สธ.เผยด้วยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน แต่ยังต้องเดินหน้ากำจัดแหล่งเพาะยุงลายต่อไป ระบุจากเดือนก.ค.ยอดป่วยพุ่งกว่า 2 หมื่นราย เดือนส.ค.ยอดป่วยลดเหลือแค่หมื่นกว่าราย แนะ3 เก็บ ป้องกัน 3 โรคต่อไป พร้อมเตือนหากป่วยแล้วไข้ลดแต่ไม่ยอมหาย อันตรายมาก อาจช็อก ต้องรีบพากลับรพ.ทันที นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกของประเทศไทย ที่ก.สาธารณสุข ดำเนินการตามข้อสั่งการของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข และนพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยให้หน่วยงานในสังกัดประสานเร่งรัดการปฏิบัติและติดตามผลการป้องกันควบคุมโรคควบคู่กันไปเพื่อให้ได้ผลอย่างต่อเนื่อง และมีแนวทางให้ชาวบ้านจัดการสิ่งแวดล้อมไม่ให้ยุงลายเกิดและกัดได้ จึงทำให้สถานการณ์เกิดโรคไข้เลือดออกในหลายพื้นที่มีแนวโน้มลดลง และหลายพื้นที่ชะลอตัวลงจนควบคุมได้ เช่น นครนายก ตราด ปราจีนบุรี อำนาจเจริญ บึงกาฬ ชุมพร เป็นต้น จะเห็นได้ว่าเมื่อควบคุมโรคอย่างเข้มข้นจริงจัง ด้วยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน ทำให้การเกิดโรคมีแนวโน้มลดลง หรือจนควบคุมได้ในที่สุด แต่ทุกพื้นที่ยังคงต้องกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างเข้มข้น ต่อไป สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในไทยตั้งแต่ 1 ม.ค.- 3 ก.ย.62 พบผู้ป่วย 81,500 ราย เสียชีวิต 89 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ในปีนี้พบในกลุ่มเด็กเล็ก เด็กวัยเรียน และวัยผู้ใหญ่ตอนต้น พบมากสุดคือกลุ่มอายุ 5 - 14 ปี รองลงมา 15 - 34 ปี และเด็กแรกเกิด - 4 ปี จากรายงานจะพบว่าผู้ป่วยเริ่มมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากพบผู้ป่วยสูงสุดในช่วงเดือนก.ค.ที่ผ่านมา 21,539 ราย และเดือนส.ค. ลดลงมาเป็น 12,979 ราย หากแยกเป็นรายสัปดาห์จะพบว่า ในช่วงนี้มีผู้ป่วยลดลงเหลือ3,500 - 3,700 รายต่อสัปดาห์ จากที่เคยพบในช่วงฤดูระบาดที่มากถึง 4,000 - 5,000 รายต่อสัปดาห์ นอกจากไทยแล้ว ประเทศต่างๆ ในอาเซียน ก็พบผู้ป่วยไข้เลือดออกมากเช่นกัน เช่น ฟิลิปปินส์ ผู้ป่วย 208,917 ราย เสียชีวิต 882 ราย เวียดนาม พบผู้ป่วย 124,751 ราย เสียชีวิต 15 ราย และมาเลเซีย พบผู้ป่วย 85,270 ราย เสียชีวิต 121 ราย (ข้อมูลองค์การอนามัยโลก) สำหรับการป้องกันให้ใช้มาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรคคือ เก็บบ้านให้สะอาดไม่ให้มีมุมอับเป็นที่เกาะพักของยุง เก็บขยะรอบบ้านไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เก็บน้ำ ภาชนะต่างๆ ปิดให้มิดชิดป้องกันยุงลายวางไข่ จะสามารถป้องกันได้ 3 โรคคือ ไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา โรคไข้ปวดข้อยุงลาย ทั้งนี้ หากมีอาการคล้ายหวัด มีไข้สูงเฉียบพลันในช่วงแรก อย่าซื้อยารับประทานเอง อาจทำให้ยุ่งยากในการรักษาและมีโอกาสเสียชีวิตมากขึ้น เช่น ไอบรูโปรเฟน หรือแอสไพริน อาจทำให้เลือดออกในอวัยวะภายในได้ง่ายขึ้น การรักษาระยะต้นที่มีไข้สูงใน 1-2 วันแรกไม่เป็นอันตรายใดๆ เว้นแต่รายที่ไม่ยอมหายหลังจากไข้ลด โดยช่วงไข้ลด มีอาการซึม เบื่ออาหาร ปวดท้อง กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเร็วแต่เบา อาจมีเลือดไหล ที่โพรงจมูก อาเจียนเป็นเลือด แสดงว่าเข้าสู่ภาวะช็อก ต้องรีบกลับไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลให้ทันท่วงที มิฉะนั้นอาจเสียชีวิตได้ภายใน 48 ชั่วโมงหรือ 2 วัน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร. 1422