กรมการค้าต่างประเทศยอดใช้สิทธิ์ FTA-GSPรอบ 7 เดือนปี 62 มีมูลค่า 4.21 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 1.05 รับผลกระทบสงครามการค้า ระบุอาเซียนนำโด่งสูงสุด แนะใช้สิทธิ์ FTA อาเซียน-จีน ทดแทนสินค้ามะกันที่ถูกจีนขึ้นภาษี ส่วนการใช้สิทธิ์ GSP มีมูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.61 มะกันครองอันดับหนึ่ง นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ในช่วง 7 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-ก.ค.) มีมูลค่า 42,129.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นอัตราการใช้สิทธิประโยชน์อยู่ที่ร้อยละ 77.33 ลดลงร้อยละ 1.05 โดยแบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA จำนวน 12 ฉบับ ยังไม่รวมอาเซียน-ฮ่องกงที่เพิ่งจะมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.62 มีมูลค่า 39,079.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 78.25 ของมูลค่าการส่งออกที่ได้สิทธิประโยชน์ ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 49,944 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยลดลงร้อยละ 2.32 และการใช้สิทธิ GSP จำนวน 4 ระบบคือ สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ มีมูลค่า 3,050.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็น ร้อยละ 67.27 ของมูลค่าการส่งออกที่ได้สิทธิประโยชน์รวม ซึ่งมีมูลค่า 4,534.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.61 สำหรับตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง FTA สูงสุด 5 อันดับแรกได้แก่ อาเซียน มูลค่า 14,212.71 ล้านดอลลารสหรัฐ,จีนมูลค่า 10,740.51 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ,ออสเตรเลียมูลค่า 4,747.98 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ,ญี่ปุ่นมูลค่า 4,470.00 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และอินเดียมูลค่า 2,654.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรกได้แก่ รถบรรทุก ทุเรียนสด ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ผลไม้ประเภทฝรั่ง มะม่วง และมังคุดสดหรือแห้ง และน้ำตาลจากอ้อย ทั้งนี้หากพิจารณายอดการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าในช่วง 7 เดือนลดลงร้อยละ 2.32 พบว่าเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 มีสาเหตุมาจากการส่งออกบางตลาดลดลง เพราะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และเงินบาทแข็งค่า ทำให้การส่งออกไปตลาดสำคัญคือ อาเซียน ออสเตรเลีย ชิลี เกาหลีใต้ลดลง จึงมีการใช้สิทธิประโยชน์ลดลงตามไปด้วย และเมื่อประเมินภาพรวมการใช้สิทธิประโยชน์ในช่วง 7 เดือนที่มีมูลค่า 42,129.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 52 ของเป้าหมายมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายในการที่จะบรรลุเป้าหมายที่กรมการค้าต่างประเทศตั้งไว้ทั้งปี 2562 ที่มูลค่า 81,025 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 แต่กรมฯ จะเดินหน้าผลักดันให้มีการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าอย่างเต็มที่ต่อไป อย่างไรก็ตามตลาดที่กรมการค้าต่างประเทศคาดว่าจะผลักดันให้มีการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าเพิ่มขึ้น คือ จีน โดยไทยสามารถส่งออกสินค้าไปยังจีน เพื่อทดแทนสินค้าจากสหรัฐฯที่ถูกจีนขึ้นภาษี เพราะพบรายการสินค้าบางรายการมีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่อัตราการใช้สิทธิฯ ยังไม่สูงมากนักเช่น อาหารปรุงแต่งอื่นๆใช้สิทธิเพียงร้อยละ 76.65 เครื่องอัดลมหรืออัดก๊าซอื่นๆ ร้อยละ 57.88 ทับทิม แซปไฟร์และมรกต ร้อยละ 13.70 เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณที่เป็นของเทียมอื่นๆ ร้อยละ 2.61 นอกจากนี้ยังมีกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมต้นน้ำที่มีศักยภาพในการส่งออก แต่ยังใช้สิทธิฯ ได้ไม่เต็มที่ภายใต้กรอบ FTA ได้แก่ เส้นใยโพลีเอสเทอร์ ร้อยละ 4.04 เดนิม ร้อยละ 54.37 และส่วนประกอบและอุปกรณ์เครื่องจักรสำหรับวัดหรือตรวจสอบของเครื่องฉายโพรไฟล์ ร้อยละ 36.52 เป็นต้นง ส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ GSP ในช่วง 7 เดือน สหรัฐฯยังคงมีสัดส่วนการใช้สิทธิ์มากที่สุดคือ ร้อยละ 91.79 ของมูลค่าการใช้สิทธิ์ GSP ทั้งหมด โดยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ อยู่ที่ 2,799.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีอัตราการใช้สิทธิร้อยละ 75.96 ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ์ GSP ซึ่งมีมูลค่า 3,685.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.96 รองลงมาคือ สวิตเซอร์แลนด์ มีมูลค่าการใช้สิทธิ์อยู่ที่ 155.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีอัตราการใช้สิทธิ์ร้อยละ 26.69 จากมูลค่าที่ได้รับสิทธิ์ 580.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นรัอยละ 5.36 โดยสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรกได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ ถุงมือยาง เครื่องดื่มอื่นๆ ชิ้นส่วนยานยนต์ และเลนส์แว่นตา ทั้งนี้กรมการค่าต่างประเทศมีแผนที่จะเผยแพร่และประชาสัมพันธ์เพื่อเชิญชวนผู้ประกอบการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA และ GSP โดยเฉพาะความตกลง FTA อาเซียน-จีน ที่จะต้องขอใช้ Form E เพื่อประกอบการขอลดหย่อนภาษีนำเข้าสินค้าที่ประเทศปลายทาง (จีน) มากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการที่สนใจจะใช้สิทธิดังกล่าวจำเป็นจะต้องศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าและหลักเกณฑ์การขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form E) อย่างละเอียด เพื่อจะได้สามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงได้อย่างถูกต้อง