"ผู้ตรวจการฯ"ย้ำพาราควอตอันตราย ยันเลิกผลิต-ขาย เตรียมเสนอ"นายกฯ"สั่งขึ้นบัญชีวัตถุอันตรายชนิดที่ 4
วันนี้ (13 ก.ย.) นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ปัญหาการใช้สารเคมีพาราควอตยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมีการใช้อย่างเสรีโดยยังไม่มีมาตรการควบคุมการใช้ในภาคการเกษตรทำให้ผู้ใช้ขาดความระวังหรือป้องกันการปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม เสี่ยงต่อชีวิตและร่างกายของผู้ใช้ทั้งจากอุบัติเหตุและจากการสัมผัสสารเคมีปนเปื้อนทั่วไป ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงได้มีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานดำเนินการปรับปรุงประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อยกเลิกการใช้พาราควอตให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน ซึ่งแจ้งครั้งแรกเมื่อเดือนธ.ค. 2561 และต่อมากระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายยังคงอนุญาตให้ใช้สารพาราควอตได้ภายใต้มาตรการจำกัดการใช้โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งจะมีผลบังคับวันที่ 20 ต.ค. ที่จะถึงนี้
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ได้นิ่งนอนใจได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2562 ตามกระบวนการของกฎหมายของผู้ตรวจการแผ่นดินและขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมและคณะกรรมการวัตถุอันตรายดำเนินการออกประกาศให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน แต่กระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งว่ายังไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินได้ เรื่องดังกล่าวจึงยังไม่อาจหาข้อยุติได้ ดังนั้นผู้ตรวจการแผ่นดินจึงดำเนินการตามกฎหมายเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ
นายรักษ์เกชา กล่าวต่อว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้เน้นย้ำและระบุในหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีโดยมีรายละเอียดปรากฏถึงความเป็นอันตราย ความเสี่ยงภัยที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน และเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องตระหนักถึงพิษร้ายของสารเคมี ที่ทำให้ประชาชนมีโอกาสเจ็บป่วยเรื้อรัง สูญเสียชีวิตและร่างกาย หรือการบริโภคผลผลิตทางการเกษตรหรือสัตว์น้ำจากแหล่งน้ำในพื้นที่เกษตรกรรมที่มีสารพิษตกค้าง หรือแม้กระทั่งการถ่ายทอดสารพิษตกค้างจากมารดาสู่ทารกในครรภ์ และมีกรณีตัวอย่างผู้ได้รับพิษของวัตถุอันตราย
พาราควอตจนถึงแก่ชีวิตเกิดขึ้นแล้วในพื้นที่จังหวัดตาก
อีกทั้ง กระทรวงสาธารณสุขยังได้มีความเห็นยืนยันอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนจากวัตถุอันตรายพาราควอต ส่งผลต่ออันตรายหลายระบบอวัยวะทั้งตา จมูก ปาก ผิวหนัง ปอด หัวใจ ตับ ไต สมอง และระบบประสาทส่วนกลาง หากได้รับในปริมาณมากส่งผลให้เกิดภาวะพังผืดในปอด หอบเหนื่อย ริมฝีปากสีคล้ำ ปอดบวมน้ำจนถึงเลือดออกในเนื้อเยื่อปอด ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ตับจะถูกทำลาย ทำให้เกิดอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ตับอักเสบได้ และถ้ามีการทำลายที่ไต จะทำให้สูญเสียความสมดุลของภาวะกรด ด่าง และน้ำในร่างกาย ทำให้เกิดมีสภาพเป็นกรดมากขึ้น เกิดน้ำคั่งในร่างกาย ปัสสาวะออกน้อยลง จนถึงไตวายเฉียบพลัน นำไปสู่การเสียชีวิต
ดังนั้น การปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินโดยกำหนดนโยบายระดับประเทศเพื่อยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายพาราควอตย่อมเกิดประโยชน์
ต่อประชาชน และเป็นการเริ่มต้นที่สำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภาซึ่งได้กำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วนในเรื่องการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนานวัตกรรม โดยหน่วยงานของรัฐย่อมสามารถใช้ระยะเวลาช่วงเปลี่ยนผ่านพัฒนานวัตกรรมกำจัดวัชพืชที่มีประสิทธิภาพปลอดภัยต่อสุขภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อใช้ทดแทนสารเคมีได้และในโอกาสเดียวกันนี้ยังได้ส่งหนังสือเร่งรัดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และน.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินให้มีผลโดยเร็ว