ณ โรงเรือนมก.วิทยาเขตสกลนคร หวังเป็นแนวทางให้วิสาหกิจชุมชน มุ่งประโยชน์การแพทย์ มาตรฐาน GACP
เมื่อวันที่ 24 ก.ย.62 นางศิรินุช ชีวันพิศาลนุกูล รองผอ.องค์การเภสัชกรรม ดร.จงรัก วัชรินทรัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมจากพืชกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ พร้อมร่วมปลูกต้นกล้ากัญชาชุดแรกของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ พื้นที่โรงเรือนของโครงการฯ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร
ผศ.ดร.วัชรพงษ์ อินทรวงศ์ รองอธิการบดีวิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร กล่าวว่าวิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ทำ “โครงการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมพืชกัญชาทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร” ขึ้นเพื่อเป็นแนวทางการศึกษาแก่วิสาหกิจชุมชนปลูกกัญชาตามมาตรฐาน GACP ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ประเทศใช้ควบคุมคุณภาพสำหรับพืชสมุนไพร มีเป้าหมายสำคัญดังนี้ 1. ต้นแบบปลูกกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งเป็นพื้นที่เรียนรู้วิธีการปลูกกัญชาที่ประสบความสำเร็จและได้มาตรฐาน 2. คู่มือการปลูกกัญชาทางการแพทย์ตามมาตรฐาน GACP จะมีรายละเอียดและขั้นตอนการปฏิบัติงานเพื่อที่ว่ากัญชาที่ปลูกนั้นจะได้รับรองคุณภาพตามมาตรฐานทางการแพทย์ 3. หลักสูตรระยะสั้น เพื่อเปิดสอนให้วิสาหกิจชุมชนในรูปแบบการอบรมเชิงปฏิบัติการ
ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทุกวิทยาเขต ได้ร่วมกันพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมพืชกัญชาทางการแพทย์ในภาพรวมของมหาวิทยาลัย ภายใต้ แนวทางการดำเนินงาน “One KU Cannabis” เบื้องต้นจะใช้พื้นที่ปลูกและวิจัย ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร โดยนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สามารถที่จะร่วมพัฒนาองค์ความรู้ดังกล่าวร่วมกันได้ทุกวิทยาเขต และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับการสนับสนุนอย่างดี จากกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกและองค์การเภสัชกรรม ซึ่งได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์ไปแล้ว เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน2562 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน นับเป็นความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อีกระดับหนึ่งที่ตอบสนองนโยบายมหาวิทยาลัยในการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยของไทย
นางศิรินุช ชีวันพิศาลนุกูล รองผอ.องค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ความร่วมมือของ 3หน่วยงานนี้ องค์การฯจะได้ร่วมวิจัยและพัฒนาการเพาะปลูกเพื่อกำหนดคุณสมบัติสายพันธุ์กัญชาไทย ให้ได้คุณสมบัติของดอกกัญชาที่มีคุณภาพ มีปริมาณสารสำคัญทีเอชซีและซีบีดีในสัดส่วนคงที่ สม่ำเสมอ ได้มาตรฐาน ตามความต้องการใช้ทางการแพทย์ โดยไม่มีสารปนเปื้อน เพื่อให้ได้วัตถุดิบดอกกัญชาระดับเมดิคัลเกรดสำหรับผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาสำหรับทางการแพทย์แผนปัจจุบัน
สำหรับการเปิดโครงการพัฒนางานวิจัยฯซึ่งการปลูกกัญชาในครั้งนี้จะเป็นสิ่งยืนยันถึงความมุ่งมั่นตั้งใจจริงของหน่วยงานภาครัฐที่จะร่วมกันขับเคลื่อนกัญชาทางการแพทย์ของไทยให้เกิดเป็นรูปธรรมและเป็นโอกาสทางเลือกของผู้ป่วยไทยที่จะเข้าถึงการรักษาด้วยกัญชาทางการแพทย์ที่มีมาตรฐานและคุณภาพอย่างแท้จริงโดยจะร่วมกันพัฒนาวิธีปลูก และวิจัยพัฒนากัญชาสายพันธุ์ไทย เพื่อให้ได้สายพันธุ์กัญชาที่มีคุณภาพ มีปริมาณสารสำคัญที่มีสัดส่วนคงที่ สม่ำเสมอได้มาตรฐาน ไม่มีสารปนเปื้อนใดๆ จากนั้นจะนำกัญชาที่ได้สายพันธุ์ร่วมกันส่งต่อไปยังกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นำไปใช้ในตำรับยาแพทย์แผนไทยรักษาผู้ป่วยโรคต่างๆ ที่เหมาะสมกับโรคนั้นๆ
พร้อมทั้งวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีเภสัชกรรมให้ได้ผลิตภัณฑ์ใช้ในการวิจัยทางคลินิกเพื่อประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ และสำหรับการรักษาด้วยช่องทางพิเศษ หรือ Special Access Scheme (SAS) เป็นการรักษาผู้ป่วยควบคู่การเก็บข้อมูลการวิจัย รวมถึงการรักษาด้วยช่องทางอื่นด้วย