หมายเหตุ : “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” สัมภาษณ์พิเศษ “ไตรศุลี ไตรสรณกุล” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีคนใหม่ป้ายแดง ตัวแทนจากพรรคภูมิใจไทย ที่ได้มีโอกาสเข้ามาร่วม “ทีมโฆษกรัฐบาล” ทำหน้าที่เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับรัฐบาล ด้วยความเป็นคนรุ่นใหม่ ที่ไตรศุลี ได้รับมอบหมาย และความไว้วางใจจากพรรคภูมิใจไทย ให้เป็นตัวแทนทำหน้าที่สำคัญเพื่อสื่อสาร นำเสนอผลงานรัฐบาล ตลอดจนเร่งชี้แจง สร้างความเข้าใจต่อพี่น้องประชาชน อีกทั้งในฐานะที่ไตรศุลี เป็นนักการเมืองที่เดินตามรอยผู้เป็นพ่อ วิชิต ไตรสรณกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ศรีสะเกษ เป็นผู้แทนของพี่น้องชาวศรีสะเกษ มาตั้งแต่แรก ซึ่งนับเป็นประโยชน์ต่อการส่งผ่านข้อมูลไปพร้อมๆกับการสะท้อนความคิดเห็น และปัญหาจากประชาชนในพื้นที่ สู่ “ฝ่ายบริหาร” ได้อย่างชัดเจน - คิดว่าเป็นเพราะอะไร ที่ผู้ใหญ่ในพรรคภูมิใจไทยเลือกให้มานั่งในตำแหน่งรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จริง ๆ ก็ไม่เคยถามชัดเจนว่าทำไมจะต้องเป็นเรา แต่ก็เคยมีการพูดกันว่า อยากจะให้คนรุ่นใหม่มีโอกาสได้มาทำงาน ซึ่งพรรคเองก็มองว่า คนรุ่นเก่าจะอยู่ได้อีกกี่สมัย อย่างมากก็ 2 - 3 สมัย และถ้าไม่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน แล้วเมื่อไหร่จะมีโอกาสเข้ามาเรียนรู้งาน พรรคก็เลยให้โอกาสเราเข้ามาลองฝึกงาน มาลองทำงาน เพื่อที่อนาคตคนรุ่นใหม่จะได้เข้ามาทำงานต่อไป - มีการติดต่อผ่านทางไหน อย่างไร เราไม่รู้มาก่อนด้วยซ้ำว่า จะต้องมาทำงานตำแหน่งนี้ ซึ่งก่อนหน้านั้นตัวเองเป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจลำดับที่ 30 แต่ลำดับไม่ถึง และอยู่ดีๆ คุณพ่อก็โทรศัพท์มาบอกว่า จะมีงานให้ทำเป็นตำแหน่งทางการเมือง ตอนนั้นตัวเองก็ยังไม่รู้ว่าเป็นตำแหน่งอะไร เพิ่งมารู้พร้อมกับมีสื่อโทรศัพท์เข้ามาสอบถาม - ได้มีการเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ก่อนเข้ามาทำงาน เรา ไม่รู้เลยว่า ตำแหน่งรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะต้องทำอะไรบ้าง ขอบเขตงานเป็นอย่างไร งานเป็นแบบไหน เราก็ไปหาข้อมูลจากผู้ใหญ่ที่เขาเคยเป็นมาก่อน พยายามอ่านข่าวทุกวัน เริ่มเปลี่ยนวิถีชีวิตตัวเองใหม่ทั้งหมด เพราะยังไม่เคยเข้ามาอยู่ในวงการนี้เลย ถือว่าใหม่มาก ส่วนคุณพ่อเองก็ไม่ได้แนะนำอะไร บอกแค่เพียงว่า ทำให้ดีที่สุด เดี๋ยวก็รู้เอง ก็เรียนรู้ไป ต่อให้เก่งแค่ไหนก็ไม่รู้ทุกอย่างทั้งหมด ก็ค่อย ๆ เรียนรู้ไป ตอนนั้นตัวเองก็รู้เพียงว่า ต้องมาลองดูก่อน แค่เราเป็นตัวเอง เป็นธรรมชาติและคิดแค่ว่า อย่างน้อยเรามาจากชาวบ้านที่แท้จริง จะพูดอะไร สื่อสารอะไรก็ต้องเป็นสิ่งที่ชาวบ้านเขาเข้าใจ ว่าชาวบ้านเขาต้องการอะไร อยากจะรู้อะไร