เมื่อวันที่ 13 ก.ย.62 พ.ต.อ.บุญส่ง จันทรีศรี ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จัดแถลงนโยบายการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลให้กับตัวแทนจำหน่ายและกลุ่มผู้ซื้อจองลอตเตอรี่ภาคใต้รวม 14 จังหวัด จำนวนกว่า 500 ราย เพื่อชี้แจงนโยบายการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสลากรวมชุดแบบคละเลข 2-2-1 การนำแอพพลิเคชัน GLO Lottery มาใช้ในการพัฒนาระบบการจำหน่าย พ.ต.อ.บุญส่ง จันทรีศรี ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดเผยว่า สำนักงานฯเตรียมประกาศเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ให้ผู้ค้าที่เข้ามาลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชัน My Glo ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ค้ามาลงทะเบียนเพิ่มขึ้น เช่น การเพิ่มโควตาสลากฯกับผู้ค้าสลากกินแบ่งฯ เนื่องจากปัจจุบันหลังเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่เดือนก.ค.ยังมียอดลงทะเบียนน้อยอยู่เพียง 7,546 ราย จากผู้ค้าทั้งหมดที่มากกว่า 1 แสนราย นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้ค้าสลากฯที่ยังไม่ได้โควตาสลากฯสามารถเข้าลงทะเบียนกับแอพฯได้ด้วย เพื่อแสดงตัวตนว่าเป็นผู้ค้าสลากฯตัวจริง และในอนาคตหากมีโควตาสลากฯเหลือก็อาจพิจารณาจัดสรรให้ ซึ่งเป็นเป้าหมายของสำนักงานฯ ที่ต้องการนำผู้ค้าตัวจริงที่อยู่นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบมากที่สุด "ปัจจุบันผู้ค้าได้รับโควตาสลากฯงวดละ 5 เล่ม แต่ผู้ค้าส่วนใหญ่บอกว่ายังไม่พอขาย และต้องการให้เพิ่มเป็น 10 เล่ม ซึ่งต้องยอมรับว่าสำนักงานสลากฯไม่มีสลากฯพอจะเพิ่มให้ได้ครบทุกคน จึงจะมีการนำข้อมูลในแอพฯจากทั้งคนขาย และการตอบรับจากคนซื้อมาประเมินคัดกรอง ซึ่งหากใครขายเยอะ มีประวัติดี เป็นคนขายเองไม่มีการนำไปขายต่อ หรือขายไม่เกินราคาอยู่ที่ 80 บาท ก็อาจพิจารณาเพื่อเพิ่มโควตาให้" พ.ต.อ.บุญส่ง กล่าวว่า ส่วนการลงทะเบียนของประชาชน ผู้ซื้อผ่านแอพฯมียอดเข้ามาแล้ว 328,721 ราย ซึ่งถือจำนวนยังไม่มากนัก เพราะอาจจะมีขั้นตอนเยอะการลงทะเบียน ทั้งที่จริงเมื่อลงทะเบียนผู้ซื้อจะได้รับประโยชน์มาก เช่น การป้องลอตเตอรี่สูญหาย เพราะหากใครลงทะเบียนแล้ว นำแอพฯมาสแกนข้อมูลคิวอาร์โค้ดลอตเตอรี่เข้าระบบ ข้อมูลจะถูกส่งไปที่สำนักงานสลากฯ เพื่อใช้เป็นหลักฐานส่วนในการแสดงความเป็นเจ้าของได้ "อย่างไรก็ดียอมรับว่าปัญหาที่ทำให้ผู้ค้าลงทะเบียนน้อย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะยังปรับตัวรับเทคโนโลยีไม่ทัน จึงอาจต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ และให้เวลาปรับตัวอีกระยะ แต่สุดท้ายจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ขายและผู้ซื้อเอง" ส่วนกรณีที่มีการปลอมแปลงสลากพ.ต.อ.บุญส่ง กล่าวว่า ประชาชนผู้ซื้อสลากฯสามารถตรวจสอบได้เบื้องต้นว่าเป็นสลากจริงหรือไม่ ให้ใช้วิธีการเปรียบเทียบกับสลากของจริงของสำนักงานสลากฯในงวดนั้น ๆ เพื่อหาความแตกต่างกับสลากที่ต้องการตรวจพิสูจน์ เช่น ตรวจดูคุณลักษณะทั่วไปของสลาก คือความหนาบางของกระดาษ รูปภาพสลาก ขนาดของตัวเลข และขนาดของตัวอักษร นอกจากนี้ยังสามารถตรวจสอบกระดาษที่ใช้พิมพ์สลากจะมีลายน้ำในเนื้อกระดาษเมื่อส่องกับแสงไฟสีขาว หรือแสงสว่างจะมองเห็นลายน้ำรูปนกวายุภักษ์และเมื่อส่องกับแสงไฟสีม่วง(แสงยูวี) จะมองเห็นเส้นไหม และเส้นที่พาดผ่านตัวเลขมีลักษณะเรืองแสง รวมทั้งวิธีการดูการแก้เลขหรือไม่ ดูจากหมอนรองตัวเลข มีความผิดปกติหรือไม่ เส้นที่พาดผ่านตัวเลขมีความต่อเนื่องหรือไม่ และตัวหนังสือใต้ตัวเลข กับตัวหนังสือที่ปลายสลาก(ปลายขั้ว)เป็นตัวเดียวกันหรือไม่ รวมทั้งสามารถสแกน 2 D barcode ว่าตรงกับเลขสลากหรือไม่ ซึ่งในส่วนของ 2 D ก็ต้องดูว่ามีการแก้ไขหรือไม่ และอาจใช้น้ำสะอาดถูบนสลาก ถ้าเป็นหมึกที่ใช้พิมพ์ตัวเลขสลากของจริงเมื่อถูกน้ำจะไม่ละลาย โดยผู้กระทำหรือผู้นำสลากปลอมแปลงหรือแก้ไขตัวเลขไปใช้ขอรับรางวัลที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลหรือที่อื่นใด มีความผิดอาจถูกดำเนินคดีอาญา ที่มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 1 หมื่นบาทถึง 1 แสนบาท ด้านนายศึกษา ลักษณะพริ้ม เลขาธิการสมาคมคนพิการผู้ค้าสลากแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมฯต้องการที่จะให้เพิ่มโควต้าคนพิการจาก 5 เล่ม เป็น 10 เล่ม เนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ และไม่ต้องการที่จะเป็นภาระสังคม เพราะคนพิการไม่สามารถหาอาชีพอื่นได้เหมือนคนปกติ