แนะรัฐบาลทบทวนนโยบายลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม โอดงบประมาณถูกตัดทั้งที่เป็นบริการโครงสร้างพื้นฐานมีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย รายงานข่าวแจ้งว่า หลังจากศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ออกมาแถลงดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของประเทศที่ทำการสำรวจภาคธุรกิจทั่วประเทศล่าสุดในเดือนส.ค.62 ที่อยู่ในระดับ 46.5 ลดลงจากเดือนก.ค.62 ที่อยู่ในระดับ 46.7 ถือเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และต่ำสุดในรอบ 12 เดือน ทั้งนี้พบว่า ค่าดัชนีในทุกภาค ทั้งการบริโภค การลงทุน การท่องเที่ยว ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม การค้า การจ้างงาน และเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการยังกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยลบมาจากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯที่ยังคงยืดเยื้อ ประกอบกับสถานการณ์ความไม่สงบในฮ่องกงและคู่ค้าต่างๆของไทย โดยล่าสุดกระทรวงการคลังได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระลอกใหญ่ 3.2 แสนล้านบาทที่มี 4 มาตรการหลักในการบรรเทาค่าครองชีพของประชาชนผู้มีรายได้น้อย และกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า ทั้งการจ่ายเงินโบนัสพิเศษให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐคนละ 500 บาท การช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง และการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยและการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคมเผยว่า ในส่วนของการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่ถูกกำหนดเอาไว้ใน มาตรา 7 (7) แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนปี 2562 กลับเป็นที่น่าสังเกตว่า ภาครัฐกลับไม่เคยกำหนดเงื่อนไขที่จะสนับสนุนทางการเงิน ทั้งที่หากพิจารณาในแง่ของการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานแล้ว การลงทุนด้านสื่อสารโทรคมนาคมมีส่วนในการขับเคลื่อนประเทศ กระตุ้นเศรษฐกิจไม่แตกต่างไปจากการก่อสร้างถนนหนทาง ระบบรางจะรถไฟ รถไฟฟ้าล้วนเป็นไปเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และน่าจะมีส่วนในการยกระดับการพัฒนาศักยภาพของผู้คน ทั้งนี้เมื่อหันไปดูนโยบายของรัฐที่มีต่อการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน จะเห็นถึงความแตกต่างได้ชัดเจน เพราะรัฐบาลและกระทรวงการคลังพร้อมจะทุ่มเทงบประมาณ และภาษีหรือเงินกู้ยืมเพื่อไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ แต่กิจการสื่อสารโทรคมนาคมภายใต้การกำกับดูแล ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือดีอี แล้วกลับตรงข้าม สิ่งเหล่านี้กลับไม่เคยได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐ แค่การที่ กสทช.ขอยืดเวลาจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 4 จีออกไป 5-10 ปีก่อนหน้านี้ยังถูกนักวิชาการและเครือข่ายภาคประชาชนออกมาคัดค้าน