กรมการค้าต่างประเทศ เผยการค้าชายแดน-ผ่านแดน 8 เดือนปี 62 มีมูลค่า 915,517.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.07% มาเลเซียนำโด่งเป็นคู่ค้าชายแดนอันดับหนึ่งของไทย ขณะที่การค้าผ่านแดนจีนตอนใต้ครองแชมป์ นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า มูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทย 8 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 915,517.39 ล้านบาท ขยายตัว 0.07% เป็นการส่งออก 509,045.79 ล้านบาท ลดลง 1.65% และการนำเข้า 406,471.60 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.31% เกินดุลการค้า 102,574.19 ล้านบาท โดยแยกเป็นการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ มูลค่า 729,869.62 ล้านบาท ลดลง 1.16% เป็นการส่งออก 409,664.97 ล้านบาท ลดลง 5.11% นำเข้า 320,204.65 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.39% เกินดุลการค้า 89,460.31 ล้านบาท และการค้าผ่านแดนกับ 3 ประเทศ มูลค่า 185,647.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.24% เป็นการส่งออก 99,380.83 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.76% นำเข้า 86,266.95 ล้านบาท ลดลง 4.74% เกินดุลการค้า 13,113.88 ล้านบาท ทั้งนี้ ในด้านการค้าชายแดน มาเลเซียยังคงเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย มีมูลค่า 357,829.02 ล้านบาท ลดลง 4.78% เป็นการส่งออก 170,368.69 ล้านบาท ลดลง 12.84% นำเข้า 187,460.33 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.96% รองลงมา คือ เมียนมา มูลค่า 133,865.78 ล้านบาท สปป.ลาว มูลค่า 131,812.67 ล้านบาท และกัมพูชา มูลค่า 106,362.16 ล้านบาท ขณะที่การค้าผ่านแดน จีนตอนใต้มีมูลค่าสูงสุด มูลค่า 88,655.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.83% เป็นการส่งออก 40,014.48 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 71.49% นำเข้า 48,640.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.67% รองลงมา คือ เวียดนาม มูลค่า 48,970.66 ล้านบาท และสิงคโปร์ มูลค่า 48,021.80 ล้านบาท ส่วนสถานการณ์การค้าชายแดนและผ่านแดนยังคงมีการขยายตัวแบบชะลอตัว เพราะได้รับผลกระทบจากปัญหาของเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ - จีนที่ยังคงยืดเยื้อ จนเกิดความไม่มีเสถียรภาพของค่าเงินของแต่ละประเทศ รวมถึงไทยและประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค และหากพิจารณาเป็นรายประเทศ พบว่า การค้าด้านมาเลเซีย การส่งออกยังคงหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง อาทิ กลุ่มสินค้ายางพารา/ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ ขณะที่ สปป.ลาว สถานการณ์การค้ายังคงหดตัว โดยเฉพาะกลุ่มน้ำมันดีเซล/น้ำมันสำเร็จรูป รถยนต์ อุปกรณ์ รวมถึงผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า สินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรอื่นๆ ด้านเมียนมา การส่งออกยังคงหดตัว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าน้ำมันสำเร็จรูปอื่นๆ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สำหรับกัมพูชา นับเป็นประเทศที่การค้าขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งออกสูงถึง 18.90% โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ รถยนต์ อุปกรณ์ สินค้าแร่และเชื้อเพลิงอื่นๆ เป็นต้น ด้านการค้าผ่านแดน จีนตอนใต้ มีอัตราขยายตัวสูงถึง 37.83% สินค้าส่งออกที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ผักผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ลำไยแห้ง ด้านเวียดนาม การส่งออกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ลำไยแห้ง อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด ส่วนสิงคโปร์ สถานการณ์การค้ามีภาวะหดตัว อาทิ กลุ่มสินค้าเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ เครื่องตัดต่อและป้องกันวงจรไฟฟ้า อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและผลักดันการค้าชายแดนและผ่านแดน โดยล่าสุดในการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาการเปิด-ระงับหรือปิดจุดผ่านแดนประเภทต่างๆ ครั้งที่ 2 /2562 ของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติได้เห็นชอบให้เปิดจุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วและบรรเทาปัญหาจราจรติดขัดบริเวณด่านสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 1 ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งดำเนินการให้พร้อมก่อนประกาศเปิดด่านอย่างเป็นทางการต่อไป นอกจากนี้ได้เห็นชอบทดลองขยายเวลาทำการด่านศุลกากรสะเดา-บูกิตกายูฮิตัม 24 ชั่วโมง เพิ่มอีก 9 เดือน (ตั้งแต่ 17 ก.ย. 62 – 16 มิ.ย. 63 ) ซึ่งจะช่วยให้การค้าชายแดนไทย-เมียนมา และไทย-มาเลเซีย ขยายตัวได้เพิ่มขึ้น สำหรับผลการจัดกิจกรรมกระตุ้นการค้าชายแดนในช่วงที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 12-15 ก.ย ที่ผ่านมา กรมฯ ได้จัดงานมหกรรมการค้าชายแดน และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ มุกดาหาร-สะหวันนะเขต สานสัมพันธ์การค้า เชื่อมโยงสองฝั่งโขง ณ จังหวัดมุกดาหาร เพื่อส่งเสริมและผลักดันการค้าการลงทุนชายแดนไทย-สปป.ลาว โดยในช่วงการจัดงาน มีการลงนาม MOU ระหว่างผู้ประกอบการ YEN-D ไทยกับ สปป.ลาว 5 คู่ มูลค่าซื้อขายกว่า 323 ล้านบาท ในวันที่ 13-15 ก.ย 2562 ได้นำกลุ่มผู้ประกอบการ YEN-D รุ่นไทย-มาเลเซีย สร้างความสัมพันธ์และเจรจาจับคู่ธุรกิจ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย มีการจับคู่ธุรกิจกว่า 20 คู่ เกิดมูลค่าการค้าทันทีกว่า 100 ล้านบาท และในวันที่ 20-22 ก.ย. 2562 ได้นำกลุ่ม YEN-D รุ่นไทย-อินโดนีเซีย เจรจาจับคู่ธุรกิจ ณ กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย เกิดการจับคู่ธุรกิจ 23 คู่ และมูลค่าการซื้อขายภายใน 3 ปี กว่า 760 ล้านบาท