เพราะคนส่วนใหญ่ของประเทศก็คือชาวบ้าน - ผ่านการทำงานมาสักระยะหนึ่งแล้ว พบว่างานในทีมโฆษกรัฐบาลนั้น เป็นเหมือนที่เราคาดการณ์เอาไว้หรือไม่ และมีความยากง่ายอย่างไรบ้าง ตอนที่แถลงข่าวแต่ละเรื่องจะมีความตั้งใจมาก ซึ่งเราพยายามที่จะหาข้อมูล ต้องพร้อมทุกเรื่อง ว่าเรื่องไหนบ้างที่จะเข้ามาอยู่ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะรู้แค่ 1 วันก่อนประชุมหรือระยะเวลาสั้น ๆเท่านั้น ต้องมีการติดตามข่าวสารทุกวัน และข่าวสารอะไรที่ประชาชนให้ความสนใจ ซึ่งมีความแตกต่างก่อนที่เข้ามาทำงานในตำแหน่งนี้ เพราะเมื่อเข้ามาทำงานก็มีความชัดเจนมากขึ้น ว่าเราต้องทำอะไร ก่อนหน้าที่จะเข้ามานั้น ก็มีความกังวลว่าจะต้องทำอย่างไร เพราะไม่รู้เรื่องอะไรเลย แต่มาทำงานก็เริ่มรู้แล้วว่า เราต้องมาเวลานี้ เราต้องทำตัวแบบนี้ เราต้องไปที่นี้ เราต้องแถลงข่าวแบบนี้ วันนี้ก็เริ่มรู้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่เก่ง ก็จะพัฒนาไปเรื่อยๆ - เวลาไปแถลงข่าวมีฟีดแบ็คจากสื่อมวลชนเป็นอย่างไร จริง ๆ ต้องขอบคุณพี่ ๆนักข่าว หลายๆ ท่านมาก เพราะเป็นครูที่ดีมาก จะบอกเราทุกเรื่อง ทั้งเวลาตอนแถลงข่าวก็ขอให้ยิ้มหน่อย อย่าทำหน้าบูด ทรงผมแบบนี้ไม่ได้ ชุดต้องเป็นแบบไหน เราคิดว่าจะต้องเรียนรู้จากพี่ ๆ นักข่าวเยอะ ซึ่งพวกพี่เขาก็เอ็นดูเรา ตัวเราเองก็พยายามฟังจากที่พี่เขาพูด ว่าควรทำอะไรหรืออย่างไรบ้าง เวลาแถลงข่าวเสร็จก็จะมีการคอมเม้นต์ว่า วันนี้แถลงข่าวเป็นอย่างไรบ้าง เราก็รับฟังทุกคอมเม้นต์ แล้วนำมาปรับปรุง แต่เวลาแถลงก็ยังไม่ชิน ยังตื่นเต้นอยู่ เวลามีคนมาชมเราก็รู้สึกดีใจมาก แต่ถ้าใครมาติ เราก็ดีใจนะ เพราะอย่างน้อยเขาก็ให้ความสนใจ และอยากให้เราพัฒนาดีขึ้น อย่างเรื่องการเขียนข่าวก็ได้รับคำแนะนำว่าเขียนอย่างไร ส่งข่าวอย่างไร ซึ่งเราก็บอกเสมอว่ามีอะไรก็ขอให้แนะนำกันด้วย เราพร้อมที่จะรับฟังจากทุกคน พอเมื่อฟังแล้วเราก็ไม่ได้เก็บไปคิดจนเครียดอะไร แต่จะเลือกอะไรที่เราทำได้ เราก็จะพยายามทำ - การทำงานในทีมโฆษกประจำสำนักนายกฯ มีปัญหาหรือไม่ เพราะแต่ละคนมาจากคนละพรรค หลาย ๆ คนมาถามว่ามีปัญหาอะไรไหม เราก็ตอบว่า ไม่มีปัญหาอะไรในทีมโฆษกประจำสำนักนายกฯ เลย เพราะเรามีการแบ่งงานกันชัดเจนอยู่แล้ว ว่าใครดูอะไรอย่างไร ท่านนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็จะแนะนำและบอกว่า เรามาทำงานตรงนี้ด้วยกัน ก็เหมือนเป็นกลุ่มเดียวกัน ต้องตั้งใจทำงานเพื่อประชาชน เพราะเรามาจากประชาชน และเจ้านายเราก็คือประชาชน เราก็ไม่คิดว่าใครจะมาเป็นเจ้านายเรา ก็ต้องทำเพื่อประชาชน นโยบายจากท่านนายกฯ คือทำงานให้เป็นทีม ทำงานให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่ว่าคุณจะมาจากพรรคไหน คุณมาทำงานกับรัฐบาลแล้ว ก็ต้องอยู่ให้เป็นก้อนเดียวกัน - การที่ทีมโฆษกประจำสำนักนายกฯ เป็นหญิงล้วน