คนข้างวัด / อุทัย บุญเย็น ในสัปดาห์ที่แล้ว มีเรื่องร้อนๆ เกิดขึ้นในบ้านเมืองหลายเรื่องจะไม่เขียนถึงเลยเห็นจะไม่ได้ เรื่องที่ต้องเขียนถึงแน่ๆ คือเรื่อง นศ.ปี4 มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในโคราช เขียนภาพอุลตร้าแมน (พระเอกในหนังการ์ตูนของเด็กๆ) โดยเอาเศียรพระพุทธรูปเป็นหัวอุลตร้าแมน ขณะที่ร่าง (ส่วนตัวและส่วนล่าง) ยังเป็นอุลตร้าแมน สื่อเรียกว่า “พระอุลตร้าแมน” ชาวพุทธกลุ่มหนึ่ง (ใช้ชื่อว่า “กลุ่ม (หรือ “ชมรม”) ชาวพุทธพลังแผ่นดิน” จำนวน 5 ท่าน เห็นภาพนั้นแสดงในศูนย์การค้าแห่งหนึ่งโคราช และต่อมา มีการประมูลภาพนั้น มีผู้ประมูลเริ่มจาก 600,000 บาท วันหลังเพิ่มเป็น 2,000,000บาทเศษ ภาพนั้นก็เลยเป็นภาพแสดงในที่สาธารณะและมีการหารายได้ (นศ.ผู้เขียนภาพจะได้ 10%จากเงินประมูลนั้น) กลุ่มชาวพุทธที่ว่านั้นก็เห็นว่าเป็นการลบหลู่พุทธศาสนา มีการฟ้องร้องกันจะเอาผิด พ่วงผู้ถูกฟ้อง (นอกจากเจ้าของภาพ) อีก 3 ท่าน คือ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ นายเดชา (“ทนายคลายทุกข์” ทางโซเชียล) และนายปกรณ์ (2 ท่านหลังนี้ ผมจำนามสกุลท่านไม่ได้) ในฐานะผู้สนับสนุนการผลิตภาพนั้น ทราบมาว่า ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนำ นศ. (หญิง) เจ้าของภาพไปขอขมาท่านเจ้าคุณเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมามาแล้ว ซึ่งเรื่องก็จบลงด้วยดี แต่เรื่องฟ้องร้องกัน ก็ยังดำเนินต่อไป เรื่องนี้เป็นเรื่องภายในของชาวพุทธด้วยกัน และเป็นเรื่องความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของ นศ.ซึ่งต้องการผลิตภาพเพื่อจบหลักสูตร (ทราบว่าเป็นหลักสูตรของภาควิชาศิลปะ) นศ.หญิงคนนั้น ก็ได้สารภาพผิดและขอขมาต่อเจ้าคณะจังหวัดแล้ว คำกล่าวให้โอวาทของท่านเจ้าคณะจังหวัด ก็ดูน่าฟัง ท่านกล่าวในทำนองว่า ภาพเขียนนั้น เกี่ยวข้องกับศรัทธาของชาวพุทธ พึงสำรวมระวังบ้าง... ผมฟังคำพูดของอาจารย์เฉลิมชัย ก็ไม่ได้ว่าอะไรท่าน เห็นด้วยในเรื่องเสรีภาพทางความคิด ศิลปะต้องมีเสรีภาพที่จะคิด ที่จะแสดงออก แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องทางศาสนา ซึ่งมีฝักมีฝ่ายทางความเชื่อที่ต่างกันอยู่ ล่อแหลมที่จะกระทบกระทั่งกันได้ ควรคิดให้ดีก่อนที่จะแสดงออก ถึงกับมีคติเตือนใจกันว่า ในวงเหล้า อย่าพูดเรื่องการเมืองและเรื่องศาสนา เพราะทั้งสองเรื่องนี้ จะทำให้ขัดใจกันได้ แม้ทั้งสองฝ่ายจะเป็นเพื่อนกัน หรือคนในวงเดียวกันก็ตาม มีข้อน่าสังเกตอีกว่า พระพุทธรูปนั้น แม้จะเกิดหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานถึง 500 ปี แต่ก็เป็นที่รับรู้ของชาวโลกทั่วไปว่า พระพุทธรูปเป็นรูปเคารพของชาวพุทธ เป็น “ของสูง” ของชาวพุทธ เป็นที่สักการะบูชาของชาวพุทธทั่วไป จึงมีข่าวว่า การแสดงความหมิ่นหยาบต่อพระพุทธรูปในทางใดๆ เช่น ขึ้นไปยืนเหยียบไหล่พระพุทธรูปถ่ายรูป,วางเศียรพระพุทธรูปไว้ในที่ต่ำ ฯลฯ ย่อมจะมีปฏิกิริยาจากชาวพุทธได้ แม้แต่พระพุทธรูปถกตบหน้าโดยพระสงฆ์เอง ก็เป็นที่ขัดเคืองใจของชาวพุทธมาแล้ว ท่านพุทธทาสภิกขุ แม้จะสอนไม่ให้ยึดติดในพระพุทธรูป แต่ท่านก็กราบพระพุทธรูป มีพระพุทธรูปเป็นที่เคารพบูชาอยู่ในสวนโมกข์ฯ ไม่เคยเห็นท่านแสดงอาการลบหลู่พระพุทธรูปในที่ใดๆ อยากจะให้ทำความเข้าใจว่า ความไม่ยึดติดนั้นเป็นธรรมะชั้นสูง เป็นปรปัตถธรรม แท้จริง (ทางพุทธศาสนา สอนว่า) ไม่มีอะไรต้องยึดติด เพราะทุกสิ่งเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา การยึดติดสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ ย่อมพ้นทุกข์ไม่ได้ แต่ในขั้นศีลหรือวินัย พระพุทธเจ้าก็ให้มีศีล ให้มีวินัยหรือให้ยึดถือระเบียบอย่างเดียวกัน สอนให้มีวัฒนธรรมต่างๆ ที่คนในสังคมประพฤติปฏิบัติกันอยู่ เช่นให้เคารพผู้หลักผู้ใหญ่ หรือให้เทิดทูนบิดามารดาของตน ฯลฯ ทั้งๆที่ในทางปรมัตถธรรม ผู้หลักผู้ใหญ่และบิดามารดาหามีไม่ ผมเห็นว่า พระพุทธรูปเป็นรูปเคารพแทนองค์พระพุทธเจ้าของชาวพุทธทุกนิกายทุกประเทศ (แม้หน้าตาจะไม่เหมือนกันก็ตาม) สมควรแก่การกราบไหว้บูชาสักการะและควรอยู่ในที่สูงเพื่อการเคารพกราบไหว้ และเห็นว่า การกราบไหว้พระพุทธรูป เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของชาวพุทธ การยึดติดหรือยึดมั่นถือมั่นจะมากน้อยประการใด ขึ้นอยู่กับบุคคล จึงเป็นธรรมดาที่ภาพ “พระอุลตร้าแมน” จะกระทบกระเทือนจิตใจชาวพุทธทั่วไปไม่มากก็น้อย จริงอยู่ เป็นสิทธิเสรีภาพของคนที่จะแสดงออกใดๆ ก็ได้กับพระพุทธรูป แต่ก็ต้องพร้อมรับปฏิกิริยาของชาวพุทธไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตามได้เช่นกัน ไม่อยากเห็นอย่างที่เห็น ท่านทนายใช้คำว่า “มัน” กับชาวพุทธใดๆหรือคนใด ด้วยอารมณ์และอคติ อันเป็นความไม่สุภาพต่อกัน เพราะอย่างน้อย ตัวแทนของชาวพุทธที่แสดงออกด้วยการต่อว่าเช่นนั้น ก็เป็นสิทธิโดยชอบธรรมเช่นกัน ของพวกเขาที่จะมีปฏิกิริยาต่อภาพเขียนนั้น ท่านทนายก็ยอมรับเองว่า สมัยเรียนหนังสือ ตนก็เป็นเด็กวัด และตัวแทนในกลุ่มชาวพุทธพลังแผ่นดิน (ขออภัย ถ้าจำชื่อผิด)เท่าที่ทราบก็ล้วนเป็นอดีตท่านมหาเปรียญ ซึ่งเคยเป็นพระมาก่อน บางท่านก็เป็นถึงครูบาอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ท่านหวังดีต่อพุทธศาสนา จึงอาสาแสดงตัวตนให้ปรากฏแทนชาวพุทธส่วนรวม อยากให้ช่วยกันชี้แจงแก่เยาวชนชาวพุทธ ว่า พระพุทธรูปเป็นรูปเคารพแทนองค์พระศาสดาของเรา เมื่อจะเขียนภาพหรือแสดงออกด้วยวาจาพระพุทธรูป พึงสำรวมระวังตามสมควร งานผลิตภาพ “พระอุลตร้าแมน” ของนศ.