ฝึกทักษะปฏิบัติที่ถูกต้องในการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน ชี้แต่ละปีมีคนไทยหัวใจวายกว่า 3 หมื่นราย และเกือบครึ่งเสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาล เริ่มรณรงค์ให้บุคลากรในสังกัดรร.กทม.ก่อน เพื่อขยายต่อยอด พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าฯกทม.เปิดโครงการ กทม.อาสา ฝ่าวิกฤต ช่วยชีวิตด้วย CPR & AED ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกทม. ด้วยปัจจุบันพบผู้ที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ไม่ว่าจะเกิดที่บ้าน ที่ทำงาน หรือที่สาธารณะต่างๆ เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ละปีมีคนไทยหัวใจวาย เฉลี่ยปีละ 36,000 ราย และผู้ป่วยประมาณครึ่งหนึ่งเสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาล เนื่องจากไม่ได้รับการช่วยเหลือโดยการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) อย่างถูกต้องเหมาะสม และทันท่วงที ในประเทศที่มีการแพทย์ฉุกเฉินก้าวหน้าแล้ว จะรณรงค์ให้ประชาชนผู้พบเหตุการณ์ สามารถนำเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator : AED) ไปช่วยเหลือผู้ป่วย ณ จุดเกิดเหตุ ให้รอดพ้นจากการเสียชีวิต สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ สำหรับในประเทศไทย หลายหน่วยงานได้นำเครื่องช่วยกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) ไปติดตั้งในที่สาธารณะต่างๆ เช่น สนามบิน สวนสาธารณะ สถานีรถไฟฟ้า และสถานีขนส่ง เป็นต้น เพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้ที่มีความรู้ ความสามารถนำไปใช้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ป่วยที่เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น แต่เนื่องด้วยประชาชนทั่วไป ยังไม่มีความรู้ในการใช้งานเครื่องมือดังกล่าว จึงยังไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าใดนัก ดังนั้น สำนักการแพทย์ โดยศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) และสำนักการศึกษา จึงประสานความร่วมมือดำเนินโครงการ กทม.อาสา ฝ่าวิกฤต ช่วยชีวิตด้วย CPR & AED ให้แก่ครู และบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดสำนักการศึกษา เพื่อฝึกทักษะปฏิบัติที่ถูกต้อง ในการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน CPR โดยปั๊มหัวใจด้วยวิธีกดหน้าอก และใช้เครื่องช่วยกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือ AED เน้นฝึกปฏิบัติแบบเสมือนจริง ตามแนวคิดพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินในเรื่อง Public AED ทำให้ผู้เจ็บป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นได้รับความช่วยเหลืออย่างถูกต้องรวดเร็วยิ่งขึ้น ขณะที่รอหน่วยปฏิบัติการทางการแพทย์ จะส่งผลให้ผู้ป่วยรอดชีวิตได้และถือเป็นการปฏิรูปการเรียนการสอนด้านทักษะชีวิตให้กับประชาชนอีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้ รูปแบบการอบรม เป็นแบบไป - กลับ 2 รุ่นๆละครึ่งวัน ระหว่าง 09.00 - 12.00 น. และ 13.00 - 16.00 น. โดยจัดอบรมให้ความรู้แก่ครู และบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดสำนักการศึกษากทม. 218 คน โดยมีวิทยากรผู้บรรยาย และฝึกปฏิบัติตามโครงการ ได้แก่ บุคลากรในสังกัดโรงพยาบาลสำนักการแพทย์ และศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ)