วันที่ 13 ก.ย.62ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พร้อมด้วย พล.ต.ท. มนตรี ยิ้มแย้ม จเรตำรวจ/คณะทำงานฯ และ พล.ต.ต. ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน/คณะทำงานฯ แถลงข่าวความคืบหน้าในการจ่ายเงินค่าตอบแทนข่งขันรถในทาง และความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท. ดำรงศักดิ์ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการแข่งรถในทาง การขับรถโดยไม่คำนึงความปลอดภัยของผู้อื่น และมอบนโยบายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แก้ไขปัญหาการแข่งรถในทางและความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นเป็นรูปธรรมและยั่งยืน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ขับเคลื่อนนโยบายอย่างจริงจัง โดยมีหนังสือ ตร. ด่วนที่สุด ที่ 0007.22/2095 ลง 26 มิ.ย.62 กำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามการแข่งรถในทางฯ 4 มาตรการ คือ 1. มาตรการป้องกันเชิงรุก(ก่อนเกิดเหตุ) 2. มาตรการปราบปราม(ขณะเกิดเหตุ) 3. มาตรการสอบสวนขยายผล 4. มาตรการเฝ้าระวังและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้กระทำผิด เพื่อให้การแข่งรถในทางหมดไป และมีคำสั่ง ตร. 365/2562 ลง 26 มิ.ย.62 แต่งตั้งให้ พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นหัวหน้าคณะทำงานป้องกันและปราบปรามการแข่งรถในทางและความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง และได้มีการแถลงข่าวผลการแก้ไขปัญหาในรอบ 1 เดือน ไปเมื่อวันที่ 1 ส.ค.62 ซึ่งในช่วงการดำเนินการดังกล่าว สถิติการรับแจ้งและร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาแข่งรถในทาง ลดลงเหลือประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังคงเพิ่มความเข้มในการแก้ไขปัญหาแข่งรถในทางมาโดยตลอด โดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหานี้ให้หมดไปโดยสิ้นเชิง จึงมีแนวความคิดที่จะให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมสอดส่องและแก้ไขปัญหาร่วมกับตำรวจ โดยการมอบเงินค่าตอบแทนให้แก่ประชาชนผู้ให้ข้อมูลข่าวสารหรือเบาะแสการกระทำความผิดแข่งรถในทางอันนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำความผิด จึงได้มี คำสั่ง ตร. ที่ 488/2562 ลง 27 ส.ค.62 มอบหมายให้ พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานกรรมการบูรณาการความปลอดภัยและลดอุบัติเหตุทางถนน (บปถ.) เพื่อพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินตอบแทนบุคคลภายนอกผู้ให้ข้อมูลข่าวสารหรือเบาะแสการแข่งรถในทางและความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง และได้เริ่มดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวมาตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย.62 เป็นต้นมา พล.ต.