ถือเป็นหนึ่งใน “พื้นที่อ่อนไหว” หรือ “เซนซิทีฟ แอเรีย (Sensitive Area)” เพราะเป็นที่พิพาทว่าใครจะได้ครอบครองพื้นที่ดังกล่าวอีกแห่งหนึ่งของโลก สำหรับ “เซนกากุ” ในภาษาญี่ปุ่น หรือ “เตียวหยู” หรือ “เตียวหยูไถ” ซึ่งเป็นชื่อหมู่เกาะแห่งหนึ่งใน “ทะเลจีนตะวันออก” ที่มี 3 ประเทศรายรอบ ต่างอ้างกรรมสิทธิ์ครอบครอง ได้แก่ ญี่ปุ่น จีนแผ่นดินใหญ่ และไต้หวัน หมู่เกาะเซนกากุ หรือเตียวหยู หรือเตียวหยูไถ ในทะเลจีนตะวันออก ที่ญี่ปุ่น และจีนแผ่นดินใหญ่ ตลอดจนไต้หวัน ต่างต้องการครอบครอง	ก็ส่งผลให้น่านน้ำท้องทะเลแห่งนี้ กลายเป็น “ทะเลเดือด” ไปอีกแห่งของภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก เช่นเดียวกับ “ทะเลจีนใต้” น่านน้ำระอุเดือด ที่พร้อมจะระเบิดเป็นสงครามได้ทุกเมื่อ จากเหล่าชาติที่ขัดแย้ง โดยมี “จีนแผ่นดินใหญ่” เป็นคู่ปรปักษ์หลัก โดยในส่วนของ “หมู่เกาะเซนกากุ” หรือ “เตียวหยู” นั้น คู่ฟัด คู่ต่อกร ที่สำคัญ ก็คือ “ญี่ปุ่น” เจ้าของฉายา “ซามูไร” กับ “จีนแผ่นดินใหญ่” พญามังกรที่กำลังผงาดฟ้า ในฐานะมหาอำนาจ ที่จะจ่อขึ้นเบอร์หนึ่งของโลก ซึ่งต่างฝ่ายต่างอ้างกรรมสิทธิ์ครอบครอง จนหมู่เกาะและน่านน้ำบริเวณใกล้เคียง กลายเป็น “พื้นที่เจ้าปัญหา” เพราะมีปัญหาเรื่องพิพาทขัดแย้งไปอีกแห่ง ที่มาของปัญหา ก็เริ่มจากที่ต่างฝ่ายต้างอ้างกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของ ไล่ไปตั้งแต่ “พญามังกรจีน” ได้อ้างไล่เท้าความไปในประวัติศาสตร์ ว่า อาณาจักรจีนโบราณ เป็นเจ้าของหมู่เกาะมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว ส่วน “ซามูไรญี่ปุ่น” ก็อ้างสิทธิ์ครอบครองว่า มีขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2438 (ค.ศ. 1895) ภายหลังจากที่ญี่ปุ่น ในยุคสร้างชาติรัฐบาลเมอิจิ มีชัยชนะในการทำสงครามเหนือจีนแผ่นดินใหญ่ เมื่อปี 2437 (ค.ศ. 1894) เมื่อ “ญี่ปุ่น” พ่ายแพ้ใน “สงครามโลกครั้งที่ 2” ปรากฏว่า “สหรัฐอเมริกา” ในฐานะ “ผู้ชนะสงคราม” ก็ยึดหมู่เกาะแห่งนี้ไว้แทน ในขณะที่ “จีนแผ่นดินใหญ่” ณ เวลานั้น ยังคงระส่ำจากปัญหาภายใน ที่ “พรรคคอมมิวนิสต์” ซึ่งปกครองจีนแผ่นดินใหญ่ในเวลานี้ ณ ขณะนั้นก็ยังระเหเร่ร่อนในนาม “การเดินทัพทางไกล” หรือ “ลอง มาร์ช (Long March” กันอยู่เลย ทั้งนี้ สหรัฐฯ ได้ยึดครองหมู่เกาะแห่งนี้ไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 (ค.ศ. 1945) – พ.ศ. 2515 (ค.