จากแนวโน้มในปัจจุบันของประเทศไทย พบว่าจำนวนประชากรผู้สูงอายุมีเพิ่มมากขึ้น การทำงานของอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะสุขภาพของข้อเข่า ย่อมเสื่อมถอยลงไปด้วยเช่นกัน โรงพยาบาลพระรามเก้า ได้ตระหนักถึงความสำคัญ และใส่ใจถึงปัญหาโรคข้อ ในผู้สูงอายุ และประชาชนทั่วไป จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์ “รักษ์ข้อ” เพื่อการดูแลข้อเบื้องต้น และการรักษาเชิงลึก นพ.พฤกษ์ ไชยกิจ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ และ หัวหน้าทีมแพทย์ศูนย์รักษ์ข้อ โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า ศูนย์รักษ์ข้อ ตระหนักถึงปัญหาโรคข้อเสื่อม ซึ่งพบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุมากขึ้น จึงได้จัดตั้งศูนย์รักษ์ข้อขึ้นมาเพื่อให้ผู้ที่มีปัญหาโรคข้อเข่าเสื่อมได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี และสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ สำหรับโรคข้อเข่าเสื่อม เป็นโรคที่เกิดจากกระดูกอ่อนผิวข้อ นั้นถูกทำลายสึกหรอลง โดยปกติกระดูกอ่อนผิวข้อจะมีลักษณะเรียบลื่น เป็นมัน ทำหน้าที่ช่วยให้การเคลื่อนไหวของข้อเป็นไปอย่างราบลื่นไม่สะดุด ช่วยกระจายแรง และลดแรงกดกระแทกที่เกิดขึ้นกับข้อต่อ กรณีผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม กระดูกอ่อนผิวข้อจะบางลง อาจมีการแตก เปื่อยยุ่ย สึกหรอ หรือมีการสูญเสียกระดูกอ่อนผิวข้อดังกล่าว ซึ่งทำให้กระดูกส่วนปลายของกระดูกต้นขา ที่ต่อกับกระดูกส่วนบนของกระดูกหน้าแข้ง บริเวณข้อเข่า เกิดการเสียดสีกันไปมา เป็นสาเหตุให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุข้อ ทำให้มีน้ำในข้อมาขึ้น ทำให้ข้อเข่าบวม และเกิดอาการปวดเสียว การเคลื่อนไหวติดขัด นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมได้ เช่น โรคเก๊า โรครูมาตอยด์ โดยผู้ป่วยในระยะท้ายของโรค มักมีลักษณะข้อเข่าโก่งผิดรูป ส่วนมากจะพบว่าเป็นขาโก่งโค้งออก (Bow Legs) ส่วนอาการของโรคข้อเข่าเสื่อม นพ.พฤกษ์ กล่าวว่า ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการปวดเรื้อรัง หรือปวดซ้ำๆเวลาใช้งาน ซึ่งพบบ่อยในขณะที่เดินขึ้น ลง บันได หรือนั่งยอง และนั่งพับเพียบ จากที่ไม่เคยมีอาการปวด ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดมากขึ้น ต่อมาเริ่มมีอาการบวม มีการยึดติด งอ เหยียด ไม่สะดวก โดยอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นซ้ำ เป็นแล้วหาย หรืออาจเป็นต่อเนื่องก็ได้ พอเป็นมากขึ้นจะเดินเริ่มลำบาก ใช้ชีวิตประจำวันลำบากมากขึ้น ทั้งนี้หากใครมีอาการข้างต้น ต่อเนื่องนาน 2 – 3 สัปดาห์ ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย หากเป็นระยะแรกนั้น จะสามารถรักษาได้ทันโดยอาจไม่จำเป็นต้องกินยา หรือผ่าตัด สำหรับวิธีการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม ศูนย์รักษ์ข้อ โรงพยาบาลพระรามเก้า จะมีการรักษาตั้งแต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้ป่วย,กินยา, ฉีดยา แต่พอไปถึงจุดที่จำเป็นต้องผ่าตัด จะมีการผ่าตัดเล็กแบบส่องกล้องผ่าตัด ในการป่วยระยะแรกๆ หรือไปจนถึงการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าในผู้ป่วยที่มีระยะรุนแรงมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีวิธีการผ่าตัดแบบมาตรฐาน คือการผ่าตัดเปิดแผล โดยแพทย์จะใช้สายตาในการตรวจสอบ ว่ากระดูกที่ผ่าตัดได้มุมที่ต้องการหรือไม่ และอีกหนึ่งวิธี ที่ศูนย์รักษ์ข้อ ได้นำเทคโนโลยีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ด้วยระบบคอมพิวเตอร์นำร่อง หรือเครื่องเนวิเกเตอร์มาใช้ในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าให้กับผู้ป่วย โดยเครื่องดังกล่าว จะมีความแม่นยำในการผ่าตัด แพทย์จะสามารถได้ข้อมูลอย่างละเอียดเพื่อช่วยในการตัดสินใจ ระหว่างทำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อ ตลอดจนสามารถตรวจสอบความถูกต้อง และแม่นยำได้ทันทีในขณะทำการผ่าตัด เนื่องจากเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์นำร่อง สามารถรับรู้ความคลาดเคลื่อนได้แม้ในมุมที่เล็ก เพียง 0.5 องศา ทำให้การผ่าตัดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และโอกาสการกลับมาผ่าตัดซ้ำลดลง ทั้งนี้ในเคสที่ต้องกลับมาผ่าตัดซ้ำส่วนใหญ่ที่พบบ่อยๆมี 2 ข้อ คือ เกิดจากการติดเชื้อของข้อ ที่อาจรับเชื้อโรคมาจากแผลในร่างกายของผู้ป่วยเอง และ สองเกิดจากระดูกหัก ในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดแล้ว กลับไปเกิดอุบัติเหตุล้ม ทำให้กระดูกข้อเข่าได้รับบาดเจ็บ สำหรับระยะเวลาในการเข้ารับการผ่าตัดต่อเคสนั้น ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง หลังพาตัดพักฟื้น 24 ชั่วโมง ผู้ป่วยที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง จะสามารถกลับมาเดินได้ช้าๆ โดยใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงตัวในการเดิน แต่ในสำหรับคนไข้ที่มีปัญหานั่งรถเข็นมาระยะหนึ่งแล้วนั้น หลังผ่าตัดจะต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว เพื่อสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง ทั้งนี้ขึ้นอยู่สภาพร่างกายของคนไข้ ในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าแล้ว เพื่อไม่ให้เกิดการได้รับบาดเจ็บซ้ำ อีก นพ.พฤกษ์ ได้ให้คำแนะว่า อันดับแรก ให้ออกกำลังกายกล้ามเนื้ออย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อต้นขา การออกกำลังกายด้วยวิธีการเดินเป็นประจำ จะช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง งอ เหยียดเข่าบ่อยๆ ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง ได้แก่ การนั่งกับพื้น นั่งยองๆ นั่งพับเพียบ จะทำให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ และมีอาการเจ็บปวดน้อยกว่าตอนที่ยังไม่ได้รับการรักษา มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม จะมีข้อห้ามทางการแพทย์ ที่แพทย์ยังไม่สามารถทำการผ่าตัดให้ได้ ได้แก่ ผู้ป่วยโรคหัวใจ ที่เพิ่งมีอาการกำเริบ ,ผู้ป่วยสมองเส้นเลือดตีบ , ผู้ป่วยที่ติดเชื้อรอบหัวเข่า และผู้ป่วยที่แพทย์ประเมินแล้วว่าการผ่าตัดไม่สามารถช่วยให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ เช่น ผู้ป่วยขาพิการ เป็นต้น ทั้งนี้โรคข้อเข่าเสื่อม นอกจากเกิดในผู้สูงอายุแล้ว ผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป แต่ได้รับการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา เช่นฟุตบอล หรือ ประสบอุบัติเหตุรถล้ม กระดูกแตก แต่เนื่องจากกระดูกอ่อนที่ได้รับแรงกระแทก ทำให้เกิดการเสื่อมของกระดูกได้เช่นกัน ส่วนผู้ที่นิยมออกกำลังกายโดยการวิ่ง และมีความกังวลว่าจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมนั้น นพ.พฤกษื ไชยกิจ กล่าวว่า ในผู้ที่ไม่มีอาการเจ็บปวดของข้อเข่า และวิ่งได้ถูกตามหลัก นั้นไม่มีปัญหาเสี่ยงในการเกิดข้อเข่าเสื่อม หรือมีน้อยมาก แต่หากใครที่มีอาการเจ็บ หรือปวด ตามข้อ แล้วไปวิ่ง อาจเกิดอาการอักเสบของข้อเข่าได้ ทั้งนี้แนะนำให้ผู้ที่มีอาการเจ็บ ปวด หัวเข่าบวม ไปตรวจเช็คกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาสาเหตุของอาการดังกล่าว และลดการได้รับบาดเจ็บของข้อเข่า จากการวิ่งออกกำลังกาย อย่างไรก็ตามโรคข้อเข่าเสื่อมสามารถป้องกันได้ โดยลดความเสี่ยงของการเกิดโรค ได้แก่ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การลุก นั่ง ที่นำไปสู่การได้รับบาดเจ็บของข้อเข่าได้ , การควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน , สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเก๊า โรครูมาตอยด์ ควรพบแพทย์สม่ำเสมอ และหากใครได้รับบาดเจ็บทางกระดูก หรือมีอาการเจ็บปวดแม้จะเล็กน้อย ให้รีบพบแพทย์ทันที จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมได้