อท.-ชาวบ้าน-นักวิชาการ-นักการเมือง ร่วมกันหาทางออกให้ผืนป่าแก่งกระจานชาวกะเหรี่ยงบางกลอยยินดีสนับสนุนให้เป็นมรดกโลกแต่ต้องให้เกียรติชนพื้นเมืองดั้งเดิม วันที่ 16 ก.ย.62 ที่มหาวิทยาลัยรังสิต ได้มีพิธีรำลึกถึงบิลลี่และเสวนาวิชาการ เรื่องปัญหาสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยงแห่งบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน กับการขึ้นทะเบียน “ผืนป่าแห่งกระจาน”เป็นมรดกโลก โดยน.ส.สุนีย์ ศักดิ์เสือ ผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช(อท.)กล่าวว่าในส่วนของกลุ่มป่าแก่งกระจานซึ่งได้มีมติควรเสนอเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติซึ่งอท.ได้ดำเนินการโดยเสนอพื้นที่คุ้มครองรวม 4.8 พันตารางกิโลเมตร โดยผืนป่าแห่งนี้มีสัตว์เป็นชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่สำคัญ เช่น เสือ จระเข้ ช้าง โดยเมื่อปี 2557 ไอยูซีเอ็นได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปประเมินโดยได้ให้คำแนะนำหลายด้าน จนกระทั่งปี 2558 จึงได้มีมติ ทั้งนี้กระบวนการนำเสนอของอท.อาจมีการตกหล่น เพราะเราเน้นเรื่องการดูและทรัพยากร เรามองพืชและสัตว์ซึ่งอาจลืมชุมชนในพื้นนี่ไป แต่อย่างไรก็ตามหลังจากที่การประชุมมรดกโลกครั้งที่ผ่านมาได้ส่งคำแนะนำกลับมาให้เราได้หารือแบบเปิดกว้าง น.ส.สุนีย์กล่าวว่า เราได้จัดประชุมในพื้นที่ 4 ครั้งโดยมีผู้แทนจาก 4 พื้นที่และเราไม่มองไปที่กลุ่มชาติพันธุ์โดยเฉพาะ แต่มองโดยภาพใหญ่ในกลุ่มคนที่อาจได้ผลกระทบทั้งหมด เพื่อให้เห็นว่าเราตั้งใจดูแลรักษาพื้นที่ ต้องไม่ลืมว่ากรมอุทยานฯเพิ่งผ่านกฎหมายหลัก 2 ฉบับ ที่ให้คนอยู่กับป่าอยู่แบบไม่ถูกกฎหมาย ในฐานะของอท.เราคงต้องมองว่า แต่ละแห่งไม่ได้มีกฎหมายใดๆในการบังคับให้เป็นมรดกโลก การเป็นมรดกโลกเหมือนกับคำมั่นสัญญาว่าเราจะดูแลผืนป่านั้นอย่างไร ดังนั้นเราจึงต้องมีแผนงานชัดเจนตามกฎหมายใหม่ เช่น ในการพิสูจน์สิทธิ์ในการดูแลชาวบ้านอย่างไร ซึ่งได้รับรายงานจากหัวหน้าอท.ว่าได้สำรวจเรียบร้อยแล้วเพื่อให้ชุมชนอยู่ได้อย่างสมดุล “เราไม่ได้รีบร้อนที่จะเสนอกลับไป แต่พร้อมที่จะรับฟังเพื่อให้ได้ข้อสรุป เราอยากให้ทุกคนอยู่กันอย่างเกื้อกูล ขณะที่พื้นที่ก็ยังอุดมสมบูรณ์ ป่าไม้ยังอยู่ พี่น้องอยู่ดีกินดีกันตามวิถี ทางอท.พร้อมทำงานร่วมกับพี่น้องอยู่แล้ว”น.ส.สุนีย์ กล่าว นายวุฒิ บุญเลิศ ผู้แทนเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตตะนาวศรี กล่าวว่า เราได้ทำหนังสือส่งให้ประชาคมโลกรู้ว่าในผืนป่าแก่งกระจาน นอกจากสังคมพืชและสังคมสัตว์แล้ว มีสังคมมนุษย์อยู่ด้วยเพราะที่ผ่านมาไม่มีเรื่องของมนุษย์อยู่ในเอกสารราชการ อท.จึงมองในเรื่องการพักผ่อน วิธีคิดกับการมองพื้นที่จึงทำให้มีการจัดการแบบนั้นและไม่ได้มองสังคมมนุษย์ในพื้นที่ อท.