สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิด “เคเอ็มไอทีแอล ซิตี้ เซนเตอร์” (KMITL CITY CENTER) คอมมูนิตี้แห่งการปั้นสตาร์ทอัพด้านสมาร์ท อินดัสทรี และสมาร์ท ซิตี้ เพื่อแสดงศักยภาพของนักศึกษาและคณาจารย์ สจล. และเป็นเวทีในการเชื่อมโยงระหว่างภาคการศึกษา ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม และภาครัฐ ที่สามารถต่อยอดองค์ความรู้ สู่การพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมยกระดับคุณภาพสังคมเมืองได้อย่างชาญฉลาด พร้อมบ่มเพาะไอเดียธุรกิจของผู้ประการสู่ธุรกิจสตาร์ทอัพที่ล้ำสมัย พร้อมก้าวสู่โลกการแข่งขันในภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สจล. ได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้มีความจำเป็นที่ต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีและศักยภาพของบุคลากร ทั้งในภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น จึงได้ดำเนินการจัดตั้ง “เคเอ็มไอทีแอล ซิตี้ เซนเตอร์” (KMITL CITY CENTER) คอมมูนิตี้ในการเชื่อมโยงระหว่างภาคการศึกษา ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และภาครัฐในการร่วมกันพัฒนา ต่อยอดเชิงพาณิชย์ รวมถึงถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยเฉพาะในด้านสมาร์ท อินดัสทรี (Smart Industry) และสมาร์ท ซิตี้ (Smart City) สู่สังคม ทั้งนี้ เพื่อเป็นการให้บริการทั้งทางด้านการพัฒนากำลังคน และการพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกับทุกหน่วยงานอย่างยั่งยืน สู่การเป็นรากฐานองค์ความรู้ที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและผู้ประกอบการ และพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมที่สามารถยกระดับคุณภาพสังคมเมืองได้อย่างชาญฉลาดในอนาคต
ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า โดยภายในศูนย์ฯ จะมีการจัดแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ครอบคลุมใน 4 ด้านหลัก คือ ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Tech) ด้านไบโอเทคโนโลยี (Bio Tech) ด้านโลจิสติกส์และพลังงาน (Logistic and Energy) และด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ซึ่งในระยะ 3 เดือนแรก จะเป็นการจัดแสดงต้นแบบนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งมีไฮไลท์ที่น่าสนใจดังนี้
* ระบบเตือนภัยฝุ่น PM 2.5 และ PM 10 แบบเรียลไทม์ ของขวัญคนกรุงฯ นวัตกรรมตรวจวัดคุณภาพอากาศและปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และ PM 10 บริเวณป้ายรถเมล์ ที่มักเป็นแหล่งสะสมของฝุ่นละออง ซึ่งมาพร้อม “เซนเซอร์ตรวจวัดฝุ่นละออง” และ “พัดลมสัญจร” ที่จะทำงานอัตโนมัติเมื่อเซนเซอร์ตรวจพบว่า ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในบริเวณนั้นๆ สูงเกินกว่าค่ามาตรฐาน อีกทั้งมี “ป้ายแจ้งเตือน” บอกคุณภาพอากาศโดยรวมของกรุงเทพมหานครใน 5 เฉดสี ได้แก่ สีแดง มีผลกระทบ สีส้ม เริ่มมีผลกระทบ สีเหลือง ผลกระทบปานกลาง สีเขียว คุณภาพอากาศดี สีฟ้า คุณภาพอากาศดีมาก ทั้งนี้ นับเป็นนวัตกรรมที่ช่วยให้บรรยากาศการรอรถเมล์ของคนเมืองกรุงฯ สดใสกว่าที่เคย โดยปัจจุบันได้นำร่องใช้จริง ณ บริเวณป้ายรถเมล์หน้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.
