ช.การช่างเดินหน้าสร้างเขื่อนหลวงพระบาง กั้นน้ำโขงในลาวอีก ผลิตไฟฟ้าป้อน กฟผ.เหมือนเคย เตรียมอพยพชาวบ้านใน 3 แขวง วันที่19 ก.ย. 62 แหล่งข่าวจากคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงหรือเอ็มอาร์ซี เปิดเผยว่า ภายหลังจากการประชุมคณะกรรมการร่วม 4 ประเทศ ของเอ็มอาร์ซีเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ณ กรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป.) ลาว คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติลาว (LNMC) ได้ยื่นเอกสารต่อสำนักงานเลขาธิการแม่น้ำโขง (MRCs) เพื่อขอให้มีการจัดกระบวนการแจ้ง ปรึกษาหารือล่วงหน้า หรือเรียกว่า PNPCA process กรณีโครงการเขื่อนหลวงพระบาง (Luang Prabang Hydropower project) โดยให้เริ่มกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า ในวันที่ 9 ตุลาคม 2562 นี้ โดยฝ่ายสำนักงานเลขา MRCs การเตรียมกระบวนการ PNPCA ของโครงการเขื่อนหลวงพระบาง และฝ่ายสำนักงานเลขา MRCs ได้แจ้งการประชุมเพื่อเตรียมแผนปฏิบัติการร่วม (JAPs) สำหรับทั้งโครงการเขื่อนปากแบง และโครงการเขื่อนหลวงพระบาง ไปพร้อมกัน แหล่งข่าวกล่าวว่า โครงการเขื่อนหลวงพระบาง เป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้า ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 1,410 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่บนแม่น้ำโขง เหนือบริเวณถ้ำติ่งและปากแม่น้ำอู ขึ้นไปประมาณ 4 กิโลเมตร และตั้งอยู่ห่างจากเมืองหลวงพระบาง ทางเหนือแม่น้ำโขงประมาณ 30 กิโลเมตร ข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ผู้บริหารของบริษัทช.การช่าง มหาชน จำกัด ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่ามีความสนใจที่จะลงทุนในการก่อสร้างเขื่อนหลวงพระบาง และอยู่ในระหว่างการเจรจากับรัฐบาลาว ต่อมาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 สำนักข่าววิทยุเอเชียเสรีได้รายว่า มีการเตรียมอพยพชาวบ้าน ในเขตเมืองจอมเพ็ด แขวงหลวงพระบาง จำนวน 465 ครอบครัว ใน 10 หมู่บ้าน ไปยังแปลงอพยพของโครงการที่กำลังดำเนินก่อสร้าง ข่าวแจ้งว่า โครงการเขื่อนไฟฟ้าหลวงพระบาง จะส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้งหมด 1,077 ครอบครัว จำนวน 4,600 คน ข้อมูลเบื้องต้นของประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบใน 3 แขวง คือ เมืองจอมเพ็ด แขวงหลวงพระบาง เมืองปากอู แขวงอุดมไซย และเมืองหงสา แขวงไซยะบุรี โดยโครงการเขื่อนหลวงพระบาง เป็นการร่วมทุนของรัฐบาลลาว กับบริษัท ช.การช่าง ของไทย ซึ่งได้ก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีแล้วเสร็จ และบริษัท PetroVietnam Power Corporation ของเวียดนาม แหล่งข่าวกล่าวว่าโครงการเขื่อนหลวงพระบางมีแผนจะผลิตไฟฟ้าส่งมาขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แต่ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดเกี่ยวกับแผนการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าว อนึ่ง กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า PNPCA เป็นกระบวนการตามความตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ. 2538 ซึ่งเริ่มครั้งแรกเมื่อมีการเสนอโครงการเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งมีการคัดค้านจากประเทศท้ายน้ำ คือกัมพูชา และเวียดนาม เรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน จนนำมาสู่การศึกษาของคณะมนตรีแม่น้ำโขง ซึ่งใช้งบประมาณ 4.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และใช้เวลาดำเนินการกว่า 6 ปี มีเป้าหมายเพื่อให้ข้อมูลต่อประเทศสมาชิก คือ กัมพูชา, สปป.ลาว, ไทย และเวียดนาม ทั้งในแง่ผลกระทบด้านบวกและลบของการพัฒนาทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง รวมทั้งแผนก่อสร้างโครงการเขื่อน ทั้งนี้การศึกษาของคณะมนตรีฯ เตือนว่าจะเกิดผลกระทบร้ายแรง และมีต้นทุนจากโครงการเขื่อนในปัจจุบันและในอนาคต เนื่องจากจะนำไปสู่ความสูญเสียอย่างร้ายแรงและข้ามพรมแดน ต่อการทำประมง การไหลของตะกอน และนิเวศบริการ ผลกระทบเหล่านี้จะทำให้ขาดความมั่นคงด้านอาหาร ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อชุมชนตลอดทั่วลุ่มน้ำโขง และจะส่งผลกระทบต่อศักยภาพของประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างในการปฏิบัติตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)