พูดถึงมนุษย์ไว้ไม่กี่บรรทัดและเห็นก็ถูกเบี่ยงเบนด้วยคำเรียกอื่นๆ เช่น กะหร่าง นำมาซึ่งทัศนคติและความคิดต่างๆ ซึ่งนานาชาติให้ความสำคัญกับมนุษย์จึงตีกลับมา ถือว่าติดกระดุมเม็ดแรกผิดไปตั้ง 3 ครั้ง “ที่บางกลอยวัฒนธรรมข้าวถูกทำลาย ถ้าแก้ปัญหาได้คือแก้ให้พื้นที่ให้เกิดความสมดุลก่อน เพราะไร่หมุนเวียนทำให้พื้นที่สมบูรณ์และทำให้ชาวบ้านมีข้าวกิน มรดกทางวัฒนธรรมจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าคนไม่มีข้าวกิน ไม่ใช่ว่าผมไม่เคยบอก เคยจัดเวทีและบอกไปแล้ว ผมเชื่อว่ามันยังขาดความไว้เนื้อเชื่อใจเพราะการถูกกระทำในพื้นที่ยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จึงต้องหาคนที่ไว้เนื้อเชื่อใจมาหารือกัน”นายวุฒิ กล่าว และเสนอว่า 1.กลับมาใส่เสื้อกะเหรี่ยงคือไว้ใจวิถีวัฒนธรรมกะเหรี่ยง เพราะทำให้เห็นวัฒนธรรมกะเหรี่ยง ถ้าการตัดกระดุมหลายเม็ดยาก ลองกลับมาสวมเสื้อกะเหรี่ยงดู2.เรื่องไร่หมุนเวียนกระบวนการก็ยังไม่ชัด ยังไม่ได้ออกมาในรูปแบบประชาวิจารณ์ จะต้องสะสมชัยชนะร่วมกัน 3.สถานการณ์ในพื้นที่ยังไม่นิ่ง ด้วยบรรยากาศแบบนี้จึงต้องหาคนนอกมาช่วยกัน นายวีระ สังขวิมล ผู้อาวุโสชาวปกาเกอะญอบ้านสะเนพ่อง ต.ไล่โว่ อ.สังขละบุรีจ.กาญจนบุรีซึ่งอยู่ในพื้นที่มรดกโลกกล่าวว่าเราอยู่ในป่ากันมานาน หากินกับป่าเหมือนลิงค่าง แต่เจ้าหน้าที่ไม่รู้ว่าเราอยู่กินอย่างไรคิดว่าโค่นป่าอย่างเดียว ถ้าเช่นนั้นจริงไม่กี่ปีป่าก็คงหมด แต่เรามีแค่มีดอีโต้จะโค่นต้นไม้ใหญ่ได้อย่างไร ก่อนหน้านี้ชาวบ้านไม่รู้ว่าจะประกาศมรดกโลก มีเพียงเจ้าหน้าที่เข้าหมู่บ้านบ่อยขึ้น แรกทีเดียวเขาต้องการย้ายเราออกจากพื้นที่ แต่ถ้าเราออกจากพื้นที่ เราจะไปอยู่ที่หน เขาถามว่าชาวบ้านล่าสัตว์ใช่มั้ย ชาวบ้านบอกว่าใช่เพราะสัตว์ที่มารบกวนในไร่เล็กๆน้อยๆ ไม่ใช่เราไปล่าแต่สัตว์เข้ามาหากินในพื้นที่ของเรา ในที่สุดเราก็พยายามอธิบายเพราะวิถีในเมืองกับวิถีในป่าไม่เข้าใจกัน เราต้องอธิบายให้คนเมืองเข้าใจวิถีชีวิตคนในป่าก่อน สุดท้ายเขาก็เข้าใจ แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังจ้องชาวบ้านอยู่และเราต้องค่อยๆอธิบายให้เขารู้ จริงๆแล้วเจ้าหน้าที่กับชาวบ้านต้องทำงานร่วมกันโดยเจ้าหน้าที่ต้องไปเรียนรู้จากชาวบ้านแล้วมาวางแผน นายพงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ชาวบ้านกะเหรี่ยงชุมชนบางกลอย กล่าวว่าทุกวันนี้เราไม่สามารถทำระบบได้หมุนเวียนได้ เดิมเราเคยปลูกพืชแบบผสมผสาน แต่ต้องมาทำไร่เชิงเดี่ยว เช่น มะนาว ทุเรียน ชาวบ้านบางส่วนไม่สามารถทำได้ ยังมีชาวบ้านอีก 80 ครอบครัวที่ไม่มีที่ทำกิน ตอนนี้นาขั้นบันไดก็ไม่ได้ปลูกข้าว ส่วนใหญ่ข้าวต้องซื้อจากร้านค้า ชาวบ้านบางส่วนจึงต้องออกมารับจ้าง และที่ทำกินบางส่วนเป็นหินและห่างจากน้ำ ทำให้เพาะปลูกไม่ได้ผล “ก่อนมาเวทีนี้มีชาวบ้านกว่า 30 ครอบครัวต้องการมาด้วย แต่ลำบากเรื่องการเดินทาง พวกเขาฝากมาบอกว่า