* นวัตกรรมการปั่นด้วยเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (VR BIKE) นวัตกรรมที่ช่วยสร้างประสบการณ์ปั่นรูปแบบใหม่ เสมือนหลุดไปในสนามแข่งเพียงสวมแว่นวีอาร์ (VR: Virtual Reality) ทางเลือกการออกกำลังกายแบบประหยัดพื้นที่ แก้ปัญหาที่ออกกำลังกายเพียงพอในเขตพื้นที่เมือง โดยมาพร้อมเทคโนโลยี VR ที่แสดงภาพเสมือนจริง ความสามารถในการมองเห็นรอบทิศ 360 องศา มีเซนเซอร์วัดความเร็ว และสมาร์ทวอช (Smart watch) ที่ช่วยวัดอัตราการเต้นของหัวใจ และคำนวณการเผาผลาญแคลอรี่ ซึ่งล่าสุดนวัตกรรมดังกล่าว พร้อมจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในกลุ่มลูกค้าธุรกิจฟิตเนส สุขภาพ และโรงพยาบาล โดยที่ลูกค้าสามารถปรับเปลี่ยนหน้าตาแอปฯ VR Bike และเพิ่มด่านใหม่ๆ ให้ตรงกับความต้องการของธุรกิจได้
* ดักกี้ทาวน์ เทคโนโลยีแห่งการพัฒนายานยนต์ไร้คนขับ (DUCKIES TOWN) แพลตฟอร์มการเรียนการสอนด้านเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับ (Autonomous Car) สู่การเร่งพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนจริงบนเลนถนนของประเทศไทย ผ่านการจำลองเมืองและถนนเสมือนจริง พร้อมกับป้อนโปรแกรมเพื่อให้รถสามารถวิ่งหรือหยุดได้โดยอัตโนมัติ เพียงใช้กล้องขนาดจิ๋วอ่านเส้นจราจรรูปแบบต่าง ๆ โดยในอนาคตนักศึกษา สจล. เตรียมพัฒนาศักยภาพให้สามารถอ่านสัญญาณไฟจราจร หรือตรวจจับว่ามีรถยนต์หรือวัตถุอื่น ๆ กีดขวางอยู่ด้านหน้าหรือไม่
* แขนกลอัจฉริยะ ที่พร้อมทำงานเคียงข้างมนุษย์และภาคอุตสาหกรรม (COBOT: Collaboration Robot) หุ่นยนต์แขนกลที่มีน้ำหนักเบา แข็งแรง สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ อีกทั้งมีความปลอดภัยและมีศักยภาพสูงในการจดจำใบหน้า ซึ่งทางนักศึกษา สจล. ได้ร่วมกับทีมงานบริษัท พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น จำกัด พัฒนาระบบ Visual Recognition AI ขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแขนกลให้สามารถตรวจจับใบหน้าของผู้ใช้งาน สามารถหยิบจับวัตถุที่กำหนดได้อย่างแม่นยำและเหมาะสม พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกในการทำงานร่วมกับมนุษย์มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ นับเป็นการสร้างมูลค่าและสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมไทยให้พร้อมกับการเป็น Industry 4.0 ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในรูปแบบงานหลากประเภท โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนแรงงานคน อาทิ เป็นแขนกลทำอาหาร เป็นแขนกลช่วยพยุงผู้สูงอายุ ฯลฯ
"ในอนาคต สจล. ยังเตรียมเปิด “พื้นที่นักสร้างสรรค์ – Creator Space (NEXT Lab)” ซึ่งเป็นความร่วมมือกับ ธนาคารกรุงไทย และ ทรูดิจิทัล พาร์ค เพื่อเป็นพื้นที่ให้บริการด้านการบ่มเพาะและพัฒนานวัตกรสู่การเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพในธุรกิจดิจิทัล โดยมีขอบเขตการพัฒนานวัตกรรมใน 4 ด้านหลัก คือ ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ด้านไบโอเทคโนโลยี ด้านโลจิสติกส์และพลังงาน และด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พร้อมตั้งเป้าหมายในการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง สู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจนวัตกรรมของประเทศ ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าวจะพร้อมเปิดให้บริการภายในปลายปี 2562" ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวสรุป
ทั้งนี้ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้จัดพิธีเปิดศูนย์ “เคเอ็มไอทีแอล ซิตี้ เซนเตอร์” (KMITL CITY CENTER) เมื่อเร็วๆ นี้ ณ อาคาร ทรู ดิจิทัล พาร์ค ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์ สจล. เว็บไซต์ www.facebook.com/kmitlofficial, www.kmitl.ac.th และหมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111