ลดรอ ลดแออัด ลดเสียชีวิต ก.สาธารณสุข ใช้ระบบเรียกคิวผ่านแอพสมาร์ทโฟน โดยจองคิวได้จากที่บ้าน จะแจ้งผ่านมือถือบอกถึงคิวไหน ให้คนไข้บริหารเวลาเองได้ ขณะคนที่ไม่ถนัด-ผู้สูงอายุหรือไม่ได้ใช้สมาร์ทโฟน มีตู้อัจฉริยะให้สแกนคิวอาร์โค้ดโดยมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลอำนวยความสะดวกให้ นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข เปิดเผยว่า ก.สาธารณสุขมีโรงพยาบาลที่ให้บริการรักษาโรคทั่วไปและโรคเฉพาะทางแก่ประชาชนอยู่ทั่วประเทศ จึงได้เดินหน้าสู่ Digital Hospital โดยยึดหลักส่งเสริม ป้องกัน รักษาและฟื้นฟูภาวะความเจ็บป่วย สิ่งสำคัญ คือ เร่งนำเทคโนโลยีสารสนเทศด้านการแพทย์มาปรับใช้กับระบบการทำงานของโรงพยาบาลให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อลดเวลารอคอย ลดความแออัด และลดอัตราเสียชีวิต ดังนั้น นำร่องโดยโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ ก.สาธารณสุข ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่และเปิดให้บริการแก่ประชาชนมากว่า 66 ปี จากสถิติที่ผ่านมามีผู้ป่วยนอกมารับบริการมากกว่า 1,000,000 รายต่อปี หรือประมาณ 5,400 รายต่อวัน แต่ละวันพบว่ามีความแออัดของผู้ป่วยจำนวนมาก สร้างความไม่สะดวกแก่ผู้รับบริการอย่างยิ่ง จึงนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาปรับใช้สำหรับบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชน คือ “ระบบจัดการคิวอัจฉริยะ” (QueQ Application) โดยจะเป็นระบบเรียกคิวผ่านแอปพลิเคชั่นสมาร์ทโฟน ซึ่งทำให้ผู้รับบริการได้รับความสะดวกอย่างมาก และสามารถเข้าพบแพทย์ได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ไม่เกิน 60 นาที นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า “ระบบจัดการคิวอัจฉริยะ” (QueQ Application) สามารถจองคิวพบแพทย์ผ่านแอปพลิเคชั่นจากที่บ้าน ผู้ป่วยสามารถรู้ระยะเวลารอคอยของตนเองได้ตลอดเวลาผ่านโทรศัพท์มือถือ (Smart Phone) แม้ไม่อยู่ในพื้นที่ จากนั้นระบบจะเตือนผ่านโทรศัพท์แจ้งลำดับคิวในการเข้าพบแพทย์ ทำให้สามารถบริหารจัดการเวลาระหว่างรอให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น มีคนไข้บางรายชมภาพยนตร์รอ บางรายเดินห้างฯรอ หรือบางรายมารับคิวก่อนแล้วกลับไปทำงานก่อนมาพบแพทย์อีกครั้ง เป็นต้น สำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ที่ไม่ได้ใช้สมาร์ทโฟน รพ.ราชวิถีได้ติดตั้งตู้อัจฉริยะ (Self Check KIOSK) เพื่อนำ QR-code มาสแกนได้เช่นกัน โดยทุกตู้จะมีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วย ระบบจัดการคิวอัจฉริยะนี้ได้เปิดให้บริการเต็มรูปแบบที่แผนกผู้ป่วยนอกศัลยกรรม และขยายไปยังผู้ป่วยนอกของแผนกอายุรกรรม เวชศาสตร์ครอบครัว ศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะ ตลอดจนห้องยา และการเงิน หากได้ผลดีจะขยายระบบไปยังห้องตรวจอื่นๆ ต่อไป ซึ่งสามารถลดความแออัดในโรงพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