อยากกลับไปอยู่ที่ใจแผ่นดิน หรือบางกลอยบน จะให้เขากลับไปอยู่ได้หรือไม่” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ นักวิชาการอิสระกล่าวว่าการดูแลรักษาป่าไม่ว่ารูปแบบใดก็ต้องปกป้องวัฒนธรรมคือให้ชุมชนและสังคมเข้าไปมีบทบาทสำคัญ มรดกโลกถูกหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญเพราะเขารู้ว่าเกือบร้อยปีที่ผ่านไม่สามารถปกป้องสัตว์ป่าและผืนป่าได้ด้วยกฎหมายและเครื่องมือปัจจุบันเพราะทุกตารางนิ้วสัมพันธ์กันหมด จึงต้องสร้างกุศโลบายให้พลังภายในสามัคคีกันก่อนถึงจะให้พลังจากข้างนอกมาเติม ดังนั้นกระบวนการภายในจึงสำคัญมาก ทุกประเด็นต่างเชื่อมกับชุมชนทั้งสิ้น นิยามเรื่องชายแดนในวันนี้ไม่เหมือนในอดีต คนทั้งสองฝั่งต่างเป็นพี่น้องกัน ดร.เพิ่มศักดิ์กล่าวว่า เราพลาดสิ่งที่มีคุณค่าในป่าผืนนี้มากมายและเรื่องนี้ไม่สามารถตอบกันบนโต๊ะได้แต่เป็นเรื่องของกระบวนการ ดังนั้นจึงต้องเริ่มกระบวนการใหม่ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับชุมชน และเชื่อว่าไอยูซีเอ็นจะเป็นตัวช่วยที่สำคัญ และสุดท้ายเรื่องของชุมชนไม่ใช่แค่เรื่องของใจแผ่นดินหรือบางกลอยเท่านั้น “ผมเข้าไปในป่าแก่งกระจานทุกครั้งรู้สึกเศร้า วันนี้ต้องตั้งคำถามว่าเราจะเดินไปข้างหน้าอย่างไร ทำอย่างไรถึงเกิดการมีส่วนร่วม สิ่งที่ชาวบ้านทำดีอยู่แล้ว ทำอย่างไรถึงร่วมกับเจ้าหน้าที่ได้ ผมไม่เคยเห็นใครขึ้นมาคัดค้านการขึ้นเบียนมรดกโลกมีแต่คำแนะนำดีๆ วันนี้มรดกโลกของแก่งกระจานคือความอยู่ดีมีสุขของชุมชน ประเด็นนี้จึงน่าจะเป็นโอกาสที่อท. ฝ่ายปกครอง ฝ่ายการเมือง และผู้ที่เกี่ยวข้องได้มีหารือกัน อยากเห็นกรมอุทยานฯถอยออกมา แล้วเปิดโอกาสให้ฝ่ายอื่นๆก้าวเข้าไปบ้าง”ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าว ดร.เพิ่มศักดิ์กล่าวว่า หากพูดกับกะเหรี่ยงไม่รู้เรื่องก็รู้ว่าคุยกันใครแล้ว และทุกประเด็นมีปัญหา ควรเอาขึ้นมาบนโต๊ะ อย่าเอาแค่เจ้าหน้าที่และชาวบ้านมาคุยกันเท่านั้น แต่ควรมีกระบวนการไกล่เกลี่ยโดยคนกลาง อุทยานและชาวบ้านต้องเท่ากันและคุยกันทุกเรื่อง เราต้องมีตัวช่วยเพื่อเชื่อมให้วงกลมที่ห่างกันเคลื่อนเข้าหากันซึ่งเป็นทางเดียวที่ทำให้ความฝันของชาวบ้านและเจ้าหน้าที่อท.เป็นจริง สุดท้ายสิ่งที่ยากมากๆของสังคมไทยคือกฎกติกาที่ต้องอิงกฎหมาย ถ้ากฎหมายไม่เอื้อก็ต้องแก้ไข ถ้าแก้ไขปัญหาแก่งกระจานสำเร็จจะนำไปสู่คลี่คลายความขัดแย้งและนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างรัฐและชาวบ้าน นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่าตอนนี้ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าผืนป่าแก่งกระจานควรเป็นมรดกโลกด้วยมิติที่มีจิตวิญญาณให้คนอยู่กับป่า อยากให้รัฐบาลมอง 2 ส่วนคือนอกจากออกกฎหมายใหม่ 2 ฉบับแล้ว อยากให้มองเรื่องอนุสัญญาต่างๆที่ทำไว้กับสหประชาชาติ ทั้งเรื่องสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองและสิทธิมนุษยชน หากนำมาวิเคราะห์กับมติคณะรัฐมนตรีเรื่องการคุ้มครองวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงและชาวเลก็จะดีมาก ทำอย่างไรให้ชุมชนดั้งเดิมในพื้นที่ขึ้นทะเบียนมรดกโลกได้ดำเนินตามวิถีวัฒนธรรม “ได้มีโอกาสคุยกับปู่คออี้หลายครั้ง ท่านบอกว่าการไร่ข้าวไม่ได้เปิดหน้าดิน แต่เป็นการตัดไม้สูงกว่า แล้วหยอดเมล็ดข้าว แตกต่างจากการเปิดหน้าดินที่ทำให้แผ่นดินร้อน ลูกหลานของปู่จึงควรสืบสานการทำไร่หมุนเวียน ”นางเตือนใจ กล่าว นางสาวิตรี สุวรรณสถิต ผู้ทรงคุณวุฒิประจำคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก กล่าวว่าเรื่องไร่หมุนเวียนกระรวงวัฒนธรรมได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญา ส่วนเรื่องมรดกโลกกรณีแก่งกระจานเป็นกรณีศึกษาเพราะมีการร้องเรียนไปยังคณะกรรมการมรดกโลกซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่ได้มาจากรัฐบาล ดังนั้นจึงอยากให้มีการพูดกันเองให้เรียบร้อยก่อน ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (ไอยูซีเอ็น)ประจำประเทศไทยกล่าวว่า ไม่อยากให้มรดกโลกเป็นแค่เครื่องประดับของประเทศ อยากให้ได้มาอย่างมีศักดิ์ศรี และขอให้เป็นมรดกของชุมชนและของชาติก่อนได้หรือไม่ อยากให้ทุกคนภาคภูมิใจและหวงแหนโดยเป็นเจ้าของ เราควรถือว่าเป็นโอกาสในแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ ถ้าเราไม่ถือโอกาสนี้เราก็จะพลาดโอกาสในการสร้างทัศนคติใหม่หรือแก้ไขความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง เช่น เรื่องไร่หมุนเวียนถูกมองว่าเป็นไร่กะเหรี่ยง ควรมีการพูดคุยเพื่อไม่ให้เกิดการเข้าใจผิด สุดท้ายยุทธศาสตร์ชาติการใช้ประโยชน์ที่ดินบนฐานของระบบนิเวศและภูมิวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่สำคัญ ควรมีการพูดคุย เจรจาให้อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง และอิงกับกฏหมายที่มีอยู่เพื่อให้มีทางออกร่วมกัน นายสมพร เมาศรี ชาวกะเหรี่ยงบ้านไล่โว่ จ.แก่งกระจาน กล่าวว่า การเป็นมรดกโลกประโยชน์ถึงเราแทบไม่มี เราไม่รู้ว่าก่อนประกาศได้ตั้งใจหรือไม่ว่าให้ชุมชนอยู่ที่นั่น เหตุถึงไม่กันพื้นที่ของชุมชนกะเหรี่ยงไล่โว่ ไม่รู้ว่าเป็นความตั้งใจหรือละเลย ที่สำคัญปัญหาคือทำไมไม่ประกาศเราร่วมเป็นมรดกโลกไปด้วย ทำไมไม่มีชื่อเจ้าของบ้านที่ทำบ้านสะอาด แต่ไม่ได้รับการยกย่อง เราจึงไม่อยากให้กระทำเช่นนี้กับผืนป่าแก่งกระจานอีกเลย นายเจริญ รักจงเจริญ ชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอยและพี่ชายบิลลี่ กล่าวว่าชาวบ้านไม่คัดค้านมรดกโลกแต่ขอให้กันแนวเขตให้ชัดเจนเพราะเป็นห่วงว่าเป็นมรดกโลกแล้วจะไม่สานต่อการแก้ไขปัญหา ขณะที่มีคนเฒ่าคนแก่อยากกลับไปอยู่ที่ใจแผ่นดินเพราะเป็นอยู่มาตั้งแต่บรรพบุรุษ ส่วนเด็กรุ่นใหม่อยากได้พื้นที่ทำกินอยากให้จัดแนวเขตชัดเจน อยากได้ที่ดินที่อยู่ใกล้น้ำ นายมานะ เพิ่มพูน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติป่าแก่งกระจาน กล่าวว่า ชาวบ้านเป็นกรรมการร่วมสำรวจพื้นที่พร้อมกับอท.