“วันนอร์” ยกมาตรฐานจริยธรรม เล่นงาน “บิ๊กตู่” ปมถวายสัตย์ฯ เตรียมยื่น “ชวน” ส่งต่อป.ป.ช. ฟันไต่สวน แนะยืดอกลาออก เหมือนตอนขอยึดอำนาจ ล้างรุงรังเริ่มใหม่หมด วันที่ 18 ก.ย.นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ อภิปรายว่า ตนเห็นใจนายกฯ เพราะเป็นครั้งแรกที่เป็นนายกฯ ในระบอบรัฐสภา แต่นอกจากประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการถวายสัตย์ปฏิญาณ ไม่ครบถ้วน และผิดตามรัฐธรรมนูญแล้ว ยังถือว่าปฏิบัติผิดหลักตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 ซึ่งพ.ร.บ.ดังกล่าว มีที่มาตามรัฐธรรมนูญ ปี 60 ไม่ได้ออกมาตามใจใคร แต่ออกมาตามมาตรา 219, 234, 235, 235, และ 237 (1) ซึ่งพ.ร.บ.นี้ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารประมวลจริยธรรม ที่มีนายกฯ เป็นประธาน ซึ่งนายกฯ อาจยังไม่ได้มีการประชุม แต่นายกฯ ต้องทราบว่าถ้าเป็นประธานแล้วไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมถือว่าผิดอย่างรุนแรง เพราะบังคับครอบคลุมทั้งส.ส. ส.ว. และองค์กรกลางทั้งหลายทั่วประเทศ ดังนั้นพวกตนก็อยู่ในประมวลจริยธรรมนี้ด้วย “แต่ถ้าประธานไม่ปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมนี้ ก็ถือว่าผิดอย่างร้ายแรง ในอนาคตถ้าพวกผมโดนฟ้องในกรณีเหล่านี้ ก็อาจอ้างได้ว่านายกฯเอง ก็ยังไม่ปฏิบัติตามเลย รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผมลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อประกาศใช้แล้ว ผมก็ต้องปฏิบัติตาม แต่นายกฯ เป็นคนให้เขาเขียนให้เขาร่างขึ้นมา แล้วจะไม่ปฏิบัติตามได้อย่างไร ผมสุดจะอธิบาย สุดจะบรรยายออกมาเป็นคำพูด” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ยังได้ออกระเบียบว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 219 ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องปมถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วน ดังนั้นนายกฯ ต้องขึ้นศาลฎีกา ซึ่งอาจทำให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี อาจถูกระเบียบนี้ฟ้อง และดำเนินคดีด้วย เพราะระเบียบนี้กำหนดให้มีคณะกรรมการไต่สวนอิสระที่มีความเป็นกลางทางการเมือง ไม่ใช่คนที่นายกฯ แต่งตั้ง เพราะคนเหล่านั้นจะเกรงใจนายกฯ และไม่เป็นกลาง ซึ่งตนขอชมเชยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาในเรื่องนี้ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวด้วยว่า ขณะที่ช่องทางการร้องเรียนนั้น จะต้องใช้ส.ส. จำนวน 1 ใน 5 ของทั้ง 2 สภา คือทั้งส.ส. และส.ว. จำนวน 150 คน คือตน และฝ่ายค้าน จะยื่นร้องต่อประธานสภา ซึ่งประธานสภาจะรวบรวมคำร้อง และเอกสารส่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินคดีทุจริต หากพบว่ามีมูลก็จะส่งไปที่ศาลฎีกา เพื่อตั้งคณะไต่สวนพิเศษ ดังนั้นเมื่อเรื่องอยู่ในขั้นไต่สวนแล้ว ผู้ถูกร้องคือนายกฯ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันทีจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยออกมา ถ้าไม่ผิดก็ปฏิบัติหน้าที่ได้ตามเดิม “ผมมีข้อชี้แนะว่า สั้นๆ และง่ายๆ ว่าถ้านายกฯ อยู่ก็ยืนขึ้น แล้วพูดว่า ผมขอลาออกจากตำแหน่งนายกฯ เหมือนกับตอนรัฐประหารที่ท่านประกาศว่าผมขอยึดอำนาจ แต่ตอนนี้ไม่มีสิทธิ์พูดแล้ว เพราะไม่มีกำลัง แต่อาจจะมีก็ได้ เพราะฉะนั้นการลาออกวันนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นนายกฯ ต่อไปไม่ได้ เพราะสามารถกลับมาใหม่ได้ การลาออกสามารถลบสิ่งที่พะรุงพะรังนี้ออกไปได้ นายกฯ ไม่ต้องกลัวเรื่องเสียงปริ่มน้ำ อย่างไรก็ได้เป็นนายกฯ อีกรอบ และสามารถปรับครม.ใหม่ได้ คนที่มีปัญหาก็ตัดออกไป แล้วนำครม. ใหม่เข้าไปถวายสัตย์ฯ ใหม่ ให้ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญกำหนด ก็ไม่มีปัญหาอะไร การเดินทางไปประชุมต่างประเทศนายกฯ สามารถให้รัฐมนตรีต่างประเทศไปก็ได้ นายกฯ ควรเอาเวลามาดูน้ำท่วม” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว