พิธีลงนาม MOU โครงการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์คดีจัดการมรดกในศาลแพ่ง ระหว่าง นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการศาลยุติธรรม และนายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด อำนวยความสะดวกประชาชนร้องคดีขอจัดการมรดกพร้อมไต่สวนออนไลน์ ไม่ต้องมาศาล วันนี้ (10 ก.ย.) เมื่อเวลา 16.30 น. ที่ สำนักงานศาลยุติธรรมชั้น 12 อาคารศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และนายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิและให้การช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน ในคดีจัดการมรดกระหว่างสำนักงานศาลยุติธรรมกับสำนักงานอัยการสูงสุด โดยการพัฒนาระบบการพิจารณาคดีแพ่ง (คดีจัดการมรดก) ทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน ในการยื่นคำร้องจัดตั้งผู้จัดการมรดก ตลอดจนเข้าถึงกระบวนการพิจารณาไต่สวนคดีมรดก นายสราวุธ กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันประชาชนมีการย้ายถิ่นฐานไปตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ทำให้เกิดความยุ่งยากและภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน ในการยื่นคำร้องขอจัดการมรดกต่อศาลที่เจ้าของมรดกมีภูมิลำเนาขณะถึงแก่ความตายหรือที่ตั้งทรัพย์ ซึ่งเดิมทีการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกสามารถยื่นได้ 3 วิธีคือ 1.ตัวความยื่นคำร้องด้วยตนเองโดยตัวความจะต้องเดินทางไปยังศาลที่เจ้าของมรดกถึงแก่ความตายหรือทรัพย์ที่ตั้ง ทั้งในวันที่ยื่นคำร้องและวันที่นัดไต่สวน 2. ตัวความแต่งตั้งทนายความเป็นผู้ดำเนินการยื่นคำร้อง โดยจะให้ทนายความเป็นผู้ยื่นคำร้องแทน ณ ศาลที่มีเขตอำนาจรับคำร้อง 3. ตัวความให้พนักงานอัยการเป็นผู้ยื่นคำร้อง โดยตัวความยื่นคำร้องต่อพนักงานอัยการที่มีเขตอำนาจ จากนั้นพนักงานอัยการจะยื่นคำร้องไปยังศาลที่เจ้าของมรดกถึงแก่ความตายหรือที่ตั้งทรัพย์ และเมื่อถึงวันนัดไต่สวนตัวความจะต้องเดินทางไปยังศาลที่มีเขตอำนาจรับคำร้องนั้น ทั้งนี้ การยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกทั้ง 3 วิธี ไม่ว่าตัวความจะยื่นด้วยวิธีใดก็ตาม ในวันนัดไต่สวนตัวความจะต้องเดินทางมายังศาลที่เจ้าของมรดกถึงแก่ความตายหรือที่ตั้งทรัพย์ ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าใช้จ่ายในการจ้างทนาย ดังนั้น เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชน สำนักงานศาลยุติธรรมและสำนักงานอัยการสูงสุดจึงร่วมกันจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมมือฉบับนี้ขึ้น โดยจะดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงนี้ด้วยการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีอยู่ในปัจจุบัน และที่จะมีขึ้นในอนาคตมาอำนวยความสะดวกในการยื่นคำร้องและการไต่สวนคำร้องขอจัดการมรดก โดยทายาทสามารถยื่นคำร้องขอจัดการมรดกผ่านพนักงานอัยการ ณ สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนและบังคับคดีจังหวัดได้ทุกพื้นที่โดยไม่จำกัดเรื่องเขตอำนาจ และหากมีการร้องขอใช้การไต่สวนผ่านระบบประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conference) หรือเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นใด ศาลที่เกี่ยวข้องแต่ละพื้นที่จะดำเนินการอำนวยความสะดวกให้ตามคำร้องขอ โดยทางตัวความไม่ต้องเดินทางมายังศาล ด้าน เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ สอดคล้องกับนโยบายของประธานศาลฎีกาเรื่องการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการคดี เพื่อให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมรวดเร็วขึ้น เสียค่าใช้จ่ายน้อยลง มุ่งสู่การบริการในลักษณะระบบศาลดิจิทัล (D-Court) ในปี 2563 ต่อไป "สำหรับ คดีจัดการมรดกมีเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปีงบประมาณ 2560 มีประชาชนยื่นร้องต่ออัยการขอจัดการมรดกทั่วประเทศ 11,129 เรื่อง ปีงบประมาณ 2561 มี 14,792 เรื่อง และปีงบประมาณ 2562 ถึงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา มีการดำเนินการแล้ว 13,882 เรื่อง เราพยายามอำนวยความสะดวกมากที่สุด ในการดำเนินงานส่งเรื่องให้สำนักงานอัยการในพื้นที่ที่มีอำนาจเป็นผู้ดำเนินการ และการขอไต่สวนคดีมรดกผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ทำให้ผู้ร้องไม่ต้องเดินทางมาศาลเสียค่าใช้จ่าย ยินดีอย่างยิ่งในความร่วมมือกับสำนักงานศาลยุติธรรม หวังว่าความร่วมมือจะอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ง่ายขึ้นและรวดเร็ว" นายเข็มชัย กล่าว นอกจากนี้ นายเข็มชัย ยังได้กล่าวถึงกรณีที่เมื่อช่วงกลางปี เว็บไซต์ขององค์การการค้าโลก ( World Trade Organization : WTO) ได้เผยแพร่คำตัดสินครั้งที่ 2 ของคณะกรรมการพิจารณาข้อพิพาท ที่คณะผู้พิจารณาขององค์การการค้าโลกเห็นด้วยตามข้อเรียกร้องของประเทศฟิลิปปินส์ ว่าประเทศไทยดำเนินการขัดต่อกฎหมายขององค์การการค้าโลกเกี่ยวกับการละเมิดกฎหมายศุลกากร ซึ่งรวมถึงการฟ้องคดีอาญากับบริษัทผู้นำเข้าบุหรี่ ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด (PMTL) ในข้อหาสำแดงราคาบุหรี่นำเข้าจากประเทศอินโดนีเซียระหว่างปี 2545-2546 ต่ำกว่าความเป็นจริง พร้อมระบุให้ไทยต้องปฏิบัติตามคำตัดสินก่อนหน้านี้ของดับเบิลยูทีโอจนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทำหนังสือลับที่สุดถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้เสนอ อสส.ยุติการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด จากการหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรนำเข้าบุหรี่ มูลค่า 6 หมื่นล้านบาท ว่าเรื่องนี้ นายวิษณุ เครืองามรองนายกรัฐมนตรีเป็นคนดูแล ซึ่งเวลาประชุมกันเรื่องนี้ยังมีอุปสรรคที่บางหน่วยงานไม่เห็นด้วยในเรื่องการถอนฟ้องคดีในส่วนอาญา จริงๆแล้วเรื่องดังกล่าวมี 2 ส่วนคือ คดีที่ WTOตัดสินเเละคดีในส่วนที่อัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาไปซึ่งมีการสืบพยานไปมากเเล้ว ในส่วนจะดำเนินการอย่างไรนั้นเรายังไม่ได้ข้อตกลงที่ชัดเจนเรื่องนี้ รอให้ต้องให้นาย วิษณุซึ่งเป็นคนดูเเลพิจารณามา ซึ่งทางอัยการก็ได้มีการตั้งคณะทำงานพิจารณาในเรื่องนี้อยู่ เรื่องเมื่อตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาที่จะมีความเห็นถอนฟ้องคดีนั้น ตนมองว่าคงต้องแล้วแต่ทางรัฐบาล เพราะว่าอัยการสูงสุดจะมีอำนาจบังคับคดีหรือถอนฟ้องคดีได้นั้นจะต้องมีมติคณะรัฐมนตรี ในเรื่องที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับผลประโยชน์ของชาติแต่ตอนนี้ยังไม่ตกผลึก ตากปกติซึ่งในการประชุมกันที่ทำเนียบรัฐบาลก็จะมีคณะทำงานที่ว่าความไปประชุมด้วยทุกครั้งอย่าง 2ครั้งหลังตนก็ไปด้วยตนเอง "ส่วนกรณีความคืบหน้ากรณีที่มีคลิปเสียงที่อ้างว่าเป็นอัยการจังหวัดภูเก็ตพูดคุยกับคู่สนทนาซึ่งเป็นหญิงสาวพนักงานบริษัทเกี่ยวกับการเจรจาต่อรองผลประโยชน์เกี่ยวกับการช่วยเหลือทางคดีเพื่อไม่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตและรองผู้ว่าฯมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีในคดีแผ้วถางทำลายครอบครองป่าในที่ดินอันเป็นเขตอุทยานแห่งชาติฯ โดยเรียกเงิน7-8หลักว่า ขณะนี้ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งอยู่ระหว่างสอบสวนกันอยู่ เรื่องนี้อย่าเพิ่งไปปักใจเชื่อเลยในทันทีไม่ได้ เราไม่รู้ตื้นลึกหนาบาง ต้องสอบลงไปให้ชัดเจน ซึ่งพอเกิดเรื่องตนก็ได้มีคำสั่งย้ายคนที่เกี่ยวข้องออกมาจากพื้นที่ก่อนเพื่อที่ให้คนสอบสวนทำงานได้อย่างอิสระ ส่วนเรื่องระยะเวลาการสอบนั้นตนไดเสั่งการให้สอบข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นภายใน 30 วัน ซึ่งก็คาดว่าเมื่อสอบสวนเเล้วจะมีการทำรายงานผลเสนอกลับมาเพราะคนที่ถูกสั่งสอบก็ร้องขอความเป็นธรรมเข้ามาด้วย ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย" นายเข็มชัย กล่าว จากนั้น นายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด ได้กล่าวถึงกรณีความคืบหน้าการยื่นฟ้อง เเกนนำ กปปส.ที่ในปัจจุบันยังฟ้องไม่ครบทุกคน ว่า เรื่องคดีการชุมนุม ของ กปปส.ที่ในปัจจุบันยังไม่ได้ตัวผู้ต้องหามายื่นฟ้องต่อศาลภายหลังจากที่อัยการสำนักงานคดีพิเศษมีคำสั่งฟ้องไปเเล้วนั้นคดีอาญาปกติจะอยู่ในอำหน้าที่ของอธิบดีอัยการเเต่ละสำนักงานแต่คดี กปปส.อยู่ในอำนาจหน้าที่ของอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษอัยการสูงสุดดูแต่ภาพรวม เเละนโยบายทั่วไป จะสามารถพิจารณาได้กรณีที่จะมีคำสั่งไม่ฟ้องหรือมีการขัดแย้งกันกับทาง ผบ.ตร อัยการสูงสุดก็มีอำนาจชี้ขาด ตอนนี้คดีดังกล่าวอยู่ที่อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ที่ได้มีความเห็นสั่งฟ้องไปแล้ว ในช่วงนี้ก็มีการร้องขอความเป็นธรรมเข้ามาก็เป็นของบทบาทของผู้ต้องหา เมื่อถามว่าพฤติการณ์ของผู้ต้องหาถูกมองว่าเป็นการประวิงเวลา ทำไมไม่ดำเนินการขอศาลออกหมายจับนำตัวมาฟ้อง นายเข็มชัยกล่าวว่า คดีอย่างนี้เราจะพยายามให้ความเป็นธรรมทั้ง2ฝ่ายให้มากที่สุด ที่มีการร้องขอความเป็นธรรมเข้ามาให้สอบพยาน ถ้ามีมูลหรือมีเบาะแส เราจะพยายามสอบให้ได้มากที่สุด เพื่อป้องกันการถูกมองเป็นข้อครหาว่าตั้งใจกล่าวโทษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีเกี่ยวกับการเมือง อย่างที่รู้มี2ฝั่งที่ขัดแย้งกันอยู่เลยอาจจะล้าช้าไปบ้าง ตนก็พยายามเร่งรัดอยู่