และมีประชุมประชาคม ถ้าเป็นพื้นที่ที่มีร่องรอยใช้ประโยชน์ทำกินก็จะได้รับการคุ้มครอง ในกระบวนการสำรวจของแก่งกระจานได้ประชุมทุกหมู่บ้านไป 66 ครั้งจาก 39 หมู่บ้าน น.ส.กัญจนา ศิลปะอาชา ที่ปรึกษาคณะทำงานยุทธศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าต้องการมาฟังข้อมูลและความในใจของชาวบ้าน ตอนนี้ทส.มีปัญหามากมาย แต่ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เราต้องการเก็บเกี่ยวข้อมูลเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาและเสนอไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เราตั้งใจจริงที่เข้ามาแก้ปัญหา ไม่ว่าพี่น้องกลุ่มใด เราก็อยากให้อยู่อย่างมีความสุข โดยป่าอยู่ได้และคนก็อยู่ได้ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งรู้สึกเห็นใจทุกคนที่ไม่มีโอกาสพูดบ้าง พูดแล้วไม่มีคนฟังบ้าง แต่เราขอรับปากว่าจะเก็บข้อมูลทั้งหมดไปหาทางแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ในช่วงท้ายชาวบ้านบางกลอยได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีทส.โดยผ่านน.ส.กัญจนา ซึ่งเนื้อหาโดยสรุปว่า 1.ในการจัดทำข้อมูลเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกที่ผ่านมายังขาดสาระสำคัญเรื่องของวิถีชีวิตของชุมชนพื้นเมืองดั้งเดิมซึ่งอาศัยและบำรุงรักษาผืนป่าแก่งกระจานมาโดยตลอด รัฐควรทบทวนปรับปรุงและระบุถึงความสำคัญต่อสาระสำคัญที่ขาดหายไป 2.การรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกต้องนั้น สามารถจัดการโดยภาครัฐแต่ฝ่ายเดียว ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนท้องถิ่นในการร่วมกันบริหารจัดการ 3.ยังมีทัศนคติและความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของเจ้าหน้าที่ของรัฐบางส่วนที่มีอำนาจเกี่ยวข้องกับการจัดการดูแลทรัพยากรป่าไม้และที่ดินโดยคิดว่าไร่หมุนเวียนเป็นไร่เลื่อนลอยซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญทำให้ใช้วิธีการที่ไม่เหมาะสมและพยายามให้กะเหรี่ยงออกจากป่า บางครั้งจึงใช้กำลังบังคับโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย “พวกเราต้องการให้ผืนป่าแก่งกระจานและวิถีชีวิตดั้งเดิมได้เป็นมรดกโลกควบคู่กัน พวกเราพร้อมให้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆที่กำลังดำเนินการเรื่องขอเป็นมรดกโลก ซึ่งปัจจุบันเราได้เริ่มกระบวนการสร้างพื้นที่การศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง ดังนั้นจึงอยากเรียกร้องให้หน่วยงานต่างๆยุติการดำเนินการที่ทำให้วิถีชีวิตดั้งเดิมของพวกเราได้รับการกระทบกระเทือน”ในหนังสือระบุ