เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ ยกทัพบุกเกษตรฯ ร่วมสนับสนุนโครงการโคขุนสร้างรายได้ "ประภัตร" ลั่นเริ่มทันทีหลังน้ำลด ยันมีตลาดรองรับแน่นอน เมื่อวันที่ 11 ก.ย. ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อจาก 18 จังหวัด อาทิ ขอนแก่น บุรีรัมย์ นครราชสีมา สุรินทร์ ศรีษะเกษ ฯลฯ กว่า 1,000 คน เข้าพบนายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อขอบคุณที่สนับสนุนโครงการโคขุนสร้างรายได้ และเพื่อรับฟังแนวทางการดำเนินโครงการให้แก่เกษตรกรรับทราบ โดยมีนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว. เกษตรและสหกรณ์ ร่วมชี้แจง ทั้งนี้ ระหว่างที่นายประภัตร และนายอลงกรณ์ กำลังพบปะกับเกษตรกรที่บริเวณหน้ากระทรวงเกษตรฯ โดยนายประภัตร ได้ตระโกน เชิญร.อ.ธรรมนัส พรมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ที่กำลังจะเดินขึ้นห้องทำงานให้เข้ามาร่วมชี้กับเกษตรกรด้วย โดยร.อ.ธรรมนัส ได้มีการพูดหยอกนายประภัตร ว่า สวัสดีครับท่านหัวหน้าม๊อบ สบายดีไหมครับพี่น้อง พร้อมกับยืนยันว่า กระทรวงเกษตรฯ พร้อมเร่งรัดในการช่วยเหลือเกษรกรเต็มที่ ตามแนวทางของรัฐบาลให้เร็วที่สุดทันทีภายหลังน้ำลด จากปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้น นายประภัตร กล่าวว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความเป็นห่วงพี่น้องเกษตรกรพร้อมสั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งแก้ไขปัญหาความยากจนโดยเร่งด่วน ดังนั้น จึงได้หารือร่วมกับ กรมปศุสัตว์ กรมการข้าว และกรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรและส่งเสริมอาชีพให้มีรายได้ โดยจะเตรียมเสนอครม. ใน 4 โครงการ ดังนี้ 1.โครงการส่งเสริมปลูกถั่วเขียว เป้าหมายเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 50,000 ราย ประกันราคา 30 บาท พื้นที่ 500,000 ไร่ 2.โครงการส่งเสริมผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพ เนื่องจากเมล็ดพันธุ์ขณะนี้ไม่เพียงพอและเกิดความเสียหาย จึงต้องเร่งผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ดีเพื่อเป็นต้นน้ำให้กับเกษตรกร เป้าหมายเกษตรกรเข้าร่วม 50,000 ราย เพิ่มเมล็ดพันธุ์ 200,000 ตัน 3.โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรเข้าร่วม 100,000 ราย สำหรับโครงการที่ 4 โครงการโคขุนสร้างรายได้ ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (2563-2567) วัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างรายได้ สร้างอาชีพทางเลือกใหม่ โดยการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมมาเลี้ยงโคขุนเพิ่มผลผลิตโคเนื้อให้เพียงพอต่อความต้องการ เป้าหมาย 1,000,000 ตัว / 200,000 ราย (รอบที่ 1 : 500,000 ตัว/ 100,000 ราย รอบที่ 2 : 500,000 ตัว/ 100,000 ราย) น้ำหนักวัว 230-250 กก. โดยใช้เงินกู้ ธ.ก.ส. อัตราดอกเบี้ย 4% เกษตรกรจ่าย 1% รัฐบาลสมทบ 3% เงินกู้รายละ 164,200 บาทต่อราย เป็นค่าโค 120,000 บาท (5 ตัวๆ ละไม่เกิน 24,000 บาท) ค่าอาหารผสมเสร็จ (TMR) 43,200 บาท และสมทบค่าประกันภัยโค 1,000 บาท (สมทบกับรัฐบาลจ่ายให้อีกครึ่งหนึ่ง) อีกทั้งรัฐสนับสนุน ค่าชดเชยดอกเบี้ย 3% ค่าประกันภัย 1,000 เครื่องผสมอาหาร และเครื่องชั่งน้ำหนัก ในสัดส่วนเกษตรกร 100 รายหรือโค 500 ตัวต่อ 1 ชุด และจำหน่ายตัวละ 42,000 บาท เฉลี่ยน้ำหนัก 420 กก.ๆ ละ 100 บาท กำไรประมาณ 8,000 /ตัว/4 เดือน หรือ 40,252 บาท/5ตัว/4 เดือน อีกทั้ง เกษตรกรจะได้รับการฝึกอบรมการเลี้ยงโคขุนก่อนเลี้ยงโค นอกจากนี้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จะเข้ามาช่วยเหลือขุดน้ำบาดาลพลังงานแสงอาทิตย์ 1 จุด/100 ไร่ เพื่อส่งเสริมปลูกหญ้าสำหรับผสมอาหาร รวมถึง องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) จะเข้ามาช่วยทำการตลาดอีกด้วย “กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งหารือร่วมกันอีกครั้งเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ก่อนนำเสนอนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เห็นชอบ และนำเสนอในที่ประชุม ครม. ต่อไป ซึ่งทั้ง 4 โครงการต้องการมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาความยากจนของพี่น้องเกษตรกร และส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรมีความมั่นคง คาดว่าหลังน้ำลดจะเริ่มดำเนินการได้ สำหรับการส่งออกโคเนื้อไปจีนนั้น ขณะนี้จีนมีความต้องการเนื้อวัวมากถึง 10 ล้านตัน หรือวัวไม่น้อยกว่า 50 ล้านตัว ทำให้มั่นใจได้ว่ามีตลาดรองรับ อีกทั้งได้มีการตกลงร่วมกันกับจีนที่จะรับซื้อโคเนื้อจากไทย โดยได้ให้เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ ลงพื้นที่สำรวจโรงงานจากจีนว่าสามารถส่งออกได้จริงหรือไม่ และพบว่ามีการเริ่มสร้างโรงเชือดที่เป็นมาตรฐาน จากกลุ่มเอกชนจีน ที่ประเทศลาว คาดว่า เดือน ต.ค.-พ.ย. จะแล้วเสร็จและเริ่มส่งออกได้ทันที” นายประภัตร กล่าว