แนวคิดและหลักการดำเนินงานของโครงการศิลปาชีพ แนวคิดและหลักการดำเนินงานในเรื่องการพัฒนาอาชีพตามโครงการศิลปาชีพนั้น อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า เป็นการนำเอาศิลปกรรมพื้นบ้านมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจในครัวเรือน และขณะเดียวกันก็เป็นการอนุรักษ์มรดกทางศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านไทยให้คงอยู่ไม่เสื่อมสลายไปตามแนวกระแสความเปลี่ยนแปลงของสังคมใหม่ ลักษณะการช่วยเหลือของโครงการศิลปาชีพในพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ อาจแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ 1. โครงการส่งเสริมสนับสนุนงานฝีมือพื้นบ้าน ที่ชาวบ้านทำเป็นอยู่แล้ว เช่น การทอผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าแพรวา ฯลฯ 2. โครงการฝึกอบรมให้ชาวบ้านทำงานฝีมือที่ตนเองไม่เคยทำมาก่อนเลย เช่น การปั้นตุ๊กตา การทำดอกไม้ การทำงานคร่ำ การเป่าแก้ว การทำเซรามิค ฯลฯ นอกจากนั้นในการดำเนินงานศิลปาชีพ ยังมีหลักการสำคัญที่ยึดถือเป็นหลักในการปฏิบัติ คือ วัตถุดิบที่จะนำมาผลิตนั้น ควรเป็นวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่น ,ศิลปกรรมที่เกิดขึ้น จะต้องสอดคล้องกับศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้นๆ การดำเนินการของโครงการศิลปาชีพ จะเป็นการดำเนินงานอย่างมีหลักการและเป็นระบบรวมทั้งเป็นการดำเนินงานอย่างครบวงจรด้วย นับตั้งแต่การแสวงหาผู้มีความชำนาญมาทำการสอน การผลิต หรือการประดิษฐ์ การตรวจสอบงาน และการตลาด การสนับสนุนการดำเนินงานศิลปาชีพ การจัดดำเนินงานศิลปาชีพพิเศษตามโครงการในพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยนี้ ได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากรัฐบาลและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยเป็นอย่างดี เจ้าหน้าที่ตามกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ต่างก็ชื่นชมในโครงการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเหล่านี้ และเต็มใจให้ความช่วยเหลือ และประสานงานอย่างดีที่สุดตลอดมา พสกนิกรทั้งหลายต่างก็ศรัทธาในงานตามโครงการนี้เป็นอย่างยิ่ง ได้แสดงออกซึ่งความจงรักภักดี ด้วยการบริจาคทรัพย์โดยเสด็จพระราชกุศลในด้านศิลปาชีพพิเศษนี้ตลอดมา และบัดนี้ชาวต่างประเทศก็เริ่มให้ความสนใจทั้งในโครงการ และผลิตภัณฑ์ตามโครงการศิลปาชีพนี้มากขึ้นเป็นลำดับ กำเนิดมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงช่วยให้ชาวไร่ ชาวนาทั่วประเทศมีอาชีพเสริม เพิ่มพูนรายได้แก่ครอบครัว บางรายมีรายได้เพิ่มจากงานศิลปาชีพมากจนตั้งตัวได้ โดยหันมาประกอบธุรกิจประเภทนี้เป็นงานหลัก และด้วยสายพระเนตรที่ทรงเล็งเห็นการณ์ไกล และพระราชหฤทัยรักในงานศิลปะ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดสอนหัตถกรรมแทบทุกประเภทแก่บุตรหลานของราษฎรผู้ยากไร้ในบริเวณสวนจิตรลดา และเปิดสอนสมาชิกต่างจังหวัดในพระตำหนักทุกภาค ในเวลาที่เสด็จพระราชดำเนินแปรพระ ราชฐานไปประทับแรมเพื่อเยี่ยมราษฎร ทรงรับเด็กยากจนที่มีการศึกษาน้อย และไม่เคยมีประสบการณ์ทางการช่างใดๆ เข้ามาเป็นนักเรียนศิลปาชีพ ทรงเสาะหาครูผู้มีฝีมือที่ยังหลงเหลืออยู่มาถ่ายทอดผลงาน เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามผลงาน และพระราชทานกำลังใจแก่สมาชิกศิลปาชีพ และโปรดที่จะทรงใช้สอยผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพทุกประเภท ด้วยผลงานอันกว้างขวางของโครงการศิลปาชีพพิเศษนี้ โดยมีศูนย์ศิลปาชีพฯ และสมาชิกกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ ประกอบกับผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพเป็นที่นิยมกันเป็นอย่างยิ่ง และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรม ราชินีนาถ ต้องทรงใช้จ่ายพระราชทรัพย์เพื่อโครงการนี้ตลอดมา ได้มีผู้มีจิตศรัทธาถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลเพื่อการนี้เป็นจำนวนมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งเป็นมูลนิธิขึ้น เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๑๙ ด้วยเงินทุนจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ รวมกับส่วนที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย เป็นจำนวน ๓,๔๗๕,๘๖๕.