้อย อาจจะน้อยกว่า 1 องศา เมื่อเทียบกับวงโคจรของ GJ 357 b จึงทำให้มันไม่เคยผ่านหน้าดาวฤกษ์แม่ในมุมมองของเรา สำหรับ GJ 357 d ถือเป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่น่าสนใจที่สุด เพราะอยู่บริเวณขอบด้านไกลของเขตเอื้อต่อการมีสิ่งมีชีวิต ได้รับปริมาณพลังงานจากดาวฤกษ์เท่ากับที่ดาวอังคารได้รับจากดวงอาทิตย์ เมื่อเทียบกับระบบสุริยะแล้ว ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงนี้อยู่ห่างจากดาวฤกษ์แม่เพียง 20 เปอร์เซ็นต์ ของระยะทางจากดวงอาทิตย์ถึงโลก โคจรรอบดาวฤกษ์แม่ใช้เวลา 55.7 วัน มีมวลมากกว่าโลก 6.1 เท่า และมีขนาดใหญ่กว่าโลก 1-2 เท่า ไดอาน่า คอสสาคาวสกี (Diana Kossakowski) หนึ่งในทีมร่วมวิจัย จากสถาบันดาราศาสตร์แม็กซ์พลังค์ กล่าวว่า “ถ้าดาวเคราะห์ดวงนี้มีชั้นบรรยากาศที่หนาแน่น ในอนาคตเราจะศึกษาและตรวจสอบว่า มันสามารถเก็บความร้อนได้มากพอที่จะทำให้ดาวอบอุ่นและมีน้ำอยู่บนพื้นผิวได้หรือไม่” หาก GJ 357 d ไม่มีชั้นบรรยากาศ บนดาวจะมีอุณหภูมิ -53 องศาเซลเซียส จะทำให้ดาวเคราะห์ดวงนี้เย็นเกินกว่าที่จะอาศัยอยู่ได้ ราฟาเอล ลูเก (Rafael Luque)นักศึกษาปริญญาเอกจากสถาบันฟิสิกส์ดาราศาสตร์แห่งหมู่เกาะคานารี (IAC) กล่าวว่า “ดาวเคราะห์เหล่านี้ซ่อนตัวอยู่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ดาวเทียมเทสส์ ช่วยให้เราค้นพบพวกมันได้ และคาดว่าจะค้นพบดาวที่น่าสนใจอีกมากในอนาคต” เรียบเรียง : พัชริดา ยั่งยืนเจริญสุข  เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ - สดร. อ้างอิง : https://www.nasa.gov/…/confirmation-of-toasty-tess-planet-l…” ขอบคุณเรื่อง-ภาพ จากเพจสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page