ประกอบโครงสร้าง 4 เสาพระเมรุมาศเสร็จแล้ว-เปิดแบบโครงสร้าง3มิติพระที่นั่งทรงธรรมรองรับ 3,000 คน-สถาปนิกเผยศาลาลูกขุน4หลังหน้าจั่วทรงภควัม งดงามสื่อในหลวงร.9 ดั่งพระโพธิสัตว์ ความก้าวหน้าการจัดสร้างพระเมรุมาศ และอาคารประกอบสิ่งปลูกสร้างพระเมรุมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 28 ก.พ. นายเจษฎา ชีวะวิชวาลกุล หัวหน้ากลุ่มงานวิศวกรรม สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร กล่าวว่า หลังจากเสร็จสิ้นจัดพิธีบวงสรวงการก่อสร้างและยกเสาเอกพระเมรุมาศ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จากนั้นเจ้าหน้าที่วิศวกรรมได้ดำเนินการประกอบโครงสร้างของเสาทั้ง 4 ต้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้จะเตรียมการสำหรับการวางรากฐานของซ่าง อาคารหอเปลื้อง และดำเนินการปูพื้นเพื่อเตรียมการทำแบบงานด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมด้านต่างๆ ทั้งนี้ ในส่วนของการวางโครงสร้างจะแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนแน่นอน นายเจษฎา กล่าวอีกว่า ส่วนการก่อสร้างพระที่นั่งทรงธรรม มีความก้าวหน้าในการเทฐานราก 80% และตั้งเสา 40% ขณะนี้อยู่ระหว่างการวางรากฐานโครงสร้างและปูพื้น ในส่วนของการจัดทำโครงสร้างนั้นรับทราบจากบริษัทผู้รับจ้างว่าจะแล้วเสร็จในเดือนเมษายนนี้ ล่าสุดได้จัดทำแบบแสดงโครงสร้างเหล็ก 3 มิติพระที่นั่งทรงธรรม ขนาดอาคารกว้าง 45 เมตร ยาว 155 เมตร มีพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด 4,080 ตารางเมตร รองรับคนได้ถึง 3,000 ที่นั่ง ขนาดคอนกรีตฐานราก 384 ลูกบาศก์เมตร โครงสร้างเหล็กรูปพรรณ 811 ตัน ฐานราก 421 ฐาน เสาเหล็กรูปพรรณ 2,755 เมตร คานเหล็กรูปพรรณ 2,394 เมตร รองรับน้ำหนักอยู่ที่ 500 กิโลกรัม/ตารางเมตร ส่วนหลังคาใช้ไม้อัดหรือไม้เทียมประกอบลวดบัว ดาวเพดานหล่อไฟเบอร์กลาสประดับผ้าทองย่นสาบสี หางหงษ์ลวดลายไฟเบอร์กลาสปิดทับด้วยฉลุผ้าทองย่นสาบสี อาคารมีม่านผ้าตาดทองและม่านโปร่งพิมพ์ลาย ด้าน นายธนารักษ์ สอดทรัพย์ สถาปนิกปฏิบัติการ สำนักสถาปัตยกรรม กล่าวความคืบหน้าการก่อสร้างศาลาลูกขุนว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการจัดทำโครงสร้างเสาและคานของศาลาลูกขุน 2 หลังทางฝั่งทิศใต้ไปแล้วกว่า 80% ที่เหลือเป็นงานเก็บหลังคาและโครงสร้างจะแล้วเสร็จเมษายนนี้ สำหรับรูปแบบของศาลาลูกขุน 4 หลัง รวมฝั่งทิศเหนืออีก2 หลัง ขนาดอาคารกว้าง 16 เมตร ยาว 36 เมตร สูง 121 เมตร เป็นอาคารสำหรับรองรับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่สามารถรองรับคนได้ 520 คน โดยการออกแบบศาลาลูกขุนครั้งนี้ มีความพิเศษตรงที่โครงสร้างสามารถรื้อและถอดประกอบใหม่ได้ เป็นระบบน็อคดาวน์ ถือเป็นครั้งแรกของการจัดสร้างศาลาลูกขุนที่ประกอบแล้วสามารถรื้อถอดแล้วนำไปใช้ประโยชน์ได้อีก อาคารจะมีขนาดใหญ่กว่าทุกครั้ง มีงานซ้อนไม้ ประดับดาวเพดานผ้าทองย่นสาบสีสอดแวว “ศาลาลูกขุนทั้ง 4 หลัง จะมีความงดงามด้วยลวดลายสถาปัตยกรรมไทย สถาปนิกออกแบบใช้หน้าจั่วทรงภควัม ที่คล้ายกับเส้นรอบพระพุทธรูปเปรียบได้ดั่งพระโพธิสัตว์ ผู้ประพฤติธรรมมุ่งช่วยเหลือหมู่มวลมนุษย์และสิ่งมีชีวิต เป็นนัยยะแทนในหลวง รัชกาลที่ 9 ส่วนลวดลายอยู่ในระหว่างขยายลายเท่าจริง ซึ่งทางผู้ออกแบบพระเมรุมาศและอาคารปลูกสร้างประกอบให้ยึดหลักผูกลายสัมพันธ์กันทุกหลังเพื่อให้เกิดความงดงาม” นายธนารักษ์ กล่าว