นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กชื่อ Piyabutr Sangkanokkul ระบุว่า...
[การกระทำทางรัฐบาล หรือ การกระทำทางการเมือง จะถูกตรวจสอบได้ด้วยวิธีใด] ตามหลักกฎหมายมหาชน การกระทำทางรัฐบาล หรือ การกระทำทางการเมือง คือ การกระทำที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการกระทำที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสภากับรัฐบาล การกระทำเหล่านี้อาจหลุดพ้นไปจากการตรวจสอบทางกฎหมายโดยองค์กรตุลาการ ทั้งนี้ ก็เพื่อป้องกันมิให้องค์กรตุลาการหรือศาลได้เข้ามาตัดสินชี้ขาดประเด็นทางการเมืองหรือทางนโยบาย จนเกิดสภาพ “การปกครองโดยผู้พิพากษา” เว้นแต่ รัฐธรรมนูญกำหนดให้อำนาจการตรวจสอบการกระทำทางการเมืองเป็นของศาลรัฐธรรมนูญ แล้วการกระทำทางรัฐบาลหรือการกระทำทางการเมืองจะถูกตรวจสอบโดยกลไกใด? เพื่อให้เป็นไปตามหลักการแบ่งแยกอำนาจและการตรวจสอบถ่วงดุล จึงต้องมีการตรวจสอบทางการเมืองแทนการตรวจสอบทางกฎหมาย นั่นก็คือ สภาผู้แทนราษฎรต้องมีอำนาจในการตรวจสอบทางการเมืองต่อการกระทำทางรัฐบาลและการกระทำทางการเมืองทั้งหลาย กรณีศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ด้วยถ้อยคำที่ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 โดยให้เหตุผลว่า การถวายสัตย์ฯเป็น “การกระทำทางการเมือง” หรือ “การกระทำทางรัฐบาล” จึงไม่อยู่ภายใต้การตรวจสอบองค์กรใด เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญเช่นนี้ ยิ่งทำให้สภาผู้แทนราษฎรมีความชอบธรรมอย่างยิ่งในการทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลในทางการเมือง โดยผ่านกลไกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152 การเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจตามมาตรา 151 ตลอดจนการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่ง การอภิปรายในญัตติตามมาตรา 152 ในวันที่ 18 กันยายนนี้ จึงเป็นหนทางที่ยังพอเหลืออยู่ในการตรวจสอบทางการเมืองและหาทางออกร่วมกันต่อกรณีนายกรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ การอภิปรายในญัตติมาตรา 152 ไม่เพียงแต่เป็นช่องทางในการช่วยกันขจัดปัญหาข้อสงสัยว่าคณะรัฐมนตรีเข้ารับหน้าที่โดยสมบูรณ์หรือไม่ แต่ยังเป็นไปเพื่อรักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญอีกด้วย นี่คือภารกิจของ “ผู้แทน” ของประชาชนซึ่งเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุด