เปิดเอกสาร”กพท.”ชง“เซ็นทรัลวิลเลจ”ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการถูกแทรกแซงโดยมิชอบด้วยกฎหมายTake Off-Landing หวั่นทำศูนย์กลางการบินของภูมิภาคเอเชียเสียหาย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12ก.ย.62 นายจุฬา สุขมานพ ผอ.สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ กพท.17/7911 ลงวันที่ 6 ก.ย.62 ถึง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)(ทอท.) เรื่องการตรวจสอบผลกระทบจากการก่อสร้างภายในเขตปลอดภัยในการเดินอากาศ ณ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยในหนังสือดังกล่าวอ้างถึง การฝึกอบรมของ กพท. กับ Transportation Security Administration ของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 14-23 ส.ค.62พบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อการถูกแทรกแซงโดยมิชอบด้วยกฎหมายขณะเดินอากาศยาน Take Off และLanding ในระดับต่ำ (Low Risk)และมีข้อแนะนำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำมาตรการรักษาความปลอดภัยเพื่อบรรเทาความเสี่ยงต่อการถูกแทรกแซง นอกจากนี้ทางกพท.ได้ยื่นหนังสือลง17/7491 ลงวันที่ 5 ก.ย.62 เรื่องการปฏิบัติตามข้อกฎหมายการเดินอากาศให้มีการปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ. การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 โดยฉบับล่าสุดมีผลใช้บังคับ เมื่อ 26 พ.ค.62 อาจอยู่ในข่ายของการห้ามดำเนินการตามมาตรา59/1 และ 59/2 กพท.จึงขอให้ จัดส่งรายการดังกล่าวให้ กพท. พิจารณาภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ระบุในหนังสือด้วย แหล่งข่าวผู้เชี่ยวชาญด้านการบิน ตั้งข้อสังเกตในหนังสือ 2 ฉบับนี้ว่า กพท. ยืนยันแล้วว่า พื้นที่มีความเสี่ยงต่อการถูกแทรกแซงโดยมิชอบด้วยกฎหมายอากาศยาน Take Off และ Landingในระดับต่ำ แล้วให้โครงการเซ็นทรัล วิลเลจ มาก่อสร้าง อยู่ในเขตความปลอดภัยการเดินอากาศ ได้อย่างไร ซึ่งขัดแย้งกับข้ออ้างที่ว่าการทดสอบของ กพท. กับ Transportation Security Administration เมื่อวันที่ 14-23 ส.ค.62 นั้น เป็นระยะเวลาเพียง 1 สัปดาห์ ก่อนที่โครงการเซ็นทรัล วิลเลจ จะเปิดให้บริการ และมาทดสอบ เมื่อโครงการก่อสร้างเสร็จแล้ว เป็นข้อมูลใหม่ที่เพิ่งปรากฏในหนังสือของ กพท. ที่17/7911 เมื่อวันที่ 6 ก.ย.62 “ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีความเสี่ยงที่จะถูกแทรกแซง โดยมิชอบด้วยกฎหมายอากาศยาน แม้จะเป็นระดับต่ำก็ไม่ควรมี เนื่องจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นท่าอากาศยานนานาชาติที่มีผู้ใช้บริการมากกว่า 60 ล้านคนต่อปี และเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคเอเชีย การที่มีผลการศึกษาในระดับสากลจากองค์กรที่ทั่วโลกยอมรับ ระบุา ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีความเสี่ยงต่อการถูกแทรกแซง ย่อมจะมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบกับความปลอดภัยของท่าอากาศสุวรรณภูมิ” ทั้งนี้สำนักงานการบินพลเรือน ยังไม่ได้บอกว่า ความเสี่ยงระดับต่ำคือ ความเสี่ยงระดับใด คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ และความเสี่ยงระดับต่ำนั้นเป็นความเสี่ยงที่องค์กรการบินนานาชาติยอมรับได้หรือไม่ การที่ กพท.แนะนำให้ ทอท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำมาตรการรักษาความปลอดภัย เพื่อบรรเทาความเสี่ยงต่อการถูกแทรกแซง เป็นข้อแนะนำที่มีความจริงจังมากน้อยเพียงใด จะต้องทำมาตรการรักษาความปลอดภัยด้านใดบ้าง เพราะในหนังสือของ กพท.ไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่า ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นคือ ความเสี่ยงด้านใดบ้าง โอกาสที่จะถูกแทรกแซงด้านใดบ้าง “การที่ กพท.ทำหนังสือให้ ซีพีเอ็น วิลเลจ จัดทำรายงานผลกระทบความปลอดภัยในการเดินอากาศ เพื่อประเมินความเสี่ยง และให้ กพท.ให้ความเห็นชอบ เป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่ เนื่องจาก ซีพีเอ็น วิลเลจ ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านมาตรการความปลอดภัยการเดินอากาศ และเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง แต่กพท.ควรจะเชิญ ทอท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันเป็นคณะกรรมการศึกษา และกำหนดแนวทางให้ ซีพีเอ็น วิลเลจ เป็นผู้ปฏิบัติ ไม่ใช้ให้ ซีพีเอ็น วิลเลจ จัดทำมาตรการ เนื่องจาก ซีพีเอ็น วิลเลจ เป็นผู้ก่อให้เกิดผลกระทบ และก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอยู่ในขณะนี้”