ท. ดำรงศักดิ์ กล่าวอีกว่าหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินค่าตอบแทนบุคคลภายนอกผู้ให้ข้อมูลข่าวสารหรือเบาะแสการแข่งรถในทางและความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง มีสาระสำคัญโดยสังเขป ดังนี้ 1. เงินค่าตอบแทนฯ ให้เบิกจ่ายจากเงินนอกงบประมาณที่มีผู้บริจาคให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อใช้ในกิจการด้านการจราจรเพื่อความปลอดภัยและลดอุบัติเหตุทางถนน จำนวน 3,000 บาท ต่อ 1 เหตุ โดยให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 12 วัน นับแต่มีการจับกุม โอนเข้าบัญชีระบุชื่อของผู้ให้ข้อมูลข่าวสารหรือเบาะแส โดยตรง 2. ต้องเป็นการแจ้งข้อมูลข่าวสารหรือเบาะแส และจับกุม หรือได้ตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมายในข้อหาความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้แก่ 2.1การแข่งรถในทางโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือ 2.2 การขับรถในลักษณะที่ผิดปกติวิสัยของการขับรถตามธรรมดา หรือ 2.3การขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น หรือ 2.4 เป็นผู้จัด สนับสนุน หรือส่งเสริมให้มีการแข่งรถในทาง (admin page) 3. เป็นการแจ้งผ่านทาง ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191 ,ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน 1599 หรือศูนย์โซเชียลมีเดีย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และต้องเป็นการแจ้งโดยประชาชนผู้พบเห็นเหตุการณ์ด้วยตนเอง (เป็นประจักษ์พยานผู้รู้เห็นเหตุการณ์ด้วยตนเอง มิใช่พยานบอกเล่า) แต่หากผู้แจ้งรายใดไม่ประสงค์จะรับเงินค่าตอบแทนฯ ก็สามารถแจ้งยืนยันความประสงค์ดังกล่าวไว้ในขณะแจ้งเหตุได้ 4. ข้อมูลข่าวสารหรือเบาะแสที่แจ้ง ควรจะต้องประกอบด้วย วันเวลาเกิดเหตุ , สถานที่เกิดเหตุ,พฤติการณ์ในการกระทำความผิด การก่อเหตุ การรวมตัว หรือการมั่วสุม, ประเภท และจำนวนยานพาหนะ ที่กระทำความผิด โดยประมาณ (เท่าที่ทราบ), ชื่อ สกุล บุคคล กลุ่มบุคคล กลุ่มแก๊ง ชื่อฉายา ของผู้ที่กระทำความผิด (เท่าที่ทราบ), เขตพื้นที่รับผิดชอบของสถานีตำรวจใด (เท่าที่ทราบ), ภาพถ่าย หรือคลิปประกอบ (หากมี), ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ หมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และหมายเลขโทรศัพท์ ผู้ให้ข้อมูลข่าวสารหรือเบาะแส ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ทราบแล้ว โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย.62 และได้มีหนังสือกำชับให้ บช.น., ภ.1-9และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัด ตร. ทราบถึงมาตรการดังกล่าว ผลการดำเนินการ ระหว่างวันที่ 3 - 10 ก.ย.62 มีประชาชนส่งข้อมูลเบาะแสการแข่งรถในทางและความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง รวม 188 ราย ดังนี้ (1) ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191 จำนวน 160 ราย (2) ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน 1599 จำนวน 11 ราย (3) ศูนย์โซเชียลมีเดีย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวน 17 ราย ประสงค์ของรับเงินรางวัล 11ราย มีการดำเนินคดีตามกฎหมายและจ่ายเงินค่าตอบแทนฯให้แก่ผู้แจ้งเบาะแสแล้ว จำนวน 3 ราย ดังนี้ (1) ภ.จว.กำแพงเพชร มีประชาชนได้แจ้งข้อมูลเบาะแสว่า มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก Natsanai manee โพสต์ภาพการแข่งรถในทาง เป็นภาพรถ จยย. หลายคัน และมีรถ จยย.