ช่วยลดแรงปะทะทางการเมืองที่จะส่งผลกับรัฐบาลให้ดูเบาลงหรือไม่ ถ้าในมุมมองตัวเอง จะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย เมื่อมาทำหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกฯ ซึ่งมีหน้าที่หลักคือการสื่อสาร ก็คิดว่าทำหน้าที่ได้เหมือนกัน แต่อาจจะช่วยไปลดความแรงก็มีบ้าง เพราะถ้าอยู่ดีๆ เขามาว่าผู้หญิงก็ต้องคิดก่อนแล้ว ตรงนี้เป็นความอ่อนโยนของผู้หญิงที่มีมากกว่าผู้ชาย ก็อาจจะลดความแรงไปได้บ้าง ไม่ใช่ออกมาว่ากันก่อนเลย - ในมุมมองของตัวเอง แนวทางการเมืองของคุณพ่อ และของตัวเองแตกต่างอย่างไร ในส่วนของคุณพ่อ จะเป็นเรื่องของการเมืองท้องถิ่น ไม่ได้ลงระดับประเทศ ส่วนตัวเองก็อยู่กับท้องถิ่นมาตลอด ซึ่งเราก็มองว่าการระดับเมืองท้องถิ่น และการเมืองระดับชาติมีความแตกต่างกันอยู่แล้ว เพราะในระดับท้องถิ่นเราต้องอยู่กับชาวบ้านจริงๆ ต้องอยู่กับพื้นที่ เมื่อมาทำงานตรงนี้ก็ต้องปรับตัว เพราะชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้เห็นหน้าเราเลย ซึ่งหากชาวบ้านไม่เห็นหน้าก็อาจจะมีผลอยู่บ้าง แต่ชาวบ้านบางคนพอรู้ว่ามาทำงานตรงนี้ก็ดีใจด้วย เมื่อเรากลับบ้านไป ชาวบ้านก็เข้ามายินดี เหมือนกับว่าเขาอยากผลักดันให้เรามาอยู่ตรงนี้ เขามองเราเหมือนเป็นลูกหลานเขา เพราะเราอยู่ที่จังหวัดศรีษะเกษ มาตั้งแต่เด็ก เรียนก็เรียนที่นั่น เราโตมากับคนในพื้นที่ เขาก็มองดูความเติบโตของเราตั้งแต่เด็ก พอมาอยู่จุดนี้ บางคนมาก็มากอด มาแสดงความดีใจ มาจับมือ บอกว่าดีแล้วลูก ไปเถอะ ทำให้ดีที่สุดเป็นโอกาสของเราแล้ว เราก็รู้สึกดี บางคนเห็นเราในทีวีก็โทรศัพท์มาหา แต่ถ้าเห็นเราออกทีวีน้อยก็บอกว่า ทำไมเขาไม่ถ่ายหนูเลย กลายเป็นแฟนคลับเราไปแล้ว เราไม่เคยเจอแบบนี้ พอเจอแบบนี้ก็กลายเป็นแรงผลักดันหนึ่งให้เราทำงานต่อไป - เวลาลงพื้นที่พบปะประชาชน สิ่งที่ประชาชนสะท้อนกลับมามีอะไรบ้าง มีทั้ง 2 ด้าน ทั้งการให้กำลังใจและต่อว่า ซึ่งก็ต้องเข้าใจเพราะต้องมีทั้งคนรัก และคนไม่รัก ส่วนเรื่องปัญหาปากท้อง ปัญหาเศรษฐกิจ ยังไม่เห็นว่าจะมีอะไรมาก อาจจะมีมาบอกว่าเศรษฐกิจไม่ดีจริง ๆ ก็มีมาบ้าง แค่บอกว่าไม่ดี แต่ก็ไม่รู้ว่าไม่ดีอย่างไร - จากที่เคยอยู่ในท้องถิ่น มองเห็นปัญหาประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอะไรบ้าง ปัญหาในพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาเรื่องราคาสินค้าการเกษตรที่ตกต่ำ ทั้งราคายางพารา ราคาข้าว ในส่วนของที่ดินทำกินเขามีกันอยู่แล้ว แต่อาจจะไม่ใช่โฉนด แค่เป็นสปก. แต่การเพาะปลูกพืชผล ขายไม่ได้ เรื่องนี้ก็เป็นปัญหาหลักของพื้นที่ ในส่วนของภัยแล้งเพิ่งมาเจอในช่วงปีหลัง ๆ เราเองก็ได้ช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไป เพราะในระยะกลาง ระยะยาว รัฐบาลได้มีมาตรการต่าง ๆออกมา ทั้งการทำชลประทาน และการเยียวยา