วันนี้ (11 กันยายน 2562) ณ โรงแรมริชมอนด์ ถนน รัตนาธิเบศร์ ตำบลบางกระสอ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ดร.วศินโรจน์ ธนเจริญเกียรติ ตัวแทนนักธุรกิจ ร่วมประชุมหารือกับ ดร.องอาจ วิเศษ ประธานเครือข่ายวิจัยและพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์แพทย์ไทย นายสมชัย แสงทอง ,นายเศรษฐภัทร์ นิตยวิทธิวรากุล ,นายศรีทัศน์ มาตราช ในฐานะรองประธานสมาพันธ์วิจัยและพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์แพทย์ไทย นางธนภัทร พันธวาส ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนไทย พท.กฤตนันท์ พันธุ์อุดม กรรมการสภาแพทย์แผนไทย และ ครูกัญชา นอกจากนั้นแล้วยังมี นักธุรกิจ แพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน และ ตัวแทนเกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจชุมชน 4 ภาค ร่วมประชุมหารือ “เตรียมการปลูกกัญชงเพื่อเศรษฐกิจไทย” โดยให้มีการร่วมมือหลายฝ่ายภาคส่วนให้เกษตรกรสามารถปลูกกัญชงก่อน ในขณะที่กำลังรอกฎหมายลูกและนโยบายจากกระทรวงสาธารณสุขให้ชัดเจนอีกครั้งในการ “ปลูกกัญชา” ดร.องอาจ วิเศษ ประธานเครือข่ายวิจัยและพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์แพทย์ไทย ได้กล่าวว่า ตามที่ทางรัฐบาล มีนโยบายสนับสนุนกัญชาและกัญชงเพื่อการแพทย์ภายใต้การดูแลของกระทรวงสาธารณสุข อย่างไรก็ตามในส่วนต้นน้ำคือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งมีหน่วยงานเช่นสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงและกรมวิชาการเกษตรได้วิจัยและพัฒนาพันธุ์กัญชงหรือเฮมพ์ (Hemp) ภายในพื้นที่ควบคุมพร้อมส่งเสริมการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากว่า 10 ปี ทางที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการะทรวงเกษตรและสหกรณ์ บอกว่า “...พร้อมที่จะสนับสนุนให้เอกชนและเกษตรกรที่ได้รับอนุญาตปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจฐานรากใหม่ทันทีที่มีการแก้ไข”กฎกระทรวงว่าด้วยการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เฉพาะ เฮมพ์ พ.ศ. 2559” และสอดรับกับการที่องค์การอนามัยโลก (WHO) จะปลด ซีบีดี (CBD) จากบัญชียาเสพติดในปี 2563 กัญชงมีสารซีบีดี (CBD) สูงกว่ากัญชามากและมีสารเสพติดทีเฮ็ชซี(THC) น้อยมาก ยิ่งกว่านั้นกัญชงสามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนเช่นช่อดอก เมล็ด เปลือก ใบ ลำต้นและรากในการแปรรูปสร้างมูลค่านับแสนล้านอย่างน้อยใน 10 กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้แก่ กลุ่มเวชภัณฑ์ยา,กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง,กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเครื่องดื่มและอาหารเสริม (Super Food) ,กลุ่มผลิตภัณฑ์กระดาษ,กลุ่มผลิตภัณฑ์สิ่งทอเสื้อผ้า,กลุ่มผลิตภัณฑ์นิรภัย,กลุ่มก่อสร้างและวัสดุภัณฑ์,กลุ่มผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์,กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพและกลุ่มผลิตภัณฑ์เทคโนโลยี่เช่นซูเปอร์คาพาซิเตอร์ (Super Capacitor) เป็นต้นจึงเป็นโอกาสทองของประเทศไทยและเกษตรกรของเราที่จะมีพืชเศรษฐกิจฐานรากใหม่เป็นพืชแห่งอนาคตเข่นเดียวกับที่สหรัฐอเมริกาผ่านกฎหมายฟาร์มบิลล์ (Farm bill2018) ปลดล็อคกัญชงเมื่อปีที่ผ่านมาสร้างงานสร้างอาชีพใหม่ ๆกว่า 22 มลรัฐ ในขณะที่จีน อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และอีกหลายประเทศทั่วโลกก็ส่งเสริมสนับสนุนกัญชงจนกล่าวได้ว่าเป็นเฮมพ์อีโคโนมีของโลก เราจึงต้องเดินเร็วเดินให้ถูกทางโดยเฉพาะการแก้ไขกฎกระทรวงปี 2559 ในส่วนบทเฉพาะกาลเพื่อปลดล็อคกัญชงให้เอกชนและเกษตรกรผลิตแปรรูปสร้างงานสร้างรายได้ประการสำคัญคือกัญชงปลูกและเก็บเกี่ยวต่อรอบผลิตเพียง 120 วันกินน้ำน้อยไม่ต้องใช้ปุ๋ยหรือยาฆ่าแมลงหรือยากำจัดวัชพืชที่เป็นอันตรายต่อเกษตรและสภาพแวดล้อม ดร.องอาจ กล่าวอีกว่า ด้วยเหตุนี้เองทางเครือข่ายวิจัยและพัฒนากัญชาฯ จำเป็นต้องระดมความคิดเห็นของ นักธุรกิจที่จะร่วมมือกับทาง แพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน และ เกษตรกร ดำเนินการขอ“ปลูกกัญชง”รอกฎหมายกัญชา ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งทำยาจากกัญชง และ ทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากกัญชง ซึ่งจะทำให้ประชาชนที่รายได้และเศรษฐกิจของประเทศไทยก็จะดีขึ้น ตนต้องขอขอบคุณ ดร.วศินโรจน์ ธนเจริญเกียรติ ตัวแทนนักธุรกิจ ที่เปิดเวทีให้โอกาสตัวแทนแต่ละภาคส่วนมาแสดงความคิดเห็นและเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมในครั้งนี้ด้วย หลังจากนั้น ดร.องอาจ วิเศษ ประธานเครือข่ายวิจัยและพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์แพทย์ไทย เป็นตัวแทนทุกภาคส่วนมอบกระเช้าและอวยพรวันคล้ายวันเกิดให้กับ ดร.วศินโรจน์ ธนเจริญเกียรติ ตัวแทนนักธุรกิจ และพร้อมที่จะเดินเคียงคู่ไปกับภาคประชาชน ให้ประชาชนรายได้ลืมตาอ้าปาก สร้างเศรษฐกิจที่ดีให้กับครอบครัวในอนาคตต่อไป.