ภาพรวมการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล “ลุงตู่2” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในเวลานี้ต้องยอมรับว่ากำลังอยู่ในช่วงมรสุมเศรษฐกิจที่โหมกระหน่ำซัดแทบจะตั้งตัวไม่ติด ทั้งที่มาจากปัจจัยภายนอกประเทศ ที่เศรษฐกิจภูมิภาคต่างๆทั่วโลกโดนพิษสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ,ความวุ่นวายในการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีการทำข้อตกลง (no-deal Brexit) และสถานการณ์การประท้วงในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง เป็นต้น ขณะที่ปัญหาปัจจัยภายในประเทศ ก็มีผลกระทบไม่น้อยเช่นกัน อาทิ ค่าเงินบาทที่แข็งค่า และความไม่ชัดเจนในแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ และมาตอกย้ำถึงความถดถอยของเศรษฐกิจประเทศ ที่ทาง “ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย” โดย “เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์” อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ออกมาตอกย้ำถึงความถดถอยดัชนีความเชื่อมั่นฯว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือนสิงหาคม 2562 สำรวจระหว่างวันที่ 26-30 สิงหาคม ที่ผ่านมา ลดลงต่อเนื่อง 6 เดือน และต่ำสุดในรอบ 19 เดือน มาอยู่ที่ระดับ 46.5 จากเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 46.7 โดยมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการเห็นว่าส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับ “ธนวรรธน์ พลวิชัย” รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯมีแนวโน้มชะลอตัวลง รวมถึงมาตรการของรัฐยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจอย่างโดดเด่น จึงยังไม่สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจปัจจุบันได้ โดยภาคท่องเที่ยว ภาคบริการขนส่ง โลจิสติกส์ยังคงโดดเด่น และ “วีรพงษ์ รามางกูร” อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยกำลังได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างประเทศ แต่สิ่งที่อยากให้รัฐบาลดำเนินการ คือ ประคับประคองเศรษฐกิจ ด้วยการดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศให้มีประสิทธิภาพ ขณะที่ฟากรัฐบาลก็ได้เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อหวังให้ผ่านวิกฤติในครั้งนี้ให้จงได้ โดยที่ประชุม “คณะรัฐมนตรี” ครั้งล่าสุด (10ก.ย.2562) ที่ประชุมจัดหนักแผนกระตุ้นโดยมีมติเห็นชอบมาตรการ Thailand Plus Package ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และหน่วยงานรับผิดชอบ ประกอบ 7 ด้าน คือ 1.ด้านสิทธิประโยชน์ โดยให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติม เพื่อเร่งรัดการลงทุน โดยลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 5 ปี สำหรับโครงการที่มีเงินลงทุนจริงอย่างน้อย 1,000 ล้านบาท ภายในปี 2564 โดยต้องยื่นคำขอรับการส่งเสริมภายในปี 2563 ,2.กระบวนการตัดสินใจ โดยให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน และประสานงานการลงทุน เป็นต้น 3.ด้านคน มาตรการสนับสนุนการฝึกอบรมแรงงาน โดยให้ผู้ประกอบการนำเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรมที่เข้าข่ายเป็น Advanced Technology ไปหักค่าใช้จ่ายได้ 250% ระหว่างปี 2562-2563 ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้มอบหมายให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นผู้รับรองก่อนใช้สิทธิ์ นอกจากนี้ ยังให้ผู้ประกอบการนำเงินลงทุน หรือค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรมที่เข้าข่ายเป็น Advanced Technology ไปคำนวณรวมเป็นวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้เป็น 2 เท่า ในกรณีของโครงการลงทุนใหม่และโครงการลงทุนเดิมที่ยังได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลอยู่ ด้านมาตรการสนับสนุนการจ้างงานใหม่ที่เป็นบุคลากรทักษะสูง โดยให้ผู้ประกอบการนำค่าใช้จ่ายการจ้างงานใหม่ที่เป็นบุคลากรทักษะสูงไปหักค่าใช้จ่ายได้ 150% ระหว่างปี 2562-2563 เป็นต้น ,4.Ease of Doing Business โดยเร่งปรับปรุง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นอุปสรรคและข้อจำกัดการลงทุนในสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมถึงพิจารณานำเสนอแนวทางลดข้อจำกัดและแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านการลงทุน ผ่านกลไกเหมาะสม ปรับปรุงระเบียบเรื่อง Visa&Work Permit รวมถึงอำนวยความสะดวกในการพำนักในประเทศไทย เป็นต้น 5.ที่ดิน โดยจัดหาและพัฒนาพื้นที่เฉพาะเพื่อรองรับการลงทุนที่สอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุนต่างชาติแต่ละประเทศเป็นการเฉพาะ 6.ด้านตลาด ให้พิจารณาสรุปผลการศึกษา และดำเนินกระบวนการภายใน เพื่อให้ได้ข้อสรุปเรื่องการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูและการเข้าร่วม CPTPP เป็นต้น และ7.ด้านห่วงโซ่อุปทาน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตด้วยระบบอัตโนมัติ เห็นควรให้กำหนดมาตรการคลังเพิ่มเติม โดยให้หักเงินลงทุนด้านระบบอัตโนมัติได้ 200% ระหว่างปี 2562-2563 ทั้งนี้ กระทรวงการคลังอาจมอบหมายให้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศไทยภายใต้สถาบันไทย-เยอรมันเป็นผู้รับรองก่อนใช้สิทธิ์ รวมถึงอีกหนึ่งมาตรการในการสร้างความเชื่อมั่น โดยที่ประชุมครม.เห็นชอบขยายเวลาภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 ต่อไปอีก 1 ปี สิ้นสุด 30 กันยายน2563 ก็เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชน และสร้างความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจให้กับภาคเอกชน ทำให้ระบบเศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเพื่อสนับสนุนเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ทั้งนี้ “อุตตม สาวนายน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มปรับลดลง สาเหตุสำคัญมาจาก 2 ส่วน คือ มูลค่าการนำเข้าที่ลดลงจากเงินบาทแข็งค่า และอีกส่วนมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ แต่จากที่ได้รับรายงานล่าสุดของกรมสรรพากร พบว่าสิ้นเดือนสิงหาคมนี้รายได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.4 ซึ่งเป็นสัญญาณที่เห็นว่าการบริโภคในประเทศเริ่มกลับมาแล้ว "รัฐบาลพยายามจะทำให้เศรษฐกิจในประเทศมีการหมุนเวียน และเดินหน้าต่อไปได้ จึงได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แต่ทุกภาคส่วนก็ต้องช่วยกันสร้างความมั่นใจด้วย" รมว.คลังกล่าว และ“สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในช่วงสิ้นเดือนกันยายนนี้รัฐบาลจะออกมาตรการเสริมแกร่งเศรษฐกิจของประเทศอีกรอบ เสริมจากมาตรการช่วยเหลือประชาชนผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สำหรับมาตรการชุดใหม่จะมุ่งสนับสนุนให้ภาคการเกษตรไทยสามารถเปลี่ยนแปลงและเพิ่มมูลค่าผลผลิตมากขึ้น จากปัจจุบันภาคการเกษตรของไทยใหญ่มาก แต่กลับมีมูลค่าผลผลิตต่อจีดีพีประเทศเพียงร้อยละ 3-4 เท่านั้น มาตรการจะอยู่ในรูปแบบของความร่วมมือระหว่างธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สภาเกษตรกรและกองทุนหมู่บ้าน โดยมีกระทรวงการคลังเป็นฐานหลักในการเรียกประชุมและผลักดันมาตรการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้มอบนโยบายให้กระทรวงอุตสาหกรรมเริ่มต้นขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกษตรอย่างจริงจัง จากเดิมเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และอุตสาหกรรมหนัก สุดท้ายคงต้องจับตาแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังโซซัด โซเซ! มาตรการเศรษฐกิจที่รัฐบาลกำลังคลอดมา จะช่วยอะไรได้มากน้อยแค่ไหน! บอกเลยว่าช้าไม่ได้...เพราะจะกลายเป็นชนวนระเบิดที่พร้อมจะทำลายรัฐบาลได้ทุกเมื่อ!!!