นายพิพัฒน์  วรสิทธิดำรง นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากเครือข่ายครูผดด.ทวงความเป็นธรรมแจ้งว่า หลังจากที่ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย โดย สำนักงานเลขานุการ ก.ท./ก.อบต. มีหนังสือแจ้งเวียนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ลงวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๒ ให้แจ้งนายกเทศมนตรีและนายกองค์การบริหารส่วนตำบลที่มีข้าราชการส่วนท้องถิ่นตำแหน่งครูผู้ดูแลเด็ก หรือ ครูผดด. รวม ๙๘ คนออกจากราชการโดยพลัน ภายหลังบรรจุมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ – ๒๕๕๖ หรือเมื่อ ๖ – ๗ ปีที่แล้ว โดยอ้างว่า ครูผดด.จำนวนดังกล่าว ใช้วุฒิการศึกษาในการสมัครเข้ารับการคัดเลือกกรณีมีเหตุพิเศษโดยไม่ต้องสอบแข่งขันไม่ตรงตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง ทำให้ครูผดด.รวมทั้งครอบครัวเกิดความเครียดและวิตกกังวลในเนื้อหาของหนังสือฉบับดังกล่าว นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา นายนิยม  ภูผานม อายุ ๔๓ ปี ซึ่งเป็นสามีของครูปิยะวดี  ภูผานม ครู คศ.๒ สังกัดศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลโนนศิลาเลิง อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ ผูกคอตาย จากการสอบถามครูปิยะวดี ได้เล่าให้ฟังว่า ก่อนสามีของตนจะผูกคอตาย ได้บ่นกับตนและญาติให้ฟังบ่อยครั้งว่า อยากไปผูกคอตายที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อให้ผู้ใหญ่ได้รับรู้ความทุกข์ของครอบครัวตน เนื่องจากสามีตนเครียดมากหลังจากที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้มีหนังสือแจ้งให้ตนออกจากราชการ เพราะสงสารตนและครอบครัวที่ต้องทนทุกข์กับเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งตนก็ไม่คาดคิดว่า สามีตนจะคิดสั้นแบบนี้ จนตนทำอะไรไม่ถูกแล้วในเวลานี้ ดังนั้น จึงสันนิษฐานว่า “การผูกคอตายของนายนิยมครั้งนี้ สาเหตุสำคัญน่าจะมาจากการแรงกดดัน บีบคั้นจากหนังสือฉบับดังกล่าว”  ดังนั้น ตนอยากให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.๑) ในฐานะประธานกรรมการกลางพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.) และประธานกรรมการกลางพนักงานเทศบาล (ก.ท.) ได้ลงมาดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ก่อนที่จะเกิดเรื่องทำนองนี้ขึ้นอีก “จริงๆ แล้ว ครูผดด.จำนวนดังกล่าวมิได้มีความผิดอะไร ผู้ที่บกพร่องในการทำให้เกิดเรื่องเหล่านี้คือ ตัวของคณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล (ก.ท.) และคณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.) รวมทั้งอธิบดีหรือรองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเอง ที่ทำหน้าที่เหล่านี้ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ที่ไม่แจ้งหลักเกณฑ์การคัดเลือกให้ชัดเจนตั้งแต่แรก รวมทั้ง คณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัด (ก.ท.จ.) คณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัด (ก.อบต.จังหวัด) และฝ่ายเลขานุการของทั้งสองคณะกรรมการที่ไม่ตรวจสอบรายละเอียดเรื่องคุณสมบัติของผู้ผ่านการคัดเลือกให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ก่อนเสนอให้คณะกรรมการฯมีมติให้ความเห็นชอบ จึงไม่ใช่ความผิดของครูผดด.แต่อย่างใด” นายพิพัฒน์ ก่าวอีกว่า อีกทั้งทางออกของเรื่องนี้ก็ง่ายนิดเดียวคือ หนึ่ง ก.กลาง มีมติเยียวยาให้ครูผดด.เหล่านี้ได้เป็นข้าราชการต่อไป และให้เวลาหรือโอกาสไปเรียนให้จบวุฒิทางการศึกษาให้ครบถ้วน ซึ่งทราบว่า ครูผดด.ส่วนใหญ่ร้อยละ ๘๐ ไปเรียนต่อวุฒิทางการศึกษาเอกปฐมวัยหมดแล้ว คงเหลือเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ที่อยู่ระหว่างการศึกษา หรือทางที่สองคือ ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาและคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เพื่อให้วินิจฉัยว่า อบต.หรือเทศบาล โดยความเห็นชอบของ ก.จังหวัด และโดยการวินิจฉัยของก,ท.และก.อบต. มีอำนาจสั่งให้ครูเหล่านี้ออกจากราชการได้หรือไม่ เนื่องจากพ้นระยะเวลา ๙๐ วันนับแต่วันที่ครูผดด.หล่านี้บรรจุแต่งตั้งมานานแล้ว “ประการสุดท้ายต้องถามอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและผู้ที่เกี่ยวข้องว่า  “ตลอดระยะเวลา ๖-๗ ปีที่ผ่านมา ครูผดด.เหล่านี้ได้พิสูจน์ให้สังคมที่เขาทำงานอยู่เห็นเป็นที่ประจักษ์หรือยังว่า เขาสามารถปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งได้อย่างครบถ้วน สมบูรณ์ ไม่ขาดตกบกพร่องใดๆ เพราะเท่าที่ทราบครูผดด.เหล่านี้ ได้รับการเลื่อนระดับขึ้นเป็น ครูคศ. ๒ เกือบหมดแล้ว และหลายคนยังอยู่ในระหว่างการทำเรื่องขอประเมินเพื่อเลื่อนระดับขึ้นเป็นครูคศ.๓ ด้วย จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะให้ครูผดด.เหล่านี้ออกจากราชการ หากผู้ใหญ่ในกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ใช้หลักคุณธรรมและหลักเมตตาธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินสักนิด เหตุสลดในเรื่องนี้คงไม่เกิดขึ้น” นายพิพัฒน์กล่าว.