สส.เสริมศักยภาพบุคลากรท้องถิ่นทั่วประเทศ ร่วมขับเคลื่อน 3Rs ประชารัฐ สู่การยกระดับเป็นจังหวัดต้นแบบและแหล่งเรียนรู้ Zero Waste
วันนี้ (16 ก.ย. 2562) นายสุรชัย อจลบุญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.)
เป็นประธานการอบรมเพิ่มศักยภาพการจัดการขยะที่ต้นทางตามหลักการ 3Rs ประชารัฐ ครั้งที่ 2 ณ โรงแรมเชียงใหม่ ออร์คิด จ. เชียงใหม่ เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในการลด คัดแยก และนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน พร้อมส่งเสริมให้จังหวัดขับเคลื่อนการบริหารจัดการขยะที่เหมาะสม ตลอดจนยกระดับจังหวัดสู่การเป็นต้นแบบและแหล่งเรียนรู้เพื่อขยายผลความสำเร็จสู่ท้องถิ่นอื่น
นายสุรชัย อจลบุญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญ
ต่อการจัดการปัญหาขยะ โดยมีมติเห็นชอบ “แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ”
(พ.ศ. 2559 – 2564) เพื่อเป็นแนวทางขับเคลื่อนประเทศไทย สู่การเป็นสังคมปลอดขยะ (Zero Waste Society) ภายใต้แนวคิด 3Rs-ประชารัฐ ส่งเสริมการจัดการขยะที่ต้นทาง โดยการลดปริมาณขยะ (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) การนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อวางรากฐานการดำเนินการจัดการขยะให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน การส่งเสริมให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจัดการขยะ ด้วยพลังประชารัฐ ร่วมกันลดปริมาณการเกิดขยะตั้งแต่ต้นทาง จึงนับเป็นมาตรการสำคัญที่จะทำให้ปัญหาปริมาณขยะลดลงได้อย่างยั่งยืน และการอบรมครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยให้เกิดการขยายผลการจัดการขยะที่ต้นทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเกิดการมีส่วนร่วมในการลดปริมาณและคัดแยกขยะ นำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ ทั้งในระดับบุคคล ระดับครัวเรือน ระดับชุมชน และระดับท้องถิ่น ได้ดียิ่งขึ้นต่อไป
ทั้งนี้ ในปี 2561 คนไทยสร้างขยะ 27.82 ล้านตันต่อปี หรือประมาณ 76,200 ตันต่อวัน โดยเฉลี่ย 1 คน สร้างขยะ 1.17 กก.ต่อวัน ซึ่งขยะประมาณ 7.15 ล้านตันยังกำจัดไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะการกำจัดแบบเทกองหรือเผากลางแจ้ง การลักลอบทิ้งในพื้นที่สาธารณประโยชน์ และการทิ้งลงสู่แหล่งน้ำ ทำให้มีขยะมูลฝอย
จากบกปะปนและตกค้างอยู่ในทะเลเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ขยะที่พบในชุมชนประมาณ 2 ล้านตันเป็นขยะพลาสติกที่สามารถเข้าสู่ระบบรีไซเคิลเพียง 5 แสนตัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขวดพลาสติก ที่เหลืออีก 1.5 ล้านตัน เป็นถุงพลาสติกประมาณ 1.2 ล้านตัน และเป็นพลาสติกอื่นๆ เช่น แก้ว กล่อง ขวด ฝาจุก เป็นต้น ซึ่งภาครัฐได้กำหนดมาตรการลดและเลิกใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single – use Plastic) 7 ประเภท โดยภายในปี 2562 เลิกใช้ พลาสติกหุ้มฝาน้ำดื่ม (Cap Seal) พลาสติกที่มีส่วนผสมของสารออกโซ (Oxo) และไมโครบีดจากพลาสติก (Microbead) และเลิกใช้ถุงพลาสติกความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วน้ำพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง และหลอดพลาสติก ภายในปี 2565 ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ให้ความสำคัญและเร่งรัดการดำเนินงานอย่างจริงจังเพื่อให้บรรลุผลตาม Roadmap ที่เร็วขึ้น โดยร่วมมือกับห้างสรรพสินค้ารายใหญ่และร้านสะดวกซื้อกว่า 43 แห่ง งดให้บริการถุงพลาสติกกับลูกค้า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นไป โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยปลอดขยะพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single use) ในปี 2564
การจัดอบรมเพิ่มศักยภาพการจัดการขยะที่ต้นทาง ตามหลักการ 3Rs ประชารัฐ ที่จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 15 – 16 กันยายน 2562 ในครั้งนี้ จึงเป็นการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในการลด คัดแยก และนำขยะในชุมชนกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ด้วยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ตลอดจนส่งเสริมให้จังหวัดมีการขับเคลื่อน
การบริหารจัดการขยะที่เหมาะสม ยกระดับจังหวัดสู่การเป็นต้นแบบและแหล่งเรียนรู้เพื่อขยายผลความสำเร็จสู่ท้องถิ่นอื่นต่อไป ซึ่งผู้เข้ารับการอบรม ประกอบด้วย ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจาก 76 จังหวัด และผู้แทนจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 – 16 รวมกว่า 120 คน โดยกิจกรรม มีทั้ง การศึกษาดูงานการจัดการขยะต้นทาง ณ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านป่าตึงงาม จ. ลำพูน การถอดบทเรียนความสำเร็จการจัดการขยะที่ต้นทาง
ตามหลักการ 3Rs ประชารัฐ โดยทีมวิทยากร จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ รวมถึงการการเสวนาแนวทางและนวัตกรรมขับเคลื่อนการจัดการขยะต้นทาง 3Rs ประชารัฐ ในประเด็น นโยบายการขับเคลื่อนจังหวัดสะอาด ปลอดขยะเปียก ปลอดโฟม จ. ลำพูน ศูนย์เรียนรู้ชุมชนปลอดขยะบ้านโป่งศรีนครระดับประเทศ: สุขภาพดี มีตังค์ ยั่งยืน จ. เชียงราย ขยะพลาสติก...สู่ถนนรีไซเคิล และเทคโนโลยีการทำปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกอง “วิศวกรรมแม่โจ้ 1” รองอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าว


