จ.บุรีรัมย์ เตรียมจัดงานบุญประเพณีแซนโฎนตา บูชาบรรพบุรุษของชาวไทยเชื้อสายเขมร เพื่ออนุรักษ์เผยแพร่ประเพณีความเชื่อของชาวไทยเชื้อสายเขมร และแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ ความรักผูกพันของคนในครอบครัวและเครือญาติ ระหว่างวันที่ 26-27 ก.ย.นี้ที่วัดพลับพลา ต.สะเดาอ.พลับพลาชัย จ.บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 23 ก.ย.62 พระครูสังฆรักษ์ปรีญาวัฒน์ จนฺทสาโร ผู้อำนวยการโรงเรียนปริยัติธีรวิทยา วัดกลาง(พระอารามหลวง) อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เปิดเผยว่าโรงเรียนปริยัติธีรวิทยา ได้ร่วมกับคณะสงฆ์อำเภอพลับพลาชัย วัดพลับพลา และ อ.พลับพลาชัย กำหนดจัดงาน“ประเพณีแซนโฎนตา บูชาบรรพบุรุษ” ประจำปี 2562 ขึ้นระหว่างวันที่ 26-27 ก.ย.2562 นี้ขึ้นที่วัดพลับพลา ต.สะเดา อ.พลับพลาชัย จ.บุรีรัมย์ เพื่อเป็นการอนุรักษ์สืบสานประเพณีพื้นบ้านโบราณดั้งเดิม ของชาวไทยเชื้อสายเขมรให้คงอยู่ไว้ และเพื่อสร้างจิตสำนึกให้เด็ก เยาวชน และประชาชน ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของประเพณีแซนโฎนตา ซึ่งเป็นประเพณีวันรวมญาติ วันระลึกถึงบุญคุณของบรรพบุรุษ ทั้งเพื่อให้ลูกหลานได้ร่วมกันแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ และบรรพชนผู้ล่วงลับ ตลอดจนผู้มีพระคุณทั้งในอดีตและปัจจุบัน สำหรับงานประเพณีแซนโฎนตา บูชาบรรพบุรุษ ประจำปี 2562 ได้จัดขึ้นต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 3 โดยจะเป็นการจัดหมุนเวียนไปตามวัดต่างๆ ที่มีความพร้อม ซึ่งปีนี้ได้กำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 26-27 ก.ย.62 ที่วัดพลับพลา โดยกิจกรรมในวันที่ 26 ก.ย.62 จะมีการจัดแสดงสินค้าพื้นบ้าน การจัดนิทรรศการประวัติความเป็นมา งานประเพณีแซนโฎนตาบูชาบรรพบุรุษ ส่วนวันที่ 27 ก.ย.62 ซึ่งตรงกับวันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 คือวัน “เบ็ณฑ์ทม” ในช่วงเช้าจะมีการประกวดข้าวต้มมัด การประกวดจัดเครื่องแซนโฎนตา การประกวดขบวนแห่ การแสดงรำบวงสรวงแซนโฎนตา การแสดงศิลปะพื้นบ้านวงมโหรีกันตรึมโบราณ การสาธิตกลุ่มอนุรักษ์ทอผ้าสะคู การทำนุมเวงหรือขนมจีนขแมร์ การห่อข้าวต้ม ต้นกล้วยกับพิธีกรรมขแมร์ และมโหรีขแมร์พื้นบ้าน จากนั้นในช่วงบ่ายจะมีขบวนแห่แซนโฎนตา เริ่มจากบริเวณสนามหน้าที่ว่าการ อ.