ศ. 1972) ก่อนส่งมอบอธิปไตยให้แก่ญี่ปุ่นครอบครองต่อไป ท่ามกลางการโต้แย้งของจีนแผ่นดินใหญ่ รวมถึงไต้หวัน แต่ที่แสดงออกถึงการคัดค้านอย่างรุนแรง ก็ต้องให้พญามังกรจีนแผ่นดินใหญ่ เพราะใช้ปฏิบัติการที่หลากหลายยุทธวิธีในอันที่จะหมู่เกาะมาครอบครอง ไล่ไปตั้งแต่การส่ง “ยานรบ” ไม่ว่าจะเป็น เครื่องบินขับไล่ของทางกองทัพปลดปล่อยประชาชนทางอากาศ และเรือรบของกองทัพปลดปล่อยประชาชนทางน้ำ หรือกองทัพเรือ นั่นเอง ไปเฉียดกรายใกล้ และการประกาศ “เขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ” หรือ “เอดีไอแซด” ซึ่งครอบคลุมถึงน่านฟ้าของหมู่เกาะเซนกากุด้วย รวมถึงการส่งกองเรือประมง เข้าไปจับสัตว์น้ำในน่านน้ำแห่งนั้น นอกจากนี้ ก็ยังมียุทธวิธี “กองทัพมด” ให้ประชาชนพลเมือง ยกพลขึ้นฝั่งเข้าไปในหมู่เกาะแบบแทรกซึม พร้อมที่จะลงหลักปักตั้งถิ่นฐานกันเลยทีเดียว โดยบรรดายุทธวิธีข้างต้น ก็กระทบกระทั่งกับญี่ปุ่นกันอยู่เนืองๆ อาทิ การส่งเครื่องรบ หรือเรือรบ ออกมาสกัดกั้นเครื่องบิรบ หรือเรือรบของจีนแผ่นดินใหญ่ และการไม่ยอมรับต่อการประกาศเขตเอดีไอแซดของทางการปักกิ่ง ส่วนการจัดการกับกองทัพมดชาวจีนที่ลักลอบมาขึ้นเกาะ ทางญี่ปุ่น ก็ใช้การระดมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก จ.โอกินาวา เข้ามาจัดการ ซึ่งปรากฏว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สามารถจับกุมกองทัพมดเหล่านี้ได้เป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ตำรวจ จ.โอกินาวา ที่ทางการญี่ปุ่น ระดมกำลังไปจัดการกับปัญหาชาวจีนลักลอบขึ้นหมู่เกาะเซนกากุ ล่าสุด ทางการญี่ปุ่น ภายใต้การนำของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ก็เตรียมที่จะจัดตั้งสถาปนากองกำลังตำรวจหน่วยใหม่ เพื่อใช้ดูแลด้านหมู่เกาะเซนกากุขึ้นมาโดยเฉพาะ โดยกองกำลังตำรวจหน่วยใหม่ข้างต้น ที่จะจัดตั้งขึ้นมาตามงบประมาณประจำปี 2020 (พ.ศ. 2563) ที่ทางการญี่ปุ่นสถาปนาขึ้นนั้น ก็จะเป็นตำรวจที่เข้าร่วมการฝึกฝนด้านการต่อสู้ รวมไปถึงการสู้รบแบบทหารหน่วยปฏิบัติการพิเศษกันเลยทีเดียว และจะใช้ “ปืนกลมือ” เป็นอาวุธประจำกายหลัก นอกเหนือจากอาวุธปืนพกสั้น และกระบอง กุญแจมือ ที่ใช้กันในหน่วยตำรวจทั่วไป นอกจากนี้ ตำรวจหน่วยใหม่ ก็จะต้องมีสมรรถนะศักยภาพ ในการปฏิบัติการสนธิกำลังร่วมกับกองทัพอากาศที่จะส่งเฮลิคอปเตอร์มาร่วมปฏิบัติการทั้งในด้านการลาดตระเวนและจู่โจมด้วย เพื่อเตรียมพร้อมจัดการกองทัพมด พลเมืองจีน ที่ลักลอบขึ้นฝั่งมา รวมทั้งรับมือกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงจากกองทัพจีนแผ่นดินใหญ่ ที่หมายใจยึดหมู่เกาะแห่งนี้ไปอยู่ในครอบครองกันอีกแห่ง