รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน กรรมการในคณะกรรมการสภาการศึกษา โพสต์เพจเฟซบุ๊กชื่อ Dr.Winai Dahlan ระบุว่า...เนื้อแปรรูป (processed meat) บางครั้งเรียกว่าเนื้อปรุง (cured meat) ได้แก่ ฮ็อทดอก ซาลามี ไส้กรอก เบคอน แฮม พรอสซูโต พาร์มาแฮม เจิร์กกี รวมทั้งแหนม ไส้อั่ว กางปา ช่วงปีนี้ผมเขียนถึงแล้วสองครั้งโดยวันที่ 13 มีนาคม 2562 เขียนเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือด วันที่ 20 พฤษภาคม 2562 เขียนเกี่ยวกับเรื่องอายุขัย คราวนี้ขอเขียนเรื่องเกี่ยวกับมะเร็งสักหน่อย อันที่จริงเรื่องนี้ทาง the International Agency for Research on Cancer (IARC) ซึ่งเป็นองค์กรภายใต้องค์การอนามัยโลกเคยออกคำเตือนเมื่อหลายปีมาแล้วโดยเตือนว่าการบริโภคเนื้อแปรรูปบ่อยครั้งสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ตอนล่างและตอนกลางได้มาก ทั้งเป็นความเสี่ยงในกลุ่มที่ 1 ที่อยู่ในระดับเดียวกับการสูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์ หรือการได้รับแร่ใยหิน เมื่อเตือนกันอย่างนี้จะแนะนำการบริโภคกันอย่างไร คำเตือนกล่าวกันว่ามีงานวิจัยสนับสนุน 800 ชิ้น IARC สรุปว่าหากบริโภคเนื้อแปรรูปขนาด 50 กรัมต่อวันจะทำให้ความเสี่ยงต่อมะเร็งเพิ่มขึ้น 18% สำหรับข้อแนะนำควรดูบริโภคนิสัยของผู้รับประทานเนื้อแปรรูปที่ว่านั้นด้วย ตามปกติผู้ที่นิยมบริโภคเนื้อแปรรูปมักเป็นชาวตะวันตกที่กินอาหารแบบอเมริกันหรือแบบคอนติเนนตัล มีไส้กรอก หรือเบคอน หรือแฮม มีไข่ดาว บวกด้วยกาแฟ น้ำส้ม ขนมปัง ส่วนใหญ่นิยมรับประทานกันในเวลาอาหารเช้า หากเป็นอาหารมื้อเที่ยงกับมักเป็นไส้กรอก เป็นฮ็อทดอกหรือแฟรงเฟอเตอร์ มีพืชผักค่อนข้างน้อย มีโอกาสขาดสารอาหารตัวอื่นได้ง่าย ทำให้ความเสี่ยงต่อมะเร็งมีมากขึ้น การบริโภคเนื้อแปรรูปหากบริโภคมากทุกวัน ร่างกายคงกำจัดสารที่เป็นปัญหาออกไม่ทัน สะสมในร่างกายมากเข้าความผิดปกติย่อมเกิดขึ้น นอกเหนือจากการลดการรับประทานเนื้อแปรรูปแล้ว ยังแนะนำด้วยว่าเมื่ออยากรับประทานมากนักก็ขอให้แนมกับพืชผักในปริมาณที่มากขึ้นโดยต้องระวังเรื่องความสะอาดของพืชผักสักหน่อยเพราะอาจเจอปัญหาสารพิษในผักผลไม้เข้าได้กลายเป็นหนีเสื้อปะจระเข้เสียเปล่าๆ นอกจากนี้การบริโภคนมเพื่อให้ได้แคลเซียมตลอดจนการได้รับแร่ธาตุจากอาหารจะช่วยให้ปัญหาจากสารก่อมะเร็งในเนื้อแปรรูปบรรเทาลง ส่วนการนำเนื้อแปรรูปไปเปรียบเทียบกับบุหรี่ ในเรื่องนี้ควรให้เครดิตกับ IARC เนื่องจากเป็นการเปรียบเทียบง่ายๆ คนสูบบุหรี่มีพฤติกรรมการสูบทุกวัน บางครั้งสูบจัดทำให้เกิดความเสี่ยงมากมาย การบริโภคเนื้อแปรรูปหากมีพฤติกรรมเช่นเดียวกับการสูบบุหรี่คือบริโภคกันทุกวัน บริโภคในปริมาณมาก ทาง IARC เชื่อว่าสร้างความเสี่ยงขนาดก่อมะเร็งได้ในปริมาณที่ไม่น้อยไปกว่าการสูบบุหรี่ จึงต้องพิจารณาพฤติกรรมประกอบด้วย ทาง IARC มองว่าพิษภัยของการบริโภคเนื้อแปรรูปมีอยู่สูง จึงต้องแนะนำให้ผู้บริโภคบันยะบันยังการบริโภคไว้เพื่อลดความเสี่ยงต่อมะเร็ง เป็นการแนะนำให้ลดการบริโภคไม่ได้บอกให้เลิก ระวังตนเองไว้ย่อมดีกว่ามิใช่หรือ