หนึ่งคันขับขี่ยกล้อหน้า และมีข้อความโพสต์ยุยุงส่งเสริมให้ผู้ติดตามกระทำความผิด ต่อมาผู้โพสต์ได้เข้าพบ พงส. เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ฐานสนับสนุนหรือส่งเสริมให้มีการแข่งรถในทางโดยไม่ได้รับอนุญาต และให้การรับสารภาพ ทางคดี พงส. มีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 134 วรรค 2 และได้โอนเงินค่าตอบแทนฯ แก่ผู้ให้เบาะแส ผ่านบัญชีธนาคารกรุงเทพ แล้ว เมื่อวันที่ 12 ก.ย.62 (2) ภ.จว.ชลบุรี มีประชาชนได้แจ้งข้อมูลเบาะแสว่า เมื่อวันที่ 31 ส.ค.62 เวลาประมาณ 13.24 น. มีแอดมินเพจในเพจ “Kingfastnight” ได้โพสต์ภาพการรวมตัวของการแข่งรถในทางจำนวนหลายรูปและมีข้อความโดยมีจุดประสงค์เพื่อรวมกลุ่มแข่งรถยนต์ในทางฯ ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.สส.ภ.จว.ชลบุรี ได้สืบสวนทราบว่าตัวผู้โพสต์ จึงได้กล่าวโทษต่อ พงส.สภ.เมืองชลบุรี ต่อมาผู้ต้องหาเข้าพบ พงส. เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาว่า เป็นผู้สนับสนุนหรือส่งเสริมให้มีการแข่งรถในทาง ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ ทางคดี พงส. มีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 134 วรรค 2 และได้โอนเงินค่าตอบแทนฯ แก่ผู้ให้เบาะแส ผ่านบัญชีธนาคารกรุงไทย แล้ว เมื่อวันที่ 12 ก.ย.62 ผลคดี ศาลแขวงชลบุรีพิพากษาจำคุก 1 เดือน ปรับ 2,000 บาท (รอการลงโทษกำหนด 1 ปี) (3) ภ.จว.สระบุรี เมื่อวันที่ 10 ก.ย.62 ได้รับแจ้งจากประชาชนว่ามีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “สช.แก่งคอย” โพสต์ข้อความลักษณะเชิญชวนให้บุคคลมาร่วมแข่งขันรถในทางกัน เหตุเกิดเมื่อวันที่ 18 ส.ค.62 เวลากลางคืน จึงได้สืบสวนจนทราบตัวผู้โพสต์ข้อความ และได้กล่าวโทษต่อ พงส.สภ.แก่งคอย จว.สระบุรี ต่อมาผู้ต้องหาเข้าพบ พงส. เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาว่า เป็นผู้สนับสนุนหรือส่งเสริมให้มีการแข่งรถในทางฯ ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ ทางคดี พงส. มีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหา ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 134 วรรค 2 และได้โอนเงินค่าตอบแทนฯ แก่ผู้ให้เบาะแส ผ่านบัญชีธนาคารกรุงศรีอยุธยา แล้ว เมื่อวันที่ 12 ก.ย.62มีการจับกุมแล้ว 3 ราย แต่อยู่ระหว่างรวบรวมเอกสารยื่นขอเบิกเงินฯ คือ 1) สภ.บางบัวทอง ประชาชนแจ้งผ่านศูนย์โซเชียลมีเดีย ศปก.ตร. ใช้เฟสบุ๊คชื่อ แบงค์ เมื่องนนท์ เป็น Admin Page ''สายชิว รถซิ่งประเทศนนท์" โพสข้อความชักชวนให้มีการออกมาแข่งรถหลายครั้ง จึงทำการสืบสวนสอบสวนจนทราบตัวผู้ที่ใช้ชื่อเฟสบุ๊คดังกล่าว และขอออกหมายจับต่อศาลแขวงนนทบุรี ได้ออกหมายจับใน ฐานความผิด เป็นผู้สนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำความผิด ขับรถจักรยานยนต์โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของตนเองหรือผู้อื่นในทางสาธารณะ ชักชวนบุคคลและกลุ่มวัยรุ่นออกมาขับขี่รถจักรยานยนต์ ก่อความเดือดร้อนรำคาญให้กับประชาชนที่ใช้รถใช้ถนน ต่อมาวันนี้ 11 ก.ย. 62 เวลาประมาณ 10.