ส.ป.ก. จัดกิจกรรมเกี่ยวข้าว ณ แปลงโฉนดหมายเลข 1 เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เป็นประธานเปิดงานกิจกรรมเกี่ยวข้าว โครงการผืนดินพระราชทานเพื่อการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ณ ที่ดินพระราชทาน แปลงโฉนดเลขที่ 1 ตำบลวัดยม อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ดร.วิณะโรจน์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากการที่ ส.ป.ก. ได้ดำเนินการจัด “โครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โครงการผืนดินพระราชทานเพื่อการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม และโครงการศูนย์บริการประชาชนเคลื่อนที่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ณ ที่ดินพระราชทาน แปลงโฉนดเลขที่ 1” เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมานั้น โดยภายในงานประกอบด้วย กิจกรรม “ศิลปะบนนาข้าว (Rice of Art)” โดยการปลูกข้าว (ดำนา) หลากหลายสายพันธุ์ เพื่อสร้างสรรค์ผลงานเป็นรูปต่างๆบนนาข้าว จำนวน 4 แบบ ได้แก่ แบบที่ 1 ตัวอักษรเลข 10 “ทรงพระเจริญ” แบบที่ 2 ภาพวาดฝีพระหัตถ์ การ์ตูนจิตอาสา “เราทำความดีด้วยหัวใจ” แบบที่ 3 พระพิรุณทรงนาค และแบบที่ 4 พญานาค โดยพันธุ์ข้าวที่ใช้ ประกอบด้วย ข้าวพันธุ์ กข41 กข77และข้าวเหนียวดำ หรือข้าวกล่ำ โดยภายหลังจากการเปิดให้ประชาชนเข้าเยี่ยมชมตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนถึงปัจจุบันนั้น ผลปรากฎว่าได้รับความสนใจเป็นจำนวนมาก การจัดกิจกรรมเกี่ยวข้าวในวันนี้ ถือเป็นกิจกรรมสุดท้ายของโครงการฯ ดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันผลผลิตข้าวในแปลงอยู่ในระยะเก็บเกี่ยว ส.ป.ก. จึงดำเนินการจัดกิจกรรม เพื่อเก็บเกี่ยวข้าวในแปลง พร้อมทั้งต้องการบริหารจัดการผลผลิตจากแปลง ที่ส่วนหนึ่งจะนำไปจัดแสดงในนิทรรศการอนุรักษ์พันธุ์พืช ที่จังหวัดขอนแก่น และอีกส่วนหนึ่งจะนำไปจัดแสดงในนิทรรศการวันดินโลกที่จะจัดขึ้นเร็วๆนี้ ทั้งนี้ภายในงานนอกจากกิจกรรม ลงแขกเกี่ยวข้าวแล้ว ยังมีการตรวจเยี่ยมชมผลผลิตจากแปลงธนาคารอาหารชุมชน ณ บริเวณแปลงโฉนดหมายเลข 1 ที่ทาง ส.ป.ก.ได้ดำเนินการปลูกต้นไม้กินได้หลากหลายสายพันธุ์ อาทิ ต้นมะขวิด ต้นมะขาม ต้นขนุน ต้นแค และต้นทองอุไร ที่ปลูกเป็นแนวรั้วเพื่อเป็นการแสดงขอบเขตของธนาคารอาหารชุมชน เพื่อต้องการให้เกษตรกรได้มีแหล่งผลิตอาหารที่อุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ตลอดไป