วันที่ 12 ก.ย.62 นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กชื่อ สมชาย แสวงการ ระบุว่า...#รัฐสภาต้องยุติอภิปรายปมถวายสัตย์ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร รวมถึงรัฐสภาและ คณะรัฐมนตรีด้วย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 211 วรรคท้ายบัญญัติว่า "คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ" ดังนั้น กรณีเรื่องญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 โดยไม่มีการลงมติ ของ สส. ฝ่ายค้าน กรณีเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณของคณะรัฐมนตรี ก่อนเข้ารับหน้าที่ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 ตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้บรรจุเป็นวาระการประชุมเพื่อเปิดอภิปราย ในวันที่ 18 กันยายน 2562 นั้น จึงมีปัญหาว่าสภาผู้แทนราษฎร ยังจะดำเนินการประชุมและเปิดให้มีการอภิปรายต่อไปอีกได้หรือไม่ หากพิจารณาตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 ดังกล่าวแล้ว สภาผู้แทนราษฎร ย่อมมิอาจดำเนินการอภิปรายต่อไปได้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วว่า "การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์เป็นการกระทำทางการเมือง(Political Issue) ของคณะรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหาร ในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์ อันอยู่ในความหมายของการกระทำของรัฐบาล (Act of Goverment) ประกอบกับเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 เวลา 17.45 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต หลังจากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณจบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรัส เพื่อให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้น้อมนำไปเป็นแนวทางในการบริหารราชการแผ่นดินและต่อมาเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 เวลา 09.00น. นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะรัฐมนตรี ได้เข้ารับพระราชดำรัสในโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ซึ่งพระราชทานเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมทั้งทรงลงพระปรมาภิไธย โดยเข้ารับต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ณ ห้องรับรอง ชั้น 5 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล “การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ดังกล่าว จึงไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด “ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ" ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น " สภาผู้แทนราษฎร ย่อมไม่มีอำนาจตรวจสอบการถวายสัตย์โดยการเปิดอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญอีกต่อไปครับ"