ดนตรี / วรรณากร ทองเสริม แวมไพร์ วีคเอนด์ เปิดตัวเมื่อปี 2551 ในฐานะของวงอินดี้ป็อปอเมริกันจากนิวยอร์ก และน่าจะเป็นตัวแทนภาพสะท้อนของความเป็นนิวยอร์กซิตี้-แหล่งรวมผู้คนสารพัดรูปแบบได้ดี เนื่องด้วยสมาชิกที่มีหลายเชื้อชาติ หลากวัฒนธรรม ทั้งยิว, เปอร์เซีย(อิหร่าน) และ ไอริช-ยูเครน ในทศวรรษที่ผ่านมาแวมไพร์ วีคเอนด์ คือวงขวัญใจคนหนุ่มสาว เพลงในแบบอินดี้ ร็อค/อินดี้ ป็อป ของพวกเขาในสองอัลบั้มแรก (Vampire Weekend, Contra) สร้างฐานแฟนเพลงไว้มากมาย รวมทั้งในไทย งานชุดที่ 3 (Modern Vampires Of The City) ของพวกเขาก็ประสบความสำเร็จด้วยดีที่บ้านเกิด แต่กลับดูเหมือนจะเงียบๆ ไปในบ้านเรา และทิ้งช่วงไปนานถึงหกปี ก่อนจะมีอัลบั้มชุดล่าสุดนี้ Father Of The Bride เป็นงานชุดที่ 4 ของวง หลังจากสมาชิกแยกย้ายกันไปทำงานเดี่ยว และมีสมาชิกคนหนึ่งลาออกไปจริงๆ กระนั้น แวมไพร์ วีคเอนด์ ก็ยังคงเดินหน้าต่อไป ทั้งที่เสียสมาชิกคนสำคัญอย่าง รอสแทม แบทแมนกลิจ ไปแล้ว เพราะถึงอย่างไร นักร้องนำและนักแต่งเพลงของวงอย่าง เอซร่า โคนิก ก็ยังอยู่กับอีกสอง คริส ที่เหลือ (คริส ทอมสัน – กลอง, คริส เบโอ - เบสส์) หนุ่มยิวคนนี้คือฟันเฟืองชิ้นสำคัญที่สุดของวง จึงไม่แปลกอะไรที่ โคนิก ผู้เป็นทั้งนักร้องนำและนักแต่งเพลง แทบจะเป็นศูนย์กลางของแวมไพร์ วีคเอนด์ (แม้ว่าเขาจะไม่ได้ตั้งใจ) และงานชุดใหม่นี้จะมีไอเดียจากเขาเป็นหลัก ขณะที่เนื้อเพลงมีหลายมุมที่ฉายให้เห็นมุมมืดหม่น ดนตรีโดยรวมของ Father Of The Bride ซึ่งบรรจุเพลงไว้มากถึง 18 เพลงนั้น กลับให้ความนุ่มนวลและอ่อนหวาน ราวกับจะถ่ายทอดความรู้สึกของคนที่เพิ่งได้เป็นคุณพ่อมาหมาดๆ อย่าง โคนิก หรือหากมองในแง่ร้าย วัยรุ่นสายอินดี้กำลังจะกลายเป็นหนุ่มวัยกลางคนและ(อาจจะ) เริ่มน่าเบื่อด้วยการถวิลหาความเรียบง่าย สบายๆ แทนความดุเดือด ถึงอย่างนั้นเพลงโปรโมทที่พวกเขาปล่อยออกมาแบบเพลงคู่ (ดับเบิลซิงเกิล) คือ “Harmony Hall”/ “2021”, “This Life”/ “Unbearably White” ก็ประสบความสำเร็จ เป็นที่น่าพอใจ ฟังอัลบั้มนี้แล้วอาจลังเลที่จะเรียกพวกเขาว่าเป็นวงอินดี้ร็อค แต่คงยังเรียกว่าเป็นอินดี้ป็อปได้ ในอัลบั้ม Father Of The Bride พวกเขาทำเพลงเหมือนเล่นกันไปเรื่อยๆ มีทั้งแนวป็อป ร็อค โฟล์ค คันทรี่ย์ แจสส์ โซล กระทั่งเสียงนอกแทร็คดนตรีหรือเส้นร้องก็อัดรวมไปด้วย ทำให้ได้บรรยากาศเหมือนเป็นเพลงที่เกิดจากการเล่นดนตรีแบบแจมกัน โดยมีโครงไว้คร่าวๆ นอกเหนือจากเพลงโปรโมทแล้วก็ยังมีอีกหลายเพลงที่น่าฟังซ้ำ เช่น “Flower Moon”, “This Life”, “We Belong Together”, “Stranger” และ ““Jerusalem, New York, Berlin” เพลงที่ปิดท้ายอัลบั้มได้อย่างสมบูรณ์แบบ แม้จะไม่มั่นใจนักว่าแฟนเก่าแก่ดั้งเดิมของ แวมไพร์ วีคเอนด์ จะพอใจกับงานชุดนี้แค่ไหน แต่มองว่า Father Of The Bride คือผลงานแห่งการกลับมาที่ทำให้วงดูยังมีที่ทางและมีอนาคตที่จะก้าวเดินต่อไปได้.