เด็กๆ เยาวชน ต่างให้ความสนใจ ร่วมกิจกรรมเรียนรู้กระบวนการทำเกษตรแบบอินทรีย์ ตามฐานการเรียนรู้ต่างๆ ภายในศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน อ.เมือง จ.กาญจนบุรี พื้นที่จำนวนกว่า 14 ไร่ โดยมีนางทิวาพร ศรีวรกุล เกษตรกรและหมอดินอาสา เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ เป็นระยะเวลา 15ปี ที่นางทิวาพร ได้ทำการผลิตแบบอินทรีย์ ซึ่งสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตจากการใช้ปุ๋ยและสารเคมีที่มีราคาแพง ประกอบกับความต้องการให้ผู้บริโภคได้บริโภคอาหารปลอดภัย โดยผลผลิตทางการเกษตรของนางทิวาพร ได้การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS) จากกรมพัฒนาที่ดิน และมาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์ Organic Thailand อีกด้วย นางทิวาพร ศรีวรกุล หมอดินอาสา อ.เมือง จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า ที่หันมาเป็นเกษตรเต็มตัว เพราะได้ไปเห็นพื้นที่ชุมชนที่เราต้องลงไปทำงาน ปรากฏว่าใช้สารเคมีรุนแรงมาก ปลูกเชิงเดี่ยว ข้าวโพดอาหารสัตว์ มันสำปะหลัง และที่สำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยน คือ เกษตรกร เป็นหนี้สินเยอะมาก จากการเก็บข้อมูลบัญชีครัวเรือน จึงทำให้เรามีแนวคิด ถ้าหากว่าปลูกเชิงเดี่ยว ราคาพืชผลถูกกำหนดโดยตลาด เกษตรกรอยู่ไม่ได้ ช่วงนั้นกรมพัฒนาที่ดิน โดยสถานีพัฒนาที่ดินกาญจนบุรี ได้ขับเคลื่อนเรื่องเกษตรอินทรีย์ ทำให้เราได้รับความรู้เรื่องการพัฒนาที่ดิน จากการปลูกหญ้าแฝก อบรมการทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ โดยใช้สาร พด. สูตรต่างๆ เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการเกษตรอินทรีย์ และมีการทำเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน “นอกจากนี้ รัฐบาลมีนโยบายด้านอาหารปลอดภัย เช่น กระทรวงสาธารณะสุข มีนโยบายส่งอาหารปลอดภัย ให้กับโรงพยาบาล เราจึงมีการขยายเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ เป็นหนึ่งเครือข่ายใหญ่ ในจังหวัดกาญจนบุรี โดยส่งผักปลอดสารเคมีให้กับโรงพยาบาลประจำจังหวัด และโรงพยาบาลกรุงเทพ รวมทั้งได้เปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ เพื่อให้เยาวชน ประชาชน และเกษตรกรคนอื่นๆ ได้รู้จักดิน รู้วิธีพัฒนาคุณภาพดิน ว่าดินที่ใช้อุดมสมบูรณ์มาจากอะไร และวิธีพัฒนาดินเสื่อมได้อย่างไร เช่น การใช้ปุ๋ยเพิ่มเติม มีการใช้มูลสัตว์มาหมัก ร่วมกับลำข้าว และใช้สารเร่ง พด. ในการให้ปุ๋ยสมบูรณ์มาใช้บำรุงดิน รวมถึงชวนเยาวชนปลูกพืชอาหารไว้กินเอง เป็นพืชผักที่ไม้ใช้สารเคมี การแลกเปลี่ยนกับเด็กๆ ทำให้รู้ว่าการกินสารเคมีทำให้เป็นมะเร็ง เด็กเห็นการทำปุ๋ยโดยใช้สารเร่ง พด. ซึ่งมีต้นทุนต่ำ จึงสนใจนำความรู้ไปบอกพ่อแม่ให้ทำตาม เมื่อเด็กคิดได้แบบนี้เราก็ดีใจมาก”นางทิวาพร กล่าว อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ของการเกษตรอินทรีย์ สิ่งแรกสุขภาพดี สองมีรายได้ที่มั่นคงสม่ำเสมอเพราะผักอินทรีย์ที่ปลูกเอง สามารถกำหนดราคาเอง เป็นเรื่องที่ดีมาก และปัจจัยการผลิต เราลดต้นทุนการผลิตได้ เพราะราผลิตเมล็ดพันธุ์เอง ทำปุ๋ยใช้เอง น้ำหมักชีวภาพต่างๆ รวมทั้งเราก็ได้อากาศ และสภาแวดล้อมที่ดี ด้าน นายวันชัย สินประเสริฐ เจ้าพนักงานการเกษตรอาวุโส กล่าวว่า ที่มาทำเป็นศูนย์เรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติ ของนางทิวาพร ซึ่งเป็นหมอดินมา 15 ปี มีนโยบายทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ การใช้พื้นที่อย่างจำกัด ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเรื่องของพืชอาหารปลอดภัย เกี่ยวกับการใช้สารของจุลินทรีย์ในการผลิตพืชอาหาร งดการใช้สารเคมี โดยใช้ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หลายหน่วยงานรวมทั้งภาคเอกชน อบรมของพัฒนาที่ดินก็มีการใช้สารเร่ง ที่เอามาใช้ในเรื่องเกษตรอินทรีย์ ก็ปรับปรุงดิน จนสภาพพื้นดินดีขึ้น และอีกอย่างคือการใช้ประโยชน์ของหญ้าแฝก ปลูกในแนวความลาดชัน ทั้งนี้ มีเกษตรกร เข้าระบบการรับรองมาตรฐานแบบ PGS จำนวน 17 ราย ซึ่งผ่าน 5 ราย ใช้ระยะเวลาขอ 5 ปี และข้อดีของการปลูกพืชผักที่หลากหลาย หมุนเวียนสลับกันไป ทำให้มีผลผลิตอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการทำเกษตรอินทรีย์ สามารถมีตลาดรองรับสม่ำเสมอ และยังเป็นผู้ที่กำหนดราคาเองได้ นับเป็นแรงบันดาลใจให้กับเกษตรกรหลายราย ได้หันมาทำการเกษตรที่ปลอดภัย เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างพอเพียงและยั่งยืน