ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นบินสำรวจสภาพอ่างเก็บน้ำและพื้นที่การเกษตรที่บุรีรัมย์ พบหลายอ่างยังมีปริมาณน้ำน้อยไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของความจุ เร่งวางแผนทำฝนหลวงเพิ่มปริมาณน้ำในอ่าง และช่วยเหลือพื้นที่นาข้าวของเกษตรกรที่ยังขาดน้ำหล่อเลี้ยง วันนี้(18 ก.ย.62) น.ส.วาสนา วงษ์รัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมเหน้าที่เกษตรและสหกรณ์ืื​ จ.บุรีรัมย์ และสื่อมวลชน ได้ขึ้นบินสำรวจสภาพอ่างเก็บน้ำและพื้นที่การเกษตรที่จังหวัดบุรีรัมย์ หลังได้รับการร้องขอให้ทำฝนหลวงช่วยเหลือ ซึ่งจากการขึ้นบินสำรวจก็พบว่าอ่างเก็บน้ำสำคัญหลายแห่งใน จ.บุรีรัมย์ เช่น อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก อ่างเก็บน้ำห้วยตลาด​ อ.เมือง​บุรีรัมย์​ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิตประปาหล่อเลี้ยงเขตเศรษฐกิจและประชาชนในตัวเมืองบุรีรัมย์ รวมถึงอ่างเก็บน้ำหนองทะลอก ที่ใช้ผลิตประปาหล่อเลี้ยงประชาชนในตัว อ.นางรอง ยังมีปริมาณน้ำน้อยมากเหลือไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของความจุอ่างเท่านั้น ส่วนพื้นที่การเกษตรกรโดยเฉพาะนาข้าวก็ยังมีความต้องการน้ำหล่อเลี้ยง ซึ่งหลังจากบินสำรวจแล้วจะได้นำข้อมูลไปวางแผน เพื่อเร่งออกปฏิบัติการบินโปรยสารเคมีทำฝนหลวงเติมปริมาณน้ำในอ่าง และช่วยเหลือพื้นที่นาข้าวของเกษตรกรที่ยังประสบภัยแล้งขาดแคลนน้ำ โดยขณะนี้มีหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในภาคอีสานอยู่ 3 แห่ง หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.ขอนแก่น นครราชสี และ จ.สุรินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ถึงแม้ช่วงนี้บางจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะประสบปัญหาน้ำท่วม โดยเฉพาะที่ จ.อุบลราชธานี แต่ก็ยังมีอีกหลายจังหวัดของภาคอีสาน เช่น จ.เลย ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และ จ.สุรินทร์ ที่ยังประสบปัญหาภัยแล้งปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่จะเหลือน้ำไม่ถึงร้อยละ 30 ของความจุอ่าง ดังนั้นภารกิจหลักของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง คือ ต้องเร่งทำฝนหลวงเพื่อเติมปริมาณน้ำในอ่าง และช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร โดยมีเป้าหมายจะดำเนินการทำฝนหลวงไปจนถึงกลางเดือน ต.ค. หรือจนกว่าจะไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและธรรมชาติด้วย แต่ก็ยืนยันว่าจะดำเนินการช่วยเหลืออย่างเต็มที่