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางบัวทอง และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางแม่นาง ทำการจับกุมตัวผู้กระทำผิดได้ ในชั้นจับกุมผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ 2) สภ.ลำพูน ประชาชนแจ้งผ่านศูนย์โซเชียลมีเดีย ศปก.ตร. เป็นคลิปกลุ่มวัยรุ่น 4 คน ขับขี่รถจักรยานยนต์มาตามถนน ในลักษณะไม่คำนึงถึงความปลอดภัย จึงดำเนินคดีข้อหาร่วมกันขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น ปรากฏคลิปเมื่อวันที่ 8 ก.ย.62 ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ก.ย.62 ผู้ต้องหารวม 4 คน (เยาวชนอายุ 14 ปี) ได้เข้ามอบตัวต่อ พงส. รับทราบข้อกล่าวหาและให้การรับสารภาพ ทางคดี อยู่ระหว่างการสืบเสาะ 3) สน.วังทองหลาง ประชาชนแจ้งผ่านศูนย์โซเชียลมีเดีย ศปก.ตร.(ไม่ประสงค์รับเงิน) ว่ามีผู้กระทำผิดขับรถไม่คำนึงถึงความปลอดภัย ขับรถในลักษณะผิดปกติวิสัย (ยกล้อ) โดยมีคลิปประกอบ เหตุเกิดบริเวณ ซ.ลาดพร้าว 80 แยก 6 แขวง/เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ ต่อมาเมื่อวันที่ 11 ก.ย.62 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สืบสวนจนรู้และพบตัวผู้กระทำผิด จึงได้นำตัวมาที่ สน.วังทองหลาง ดำเนินคดีตามกฎหมาย ตามข้อหาข้างต้น ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ และได้นำตัวส่งพนักงานอัยการเพื่อฟ้องคดีต่อศาลเยาวชนและครอบครัวฯ พล.ต.ท. ดำรงศักดิ์ กล่วอีกว่า ผลการจับกุม ตั้งแต่ 27 มิ.ย.62- 8 ก.ย.62 ในภาพรวมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีดังนี้ 1. แข่งรถในทางและขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยฯ 592 ราย 2. สนับสนุนให้มีการแข่งรถหรือให้ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย 175 ราย 3. ดำเนินคดีบิดามารดาหรือผู้ปกครอง ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก 219 ราย 4. ดำเนินการตามคำสั่ง หน.คสช. ที่ 22/2558 และ 46/2558 13,163 ราย (ว่ากล่าวตักเตือนหรือทำทัณฑ์บน) 5. ดำเนินคดี ร้านขาย/ดัดแปลง รถหรืออุปกรณ์ 221 ราย ตรวจค้น/ประชาสัมพันธ์ ร้านขาย/ดัดแปลง รถหรืออุปกรณ์ 24,836 ร้าน 6. ตรวจพบท่อไอเสียไม่ได้มาตรฐาน 9,338 ชิ้น 7. ความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก และ พ.ร.บ.รถยนต์ ที่เกี่ยวข้อง 218,615 ราย 8. ดำเนินคดีกับ Admin Page 68 ราย 9. ตรวจยึดรถยนต์ 1,040 คัน รถจักรยานยนต์ 56,853 คัน 10. ความผิดอื่นๆ 74 ราย 11. จัดทำประวัติผู้กระทำผิดและผู้มีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะแข่งรถในทาง 40,222 ราย 12. กรณีจับกุมผู้ต้องหาส่งฟ้องศาล และศาลมีคำสั่งให้ริบรถของกลาง 59 คัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอประชาสัมพันธ์ และขอความร่วมมือมายังพี่น้องประชาชน หากพบเห็น หรือมีเบาะแสเกี่ยวกับการรวมกลุ่มหรือมั่วสุมในลักษณะหรือพฤติการณ์ที่น่าจะเป็นการนำไปสู่การแข่งรถในทางหรือความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือได้รับผลกระทบจากการกระทำดังกล่าว สามารถแจ้งข้อมูลหรือเบาะแสได้ทางสายด่วน 1599 ,ศูนย์รับแจ้งเหตุ 191, และส่งคลิปวิดีโอแจ้งข้อมูลเบาะแสที่เกี่ยวข้องให้ตำรวจทราบ ในช่องทางเพจเฟซบุ๊ค ศูนย์โซเซียลมีเดีย ศปก.ตร.