วันที่ 8 ก.ย. นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กล่าวว่า มีเหตุต้องไปสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 3 ประเด็น คือ 1. กกต. โดยคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง คณะที่ 5 มีหนังสือเชิญไปให้ถ้อยคำในเช้าวันที่ 10 ก.ย.นี้ กรณีร้องกล่าวหาส.ส.มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เนื่องจากเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ หรือไม่ 2.กรณีศาลฎีกานักการเมือง ตัดสินว่านายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่มีความผิดตามฟ้องในคดีกรุงไทย และตามคำพิพากษาเดิมคดีแดงที่ อม. 55/2558 หน้า 51 ศาลระบุไว้ส่วนหนึ่งว่า คณะกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงไทย มีเจตนาฝ่าฝืนประกาศ ธปท. (ธนาคารแห่งประเทศไทย) และมีเจตนาช่วยเหลือผู้กู้เงินได้รับเงินสินเชื่อ 9,900 ล้านบาทโดยมิได้รักษาประโยชน์ของธนาคารผู้เสียหาย และมีการใช้อำนาจโดยมิชอบกระทำผิดหน้าที่ของตนเบียดบังเอาทรัพย์ของธนาคารผู้เสียหายเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต จากคำพิพากษาดังกล่าว จึงอาจเกี่ยวข้องไปถึงคุณสมบัติของนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เนื่องจากเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงไทย ตามคำพิพากษาด้วย และโดยที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 160 (4) บัญญัติว่า รัฐมนตรีต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมาตรา 170 (4) บัญญัติว่า ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเมื่อขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 ดังนั้น จึงมีเหตุไปร้องขอให้ กกต. ตรวจสอบว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายอุตตม สาวนายน จะสิ้นสุดลงเฉพาะตัว หรือไม่ 3.กรณีที่ กกต. ประกาศให้พรรคประชาชนปฏิรูป สิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง ซึ่งไม่ใช่การถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง กรณีจึงมีปัญหาที่ต้องพิจารณาตามมาว่า สมาชิกภาพของ ส.ส. ของนายไพบูลย์ นิติตะวัน จะสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (10) หรือไม่ และจะต้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองต่อไปตามพรป.(พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ) พรรคการเมือง มาตรา 92 (4) รวมทั้งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค หรือไม่ นายเรืองไกร กล่าวว่า ตามเหตุทั้ง 3 ประเด็นดังกล่าว จึงจะไปให้ถ้อยคำและยื่นคำร้องที่ กกต. ในวันที่ 10 ก.ย.นี้ เวลา 09.55 น. ที่ศูนย์ราชการ อาคารบี