นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ โพสต์ข้อความในเพตเฟซบุ๊ก Chaturon Chaisang ระบุว่า... เห็นข่าวเรื่องแมวเก้าชีวิต บอกว่าได้รับอานิสงค์จากกฎหมายล้างมลทินมาหลายครั้ง ทำให้ผมนึกถึงประสบการณ์เมื่อสมัยเป็นสส.สมัยแรกๆที่จำได้เพราะเป็นเรื่องที่พยายามช่วยคนๆนึง แต่ไม่สำเร็จอย่างน่าเสียดาย เรื่องมีอยู่ว่าชายหนุ่มชาวแปดริ้วคนหนึ่งไปสอบเข้าเป็นตำรวจ สอบข้อเขียนผ่าน แต่ตกสัมภาษณ์ ทราบเหตุผลว่ากรรมการให้ตกเพราะมีประวัติตอนเด็กๆเคยถูกจับเล่นการพนัน"กุ้งหอยปูปลา” (เป็นชื่อการพนัน เล่นยังไงจนบัดนี้ผมก็ยังไม่รู้ ) ก่อนที่จะมีการสอบรับคนเข้าเป็นตำรวจครั้งนั้น มีการออกกฎหมายล้างมลทินฉบับหนึ่ง ผู้ที่ให้คำแนะนำแก่หนุ่มคนนี้ก็ให้ความเห็นว่าเขาน่าจะได้รับอานิสงส์จากกฎหมายล้างมลทิน น่าจะไม่มีปัญหาในการเข้าเป็นตำรวจ ควรจะไปร้องเรียนขอความเป็นธรรม เมื่อชายคนนี้มาปรึกษาผม ผมก็ได้ไปปรึกษาผู้บัญชาการศึกษาของกรมตำรวจในขณะนั้น ก็ได้รับคำชี้แจงว่าไม่สามารถแก้ไขอะไรได้แล้วเพราะผ่านไปแล้ว พร้อมทั้งยืนยันว่าทางคณะกรรมการสอบคัดเลือกได้ตัดสินไปชอบแล้ว เนื่องจากการเล่นการพนันเป็นความประพฤติที่ไม่เหมาะสม ชายคนนี้จึงไม่ได้รับการคัดเลือก ผมได้แนะนำให้ชายคนนี้ร้องต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ซึ่งอยู่ที่กฎษฎีกา (ขณะนั้นยังไม่มีศาลปกครอง) ซึ่งต่อมาคณะกรรมการฯก็วินิจฉัยว่าการตัดสินของทางตำรวจนั้นชอบแล้ว ให้เหตุผลว่าแม้ชายคนนี้ได้รับผลจากกฎหมายล้างมลทินแล้วก็จริง แต่กรมตำรวจก็สามารถอาศัยข้อเท็จจริงที่ว่าชายคนนี้เคยถูกจับและถูกลงโทษฐานเล่นการพนันมาเป็นเหตุผลว่าเป็นความประพฤติมี่ไม่เหมาะสมได้ และการมีกฎหมายล้างมลทินไม่ทำให้เกิดสิทธิ์ที่จะเรียกร้องใดๆแก่ผู้ที่ได้รับการล้างมลทิน ผมไม่เห็นด้วยกับการตัดสินของทั้งตำรวจและคณะวินิจฉัยร้องทุกข์ เพราะเห็นว่าการอ้างข้อเท็จจริงจากกรณีที่ทางกฎหมายถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นไม่น่าจะทำได้ และเห็นว่าการที่ชายคนนี้เล่นการพนันเล็กน้อยเมื่อครั้งเป็นเด็กเล็กๆไม่น่าจะเอามาใช้เป็นเหตุตัดอนาคตของคนๆหนึ่ง แต่คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ก็เป็นที่สิ้นสุด เรื่องจึงยุติไปตามนั้น เมื่อมาเทียบกับกรณีแมวเก้าชีวิตที่กำลังอื้อฉาวอยู่ก็จะเห็นว่าต่างกันมากจริงๆ ทำไมผู้ที่ถูกปลดออกจากราชการ ถูกถอดยศจึงสามารถกลับเข้ารับราชการและได้รับยศคืนหรือยศใหม่ได้เป็นว่าเล่นด้วยข้ออ้างต่างๆนานารวมทั้งการได้รับอานิสงส์จากกฎหมายล้างมลทิน ทำไมบรรทัดฐานช่างต่างกันมากขนาดนี้ ยังไม่นับเรื่องคดีอื้อฉาวที่กำลังเป็นที่สนใจอยู่ ถ้าหากว่าข่าวจากสื่อมวลชนต่างประเทศเป็นเรื่องจริง รัฐธรรมนูญกำหนดลักษณะต้องห้ามไว้ข้อหนึ่งว่าต้องไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำผิดในเรื่องที่เกี่ยวกับยาเสพติด การได้รับอานิสงค์จากกฎหมายล้างมลทินจะทำให้พ้นจากการมีลักษณะต้องห้ามได้หรือไม่ ก็ยังเป็นเรื่องที่น่าคิดกันต่อไป ถึงแม้ว่าดูเหมือนเรื่องนี้จะเอาหลักเกณฑ์อะไรไปจับก็ยากเต็มทีแล้วก็ตาม แต่สำคัญกว่าอย่างอื่นทั้งหมดก็คือสังคมไทยควรจะได้รับรู้ความจริงว่า รัฐมนตรีที่กำลังตกเป็นข่าวอยู่นี้ตกลงเคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกหรือไม่ ในเรื่องใด ผู้ที่ควรหาหลักฐานมาเปิดเผยต่อสาธารณชนมากที่สุดก็คือนายกรัฐมนตรีครับ