พลับพลาชัย ไปตามถนนสายประโคนชัย-กระสัง มุ่งหน้าไปวัดพลับพลา และเมื่อขบวนแห่ทุกขบวนมาถึงบริเวณงาน จะมีตัวแทนของแต่ละหมู่บ้านนำเครื่องจูนโฎนตา ไปวางที่จุดกำหนด เพื่อร่วมประกอบพิธีในช่วงเวลาประมาณ 16.00 น. โดยในช่วงนี้จะมีการประกอบพิธีทางศาสนา พระสงฆ์ 10 รูป สวดธรรมนิยามเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว (สลับกับการตีฆ้องเพื่อเรียกขานชื่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับให้มารับส่วนกุศล จำนวน 3 ครั้ง) ซึ่งชาวบ้านที่มาร่วมงานทุกคน จะพากันแต่งกายด้วยชุดผ้าไหมลายเอกลักษณ์ของชนเผ่าเขมร โดยมีการสร้างสรรค์และออกแบบงานประเพณีดังกล่าว ให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ เป็นพื้นที่รวมกลุ่มคน และยังเป็นพื้นที่ในการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไปพร้อมกันอีกด้วย พระครูสังฆรักษ์ปรีญาวัฒน์ เปิดเผยต่อว่า การประกอบพิธีแซนโฎนตานั้น ลูกหลานของทุกบ้าน จะมารวมตัวกัน ยังบ้านที่เป็นจุดศูนย์กลางของครอบครัว ส่วนใหญ่จะเป็นบ้านของปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ หรือบ้านของผู้อาวุโสที่สุดของครอบครัว พร้อมกับเตรียมของมาเซ่นไหว้ เช่น ไก่ หมู ปลา ข้าวสาร ข้าวสวย ผลไม้ ขนมกระยาสารท ข้าวต้มหางยาว ขนมพื้นบ้าน น้ำเปล่า น้ำอัดลม เหล้า เบียร์ ใส่กระเชอโฎนตา เพื่อไหว้บรรพบุรุษของตนเองที่ล่วงลับไปแล้ว จากนั้นนำเครื่องเซ่นไหว้อีกส่วนหนึ่งไปเซ่นไหว้ศาลตาปู่ประจำหมู่บ้าน พระครูสังฆรักษ์ปรีญาวัฒน์ เปิดเผยด้วยว่า ประเพณีแซนโฎนตา ถือเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งของคนโบราณ ที่มีจุดมุ่งหมายให้ลูกหลาน ได้แสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ และมีโอกาสได้พบปะญาติมิตร เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ได้พึ่งพาอาศัยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ลักษณะคล้ายๆกับประเพณีท้องถิ่นของชาวไทยเชื้อสายต่างๆ อาทิ ตรุษจีน ของชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นต้น ทั้งยังเชื่อว่าวันแซนโฎนตานี้ ถ้าลูกหลานคนใดไม่ได้จัดทำ หรือไม่ไปร่วมแซนโฎนตาโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วอาจจะไม่พอใจ ส่งผลให้การทำมาหากิน ไม่ราบรื่น จิตใจเป็นกังวลไม่เป็นสุข ด้วยความเชื่ออย่างนี้ทุกคนจึงพยายามไปร่วมพิธี หรือไม่ก็จัดเครื่องเซ่นไหว้ที่บ้านของตนเอง “แซนโฎนตา โดยปกติแล้วแต่ละบ้านจะจัดขึ้นบ้านใครบ้านมัน แต่ครั้งนี้นอกจากจะมีการจัดพิธีของแต่ละบ้านแล้ว เราจะให้มีการจัดเป็นประเพณีใหญ่รวมกันของคนทั้งหมู่บ้าน เพื่อต้องการเผยแพร่ให้คนโดยทั่วไปในทุกภูมิภาคของประเทศไทย ที่มีความหลากหลาย และแตกต่างทางเชื้อสายแหละวัฒนธรรม ได้รับทราบถึงขนบธรรมเนียมประเพณีความเชื่อ ของชาวไทยเชื้อสายเขมร ที่ได้ยึดถือปฎิบัติมากันหลายชั่วอายุคนจนถึงปัจจุบัน” พระครูสังฆรักษ์ปรีญาวัฒน์ กล่าว