หญิงคนนั้น ว่าไปแล้วเป็นงานศิลปะหยาบๆ (อาจารย์เฉลิมชัย ก็ยอมรับ) คือ เป็นการเอาเศียรพระพุทธรูปไปวางแทนหัวอุลตร้าแมนเท่านั้นเอง ภาพตั้งแต่คอไปหาส่วนล่างยังเป็นอุลตร้าแมนทุกอย่าง มองเผินๆ จึงเป็น “อุลตร้าแมน” นั่นเอง ถ้าคนผลิตภาพเขียนให้ร่างของอุลตร้าแมนแบบห่มจีวรแล้วใส่ศีรษะอุลตร้าแมนแทนเศียรพระพุทธรูป ภาพนั้นก็จะออกมาอีกแบบหนึ่งอาจจะเห็นเป็นภาพพระภิกษุซึ่งมีศีรษะเป็นอุลตร้าแมน ซึ่งอาจไม่เห็นเป็นพระพุทธรูปแปลงร่างเป็นอุลตร้าแมน นึกเห็นภาพเขียนของ เหม เวชกร ที่ศาลาการเปรียญ (เมื่อปี 2505-2506)ซึ่งแขวนเรียงกันอยู่ พอให้เดินดูได้ มีภาพหนึ่ง พระพุทธเจ้าแสดงฤทธิ์ “พกาพรหม” (หรือพรหมองค์หนึ่งชื่อ “พกะ”) ในภาพ เหม เวชกร เขียน (วาด) ให้พกาพรหมเป็นองค์เล็กๆ ที่หน้าผากพระพุทธเจ้า ทำให้พกาพรหมไม่เห็นตัวเองว่าอยู่ที่ไหน ต้องยอมแพ้พระพุทธเจ้า นั่นเป็นภาพศิลปะ มุ่งให้เกิดศรัทธาแก่ผู้ดู ไม่เอาพกาพรหมเป็นตัวเดินในภาพ แต่ภาพ “พระอุลตร้าแมน” ทำให้อุลตร้าแมนเป็นตัวเด่นหรือเป็นพระเอก ยอมให้พระพุทธเจ้าถอดจีวร เหลือแต่พระเศียรพระพุทธเจ้าก็เลยเท่ากับถูกจับสึก เพราะไม่มีจีวรติดกายเลย กลายเป็นพระเอกการ์ตูน หมายจะให้เข้าใจว่า พระพุทธเจ้ามีฤทธิ์ปราบผู้ร้ายอย่างอุลตร้าแมน คิดว่า ถ้าเป็นระดับศิลปินแห่งชาติ อย่าง อ.เฉลิมชัย คิดเขียนภาพพระพุทธเจ้าทำงานอย่างอุลตร้าแมน คงไม่ทำอย่างนั้น ภาพคงออกมาเป็นอุลตร้าแมนช่วยงานพระพุทธเจ้าปราบมารอีกแบบหนึ่ง และพระพุทธเจ้าคงอยู่ในอิริยาบถอันงามเด่น น่าศรัทธายิ่งขึ้น เรื่องนี้เป็นความละเอียดอ่อนของศิลปิน ส่วน นศ. หญิงคนนั้น ยังเป็นเยาวชน (อายุ 20 ปี) ประสบการณ์ในการรังสรรค์งานศิลป์ยังอ่อนเยาว์ ประกอบกับเธอเป็นสมัยใหม่คงยังไม่ซึมซับในปฏิปทาของพระพุทธเจ้านัก จึงแสดงออกด้วยงานศิลป์ตามความเข้าใจของเธอ แต่เธอก็อยากให้พระพุทธเจ้ามีอิทธิ์ฤทธิ์โลดโผนมากมายอย่างพระเอก “อุลตร้าแมน” ของเธอ หารู้ไม่ว่า มีผู้ประสงค์ร้ายต่อพุทธศาสนาแอบดูอยู่ในเงามืดข้างๆ ซึ่งมองเห็นภาพเป็นเงินก้อนใหญ่อยู่ และผู้ประสงค์ร้ายนั้นก็รู้ว่า ภาพนั้นจะเป็นข่าวดังได้ และคงจะลุกลามเป็นความแตกแยกของชาวพุทธได้ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นไปอย่างนั้น! อยากเตือนสติ “กลุ่มชาวพุทธพลังแผ่นดิน” ให้ระลึกเสมอว่าวิธีการของพระพุทธเจ้าในการเพิ่มศรัทธาของคนไม่ใช่โดยวิธีรุนแนง เกรี้ยวกราดเอาแพ้เอาชนะกัน แต่ใช้วิธีชี้แจงทำความเข้าใจด้วยจิตเมตตาให้เขาเข้าใจในพระรัตนตรัยที่ถูกต้อง ผมไม่เห็นด้วยกับวิธีฟ้องร้องกัน เพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเดือดร้อน และถูกเกลียดชัง เห็นด้วยกับการที่ท่านผู้ว่าฯ พา นศ. เจ้าของภาพไปขอขมาท่านเจ้าคณะจังหวัดในทันที