"ซูเปอร์โพล" เผยผลสำรวจ คุณธรรมในโซเชียลมีเดีย พบ ประชาชน 59.5% มองนักการเมืองคือต้นตอปัญหาคุณธรรมที่ควรปรับปรุงตัวเร่งด่วน           เมื่อวันที่ 13 ก.ย. รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม ร่วมกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิด เผยถึง ผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง คุณธรรมในโซเชียลมีเดีย โดยสำรวจจากประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,224 ตัวอย่าง ระหว่าง1 - 12 กันยายน พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา            ทั้งนี้จากการสำรวจความคิดส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.5 ระบุ นักการเมือง คือ ต้นตอปัญหาคุณธรรมที่ควรปรับปรุงตัวเร่งด่วน, รองลงมาคือ ร้อยละ 53.1 คนในวงการบันเทิง, ร้อยละ 52.8 ระบุ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ, ร้อยละ 49.8 ระบุ คนในครอบครัว, ร้อยละ 45.9 ระบุ คนในสถาบันการศึกษา ครู อาจารย์ , ร้อยละ 23.5 คนในกลุ่มวัฒนธรรม ประเพณี และร้อยละ 17.8 คนในกลุ่มศาสนา เช่น พระ เณร ชี คนปฏิบัติธรรม เป็นต้น            ด้านสิ่งที่ ผอ.ซูเปอร์โพล เป็นห่วง คือ เกินครึ่งหรือร้อยละ 54.4 ระบุปัญหาคุณธรรมในโซเชียลมีเดียคือ พูดจาหยาบคาย ไม่ให้เกียรติกัน กร่าง ทำตัวแย่ , ร้อยละ 50.3 ระบุ หลอกลวง, ร้อยละ 45.2 ระบุ สร้างความขัดแย้ง, ร้อยละ 44.6 ระบุ ความสัมพันธ์เสื่อมถอย และร้อยละ 43.2 ระบุเกิดการเลียนแบบในทางที่ผิด         ขณะที่ 5 อันดับแรกข้อเสนอแนะพัฒนาคุณธรรมในโซเชียลมีเดีย พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.0 ระบุ มีสติ กลั่นกรองข้อมูล เรื่องราวไม่ทำตามกระแสโซเชียลมีเดีย, รองลงมาคือร้อยละ 48.7 ระบุ ทุกฝ่ายใช้โซเชียลมีเดีย ด้วยความรับผิดชอบ กล้าทำ กล้ารับ, ร้อยละ 42.9 ระบุ มีวินัยในการใช้เคารพกฎกติกา, ร้อยละ 39.2 ระบุ คิดถึงผลกระทบและประโยชน์ส่วนรวม และร้อยละ 36.4 ระบุ มีน้ำใจดีต่อกัน ตามลำดับ          ผอ.ศูนย์คุณธรรม กล่าวว่า บุคคลสาธารณะโดยเฉพาะนักการเมืองมีอิทธิพลต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลง จึงเสนอให้ก่อนทำหน้าที่ในสัปปายะสถานรัฐสภาแห่งใหม่ ควรมีการตั้งสติสมาธิทุกครั้งก่อนเริ่มประชุมและมีระฆังสติไว้คอยให้ระลึกตนเสมอว่า แต่ละคนกำลังทำงานด้วยสติไม่ใช้อารมณ์ครอบงำและเมื่อแต่ละท่านเป็นผู้ทรงเกียรติแล้วจึงเสนอประธานสภาฯ ให้ยกย่องเชิดชูพฤติกรรมที่ควรค่าแก่การชื่นชมจุดประกายกระแสแห่งคุณธรรมของนักการเมืองให้เกิดขึ้นในรัฐสภาแห่งนี้         “คนในวงการบันเทิงควรช่วยกันคืนกำไรให้สังคมด้วยจิตสาธารณะมากกว่าการรังแกสังคม ส่วนข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ ครูอาจารย์ ควรเป็นจุดเปลี่ยนเป็นแบบอย่างที่ดี ควรพักก่อนโพสต์ให้เป็นนิสัย ก่อนจะกดโพสต์ลงสาธารณะ ควรพักในที่ส่วนตัวสักระยะก่อน เพื่อกลับไปอ่านอย่างมีสติค่อยยืนยันโพสต์ ปรับพลังลบเป็นพลังบวกคือ บริหารสมองส่วนคิดจัดการอารมณ์ของตนเองจนเป็นพฤติกรรมที่ดี” รศ.นพ.สุริยะเดว กล่าว          นอกจากนี้ ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ควรยอมรับการเปลี่ยนแปลงในโลกยุค ซูเปอร์ดิจิทัล อย่างมีสติและรู้จักใช้ประโยชน์เพื่อความดีส่วนรวมและเพื่อตัวเองแนวทางในการป้องกันปัญหาคือการทำงานร่วมกันใกล้ชิดมากขึ้นผ่านทางโซเชียลมีเดียระหว่างภาครัฐและประชาชนแต่ละคนที่สามารถสื่อสารถึงกันได้โดยตรง ให้ข้อมูลที่ถูกต้องตามหลักคุณธรรมจริยธรรมและการอบรมเลี้ยงดูของคนในครอบครัว เพื่อนสนิท คนใกล้ชิด เผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องในชุมชนของตนเอง ผลที่ตามมาคือ ทุกคนจะบริหารจัดการกระแสในโซเชียลมีเดียได้ไม่กลายเป็นส่วนหนึ่งของกระแสที่สร้างความเสียหายทำร้ายผู้อื่นในสังคมส่วนรวม