-บาท สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดำรัสพระราชทานแก่ผู้เข้าเฝ้าถวายพระพรเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๓๔ ว่า “ มูลนิธิศิลปาชีพฯ นี้ ตั้งขึ้นมาก็เพื่อช่วยเหลือคนยากจน โดยเฉพาะครอบครัวชาวนา เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รับสั่งเสมอว่า เมืองไทยนี้ประเสริฐนักและเราไม่รู้สึกกันในการที่ประเทศไทยสามารถผลิตข้าว ผลิตอาหารเลี้ยงตัวได้ ทำให้เกิดภาวะที่มั่นคงภายในประเทศขึ้นมาก แต่เราเคยไม่ทันรู้สึก ที่นี่ชาวนายากจน ข้าพเจ้าดีใจที่ทรงมอบหมายให้ดูแลครอบครัวของชาวนา จึงได้เกิดมูลนิธิศิลปาชีพฯ ขึ้น ” โครงการศิลปาชีพนี้ เดิมเรียกว่า โครงการศิลปาชีพพิเศษ แต่ต่อมาทรงเห็นว่า ชื่อยืดยาวเกินไปจึงทรงอยากจะตัดออกให้ชื่อกระชับเข้า จึงเหลือแต่เพียงคำว่า “ ศิลปาชีพ ” สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงดำรงตำแหน่งองค์ประธานกรรมการบริหารของมูลนิธิ และทรงรับมูลนิธิไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ คำว่า “ ศิลปาชีพพิเศษ ” นี้ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ทรงตั้ง และหม่อมราชวงศ์ ทองน้อย ทองใหญ่ เป็นผู้คิดชื่อภาคภาษาอังกฤษว่า THE FOUNDATION FOR THE PROMOTION OF SUPPLEMENTARY OCCUPATIONS AND RELATED TECHNIQUES UNDER THE ROYAL PATRONAGE OF HER MAJESTY THE GUEEN เรียกโดยย่อว่า “ THE SUPPORT FOUNDATION ” สำนักงานของมูลนิธิตั้งอยู่ ณ สวนจิตรลดา กรุงเทพมหานคร มูลนิธินี้จัดการโดยคณะกรรมการบริหาร ซึ่งมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม เมื่อรัฐบาลได้ประจักษ์ในผลงานและคุณประโยชน์ของมูลนิธิ จึงได้รับเป็นหน่วยงานหนึ่งของรัฐ โดยจัดตั้งเป็นกองศิลปาชีพขึ้น ในสำนักราชเลขาธิการ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๒๘ เพื่อสนับสนุนงานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ต่อมา เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๑ คณะกรรมการบริหารของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ พิจารณาเห็นว่าสมาชิกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้ยึดศิลปาชีพเป็นอาชีพหลักกันเป็นจำนวนมาก มิได้เป็นเพียงอาชีพเสริมเท่านั้น อีกประการหนึ่ง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงบริหารกิจการของมูลนิธิด้วยพระองค์เองตลอดมา ทรงทุ่มเทกำลังพระวรกายและกำลังพระสติปัญญา ด้วยพระอุตสาหะ วิริยะ เพื่อมูลนิธิฯ หาใช่เป็นเพียงการพระราชทานพระบรมราชินูปถัมภ์เท่านั้น คณะกรรมการบริหารเห็นว่า เมื่อจะแก้ไขเรื่องชื่อ โดยเอาคำว่าพิเศษออกแล้ว ก็ควรขอพระราชทานพระราชานุญาต เปลี่ยนคำว่า “ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ” เป็น “ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ” ด้วย เพื่อให้ตรงกันกับความเป็นจริง พร้อมทั้งจัดทำตราสารขึ้นใหม่ เพื่อให้สอดคล้องแก่การดำเนินงานของมูลนิธิฯ ในขณะนั้น และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมคณะกรรมการ เนื่องจากกรรมการบางท่านสิ้นพระชนม์ และถึงแก่กรรม และบางท่านก็ไม่สามารถมาปฏิบัติภารกิจได้ สำหรับชื่อภาษาอังกฤษของมูลนิธิ คือ “ THE FOUNDATION FOR THE PROMOTION OF SUPPLEMENTARY OCCUPATIONS AND RELATED TECHIQUES OF HER MAJESTY QUEEN SIRIKIT OF THAILAND ” และใช้ชื่อย่อภาษาอังกฤษว่า “ SUPPORT ” ข้อมูลศูนย์ศิลปาชีพ