เน้นเสมอภาค-ไม่มีกั๊ก-ลดวิ่งรอก-ประหยัดค่าใช้จ่าย ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยว่าที่ประชุม ทปอ.ได้พิจารณาร่วมกันในการปรับกระบวนการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาแบบใหม่ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 เป็นต้นไป โดยยึด 3 หลักการสำคัญ คือ นักเรียน ม.6 ควรอยู่ในห้องเรียนจนจบปีการศึกษา และแต่ละคนมีเพียง 1 สิทธิ์ ในการตอบรับสาขาวิชาที่เลือกเพื่อความเสมอภาค และสถาบันอุดมศึกษาในเครือข่าย ทปอ.ทุกแห่ง จะเข้าระบบเคลียริ่งเฮาส์ เพื่อบริหาร 1 สิทธิ์ของนักเรียน โดยการรับสมัครจะแบ่งเป็น 5 รอบ ได้แก่ 1.สมัครโดยใช้แฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) ไม่มีการสอบข้อเขียน โดยยื่นสมัครโดยตรงกับสถาบันอุดมศึกษา 2.ระบบโควตา มีการสอบข้อเขียนหรือสอบปฏิบัติ สำหรับนักเรียนที่อยู่ในเขตพื้นที่ หรือภาคโควตาโรงเรียนในเครือข่าย และโครงการความสามารถพิเศษต่างๆ สถาบันการศึกษาประกาศเกณฑ์การสอบ ให้นักเรียนยื่นสมัครโดยตรงกับสถาบันอุดมศึกษาและเข้ารับการคัดเลือกตามเกณฑ์การสอบ 3.การรับตรงรวมกัน อาทิ การรับตรงสายแพทย์ ของ กสพท. โครงการอื่นๆ และนักเรียนทั่วไป ทปอ. เป็นหน่วยกลางในการรับสมัครนักเรียนเลือกได้ 4 สาขาวิชา โดยไม่มีลำดับ สถาบันอุดมศึกษาจัดให้มีการสอบกลางร่วมกันในเวลาเดียวกัน แต่ละสถาบันกำหนดเกณฑ์ที่เป็นอิสระของตนเอง 4.รับสมัครแอดมิสชั่นส์ โดยใช้เกณฑ์แต่ละสาขาเหมือนกันหมด สำหรับนักเรียนทั่วไป โดย ทปอ.เป็นหน่วยกลางในการรับสมัคร สามารถเลือกได้ 4 สาขาวิชา แบบมีลำดับโดยใช้เกณฑ์ค่าน้ำหนักตามที่ประกาศไว้ล่วงหน้า 3 ปี และ 5.การรับตรงอิสระของสถาบันอุดมศึกษาแห่งละแห่ง ด้วยวิธีการของตนเอง "การเปลี่ยนแปลงระบบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาครั้งนี้ จะทำให้นักเรียนไม่ต้องวิ่งรอกสอบ ไม่เป็นภาระเรื่องค่าใช้จ่าย ลดความเครียด เพราะในแต่ละรอบจะมีการนำรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าระบบเคลียริ่งเฮาส์ ซึ่งผู้ที่ผ่านการคัดเลือก และต้องการเข้าศึกษาและจะถูกตัดสิทธิ์ในรอบต่อไป แต่หากต้องการเข้าร่วมในรอบถัดไป ต้องสละสิทธิ์เดิมเสียก่อน เพื่อเป็นคืนสิทธิ์ให้กับผู้อื่น ทั้งนี้ การใช้สัดส่วนคะแนน GPAX, O-NET, GAT, PAT จะยังคงเป็นไปตามประกาศล่วงหน้า 3 ปี คือในปีการศึกษา 2560-2562 และสำหรับนักศึกษานานาชาติก็ต้องนำเข้าระบบเคลียริ่งเฮาส์เช่นกัน"ประธาน ทปอ.กล่าว