GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ระบุถึง ภัยร้ายในอวกาศที่หลายคนอาจไม่รู้มาก่อน #สาระความรู้จาก Gistda “อวกาศเป็นดินแดนที่น่าหลงใหลและเต็มไปด้วยโอกาสในการสำรวจ แต่เราไม่สามารถเดินทางไปเยือนอวกาศสุ่มสี่สุ่มห้าได้ เพราะที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์พบว่าการอาศัยอยู่ในอวกาศในระยะเวลานานอาจเกิดผลเสียต่อร่างกายได้อย่างคาดไม่ถึง แม้ว่าเราจะอยู่ในสถานที่ปรับความดัน หรือแม้แต่ชุดอวกาศก็ตาม ภัยร้ายในอวกาศที่นักบินอวกาศ และนักท่องอวกาศในอนาคตต้องคำนึงถึงหลักๆแล้วมีดังนี้ 1.รังสีคอสมิก (cosmic rays) ในห้วงอวกาศนั้นเต็มไปด้วยอนุภาคมีประจุไฟฟ้า พลังงานสูงที่เรียกว่า รังสีคอสมิกซึ่งมีที่มาจากนอกระบบสุริยะ แม้นักดาราศาสตร์จะยังไม่มั่นใจว่าแหล่งกำเนิดรังสีคอสมิกคืออะไร แต่งานวิจัยช่วงปี ค.ศ. 2013 ชี้เป้าเป็นครั้งแรกว่าการระเบิดของดาวฤกษ์ที่เรียกว่าซูเปอร์โนวานั้นเป็นหนึ่งในแหล่งกำเนิดหนึ่งของรังสีคอสมิก สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บนโลกนั้นปลอดภัยจากรังสีคอสมิกเพราะโลกมีสนามแม่เหล็กที่ปกป้องพวกเราจากรังสีคอสมิกได้ แต่การเดินทางไปยังดาวเคราะห์ดวงอื่นอย่างดาวอังคารนั้นต้องใช้ระยะเวลานานหลายเดือนนั้นย่อมมีความเสี่ยงจากรังสีคอสมิกที่พุ่งเข้ามาปะทะจนอาจสร้างความเสียหายให้กับดีเอ็นเอและเซลล์ร่างกายได้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซลล์สมองอาจเสียหายอย่างถาวร) 2. ปัญหาทางจิตจากสภาพแวดล้อมในอวกาศ อวกาศนั้นเป็นดินแดนที่กว้างใหญ่ การเดินทางจากโลกไปยังดวงจันทร์ในยุคโครงการอะพอลโลยังต้องใช้เวลา 4-5 วัน แน่นอนว่าในการเดินทางไปยังดาวเคราะห์ที่ไกลออกไปย่อมต้องใช้เวลานานกว่านั้นมาก ปัญหาคือ ยานอวกาศหากไม่มีพื้นที่มากพออาจทำให้ผู้เดินทางเกิดความรู้สึกอึดอัด อีกทั้งการไม่สามารถลงจากยานอวกาศเพื่อแวะเปลี่ยนบรรยากาศยังทำให้เกิดความเครียดสะสมได้ อย่างที่เรารู้กันดีว่า ความเครียดนั้นนอกจากจะส่งผลต่อร่างกายแล้ว ยังส่งผลต่อการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันด้วย หากนักบินอวกาศหรือผู้เดินทางเกิดทะเลาะวิวาทกันในยานอวกาศ มันจะไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เพราะหากเรื่องบานปลายใหญ่โตมันอาจหมายถึงความเป็นความตายของลูกเรือทั้งลำเลยทีเดียว 3.สภาวะไร้แรงโน้มถ่วงส่งผลเสียต่อร่างกาย การอาศัยอยู่ในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงนานๆส่งผลเสียต่อร่างกายได้หลายประการ นักบินอวกาศที่ปฏิบัติภารกิจในสถานีอวกาศนานาชาติเป็นระยะเวลานานจะสูญเสียมวลกระดูกและกล้ามเนื้อฝ่อลง พวกเขาจึงต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อรักษาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ อาการอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง คือ การเห็นภาพไม่ชัดซึ่งเกิดจากน้ำหล่อเลี้ยงไขสันหลัง (spinal fluid) มีปริมาตรเพิ่มขึ้นจนไปกดเส้นประสาทตาและลูกตา นอกจากนี้ นักบินอวกาศในสถานีอวกาศนานาชาติกว่าครึ่งเกิดอาการปวดหลังเนื่องจากกล้ามเนื้อกระดูกสันหลัง (spinal muscles) เกิดการหดตัว ปัจจุบัน ปัญหาที่เกิดกับร่างกายเหล่านี้ยังไม่มีทางแก้ที่ชัดเจน แต่ในอนาคต การสร้างสถานีอวกาศที่หมุนเหวี่ยงจนเกิดแรงโน้มถ่วงเทียมได้อาจเป็นทางออกที่ดีที่สุด ยังมีปัญหาอื่นๆอีกหลายประการที่ไม่ได้กล่าวถึงในที่นี้ ทั้งในแง่การถนอมอาหาร ยารักษาโรค อุบัติเหตุในอวกาศ เศษอุกกาบาตจิ๋วที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง ฯลฯ และบางทีอาจมีอีกหลายปัญหาที่ซ่อนตัวจากการรับรู้ของพวกเรา ปัญหาเหล่านี้อาจทำให้หลายคนรู้สึกว่าหนทางสู่การท่องอวกาศดูห่างไกล แต่อันที่จริงแล้ว การล่วงรู้ถึงปัญหาเหล่านี้นับเป็นข้อดี เพราะเราจะได้หาทางป้องกันได้ ซึ่งนี่เป็นโจทย์ท้าทายสำหรับเหล่าวิศวกรอวกาศทั่วโลกและมันอาจไม่ต่างอะไรจากการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆที่ต้องแก้ไขปัญหาต่างๆไปเรื่อยๆจนมันปลอดภัย และเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของเราในที่สุด อ้างอิง https://www.nature.com/…/cosmic-rays-originate-from-superno… https://www.sciencemag.org/…/shrinking-spines-space-fungus-… https://www.space.dtu.dk/…/Universe_and_Sola…/magnetic_field” ขอบคุณเรื่อง-ภาพ จากเพจ GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)