Young Smart Farmer จ.สิงห์บุรี พบทางออกชีวิต ประสบความสำเร็จ จากมนุษย์เงินเดือนสู่เจ้าของฟาร์มมะเดื่อฝรั่ง นายทวี มาสขาว ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท เปิดเผยถึงการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็น Young Smart Farmer ของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาทว่า ได้ดำเนินการโดยยึดหลักการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรรุ่นใหม่ด้วยตัวเกษตรกรเอง ให้ความสำคัญกับการจัดกระบวนเรียนรู้โดยมีเกษตรกรรุ่นใหม่เป็นศูนย์กลางและออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการที่แท้จริงและนำผลที่ได้จากการจัดกระบวนการเรียนรู้ไปใช้ในการปฏิบัติงานได้จริง มีการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบผสมผสานระหว่างเกษตรกรรุ่นใหม่กับพี่เลี้ยงซึ่งเป็นการเรียนรู้แบบเผชิญหน้าหรือแบบเฉพาะกิจจากประสบการณ์ของปราชญ์ชาวบ้าน หรือบุคคลต้นแบบ รวมถึงการเรียนรู้จากการศึกษาดูงานการลงมือฝึกปฏิบัติจริง ตลอดถึงการเรียนรู้ผ่านสื่อสารสนเทศ และสื่อออนไลน์ นอกจากนี้ ยังเน้นในกระบวนการมีส่วนร่วมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงองค์ความรู้เทคโนโลยีและกิจกรรมการเกษตร ตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงการตลาด เพื่อการรวมกลุ่มของเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการพัฒนาตนเองเป็น Young Smart Farmer นำไปสู่การเป็นผู้นำด้านการเกษตรในอนาคต ตลอดจนการสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มและเครือข่ายระหว่างเกษตรกรรุ่นใหม่และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน อย่างไรก็ตามการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็น Young Smart Farmer นั้น ตลอดมาได้ดำเนินการควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ ในการเพิ่มทักษะให้เป็นผู้จัดการเรียนรู้เพื่อเป็นเพื่อนคู่คิดในการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ตอบสนองความต้องการตามความจำเป็น และความเหมาะสมของเกษตรกร ซึ่งอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานในสังกัดกรมส่งเสริมการเกษตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง “อย่างในพื้นที่ภายใต้ความรับผิดชอบของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท ได้มีการดำเนินการเพื่อสร้าง Young Smart Farmer ตามแนวทางของกรมส่งเสริมการเกษตรอย่างต่อเนื่อง และประสบความสำเร็จอย่างน่าพึงพอใจ เช่น กรณีของนายนิรุจน์ หอมชะเอม เกษตรกรหมู่ที่ 1 ตำบลโพชนไก่ อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี ที่พลิกผันวิถีชีวิตของตนเอง จากอาชีพรับจ้างเป็นพนักงานบริษัทสู่อาชีพเกษตรกร ที่ประสบความสำเร็จจากการทำเกษตรรูปแบบใหม่ที่สามารถเป็นแม่แบบให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ถือเป็นแบบอย่างได้เป็นอย่างดี”นายทวี กล่าว ด้านนายนิรุจน์ หอมชะเอม กล่าวว่า เดิมตนเป็นพนักงานบริษัทที่กรุงเทพมหานคร ด้วยความชอบเกษตรและเติบโตมาจากครอบครัวเกษตรกร จึงสนใจต่อยอดงานด้านนี้จากพ่อแม่ และมีความคิดที่จะปลูกพืชชนิดใหม่ๆ ที่นอกเหนือจากข้าว เริ่มต้นได้ทดลองปลูกต้นหอมแต่ประสบปัญหาน้ำท่วม จากนั้นเปลี่ยนมาปลูกเมล่อนซึ่งได้ผลดี แต่มีปัญหาด้านการบริหารจัดการและขาดแคลนแรงงาน จึงหันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยที่สามารถทำเองได้ จึงหันมาปลูกมะเดื่อฝรั่งพร้อมเข้าร่วมกับกลุ่มคนรัก Fig ใน Facebook และได้ซื้อกิ่งพันธุ์มาปลูก ช่วงแรกประสบการณ์น้อยมะเดื่อยฝรั่งที่ปลูกรอดบ้างตายบ้าง แต่ก็มีบางส่วนรอดและให้ผลผลิต ปรากฏว่าขายได้และมีกำไร จากนั้นตัดสินใจปลูกอย่างจริงจังพร้อมคัดสายพันธุ์เองและปลูกทดลองกว่า 100 สายพันธุ์ เพื่อเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะกับสภาพภูมิอากาศและสภาพดินของพื้นที่ปลูก ซึ่งจะให้ผลผลิตที่ดีและมาก โดยปลูกในโรงเรือนเพื่อป้องกันโรคและแมลงที่จะเข้ามาทำลาย “ในแปลงมะเดื่อฝรั่งจะปลูกหลายรูปแบบทั้งกลางแจ้งและในโรงเรือน จะให้น้ำแบบทามเมอร์ (Timer) คือตั้งเวลาการเปิดและปิดผ่านหัวจ่ายน้ำมินิสปริงเกอร์เพื่อประหยัดเวลาในการดูแล โดยให้น้ำ วันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 2 นาที (09.00 น.,12.00 น. ,15.00 น.) ให้ปุ๋ยสัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 3 ครั้ง ผลผลิตที่ได้จะขายผลสดราคา 150-200 บาทต่อแพ็ค และขายกิ่งพันธุ์ในราคา 150-500 บาท เน้นขายทางออนไลน์ทั้งทาง Facebook (สวนมะเดื่อฝรั่ง คุณรุจน์ อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี) และ Shoppe ให้กับกลุ่มคนรัก Fig และกลุ่มคนรักสุขภาพ ปัจจุบันจากการขายผลมะเดื่อฝรั่งมีรายได้ประมาณ 30,000 บาทต่อเดือน”นายนิรุจน์ กล่าว ทั้งนี้ ทางกรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท ได้เข้ามาให้แนวทางในการดำเนินกิจการนับตั้งแต่การพัฒนาพันธุ์มะเดื่อฝรั่ง การปรับปรุงบำรุงดิน การตลาด และในปี 2562 ได้ส่งเสริมสนับสนุนให้เป็น Young Smart Farmer ของจังหวัดสิงห์บุรี มีการเชื่อมโยงกับ Young Smart Farmer รายอื่นๆ ในพื้นที่เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน พร้อมส่งเข้ารับการอบรมเรื่องการทำงานอย่างเป็นระบบ และเข้าเรียนรู้ภายในศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ เพื่อนำแนวคิดการทำการเกษตรสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ นอกจากนี้ยังได้รับคำแนะนำจากสำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรีในการพัฒนาขบวนการผลิตเพื่อขึ้นทะเบียนเกษตรกรและการขอรับรองมาตรฐาน GAP อีกด้วย