“สหกรณ์” เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่ประสบปัญหาเหมือนๆ กัน เพื่อมาร่วมกันคิด ร่วมกันทำและร่วมกันหาแนวทางในการแก้ปัญหานั้นๆ โดยนำเอาอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการสหกรณ์ มาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นแนวทางสู่ความสำเร็จ มุ่งตอบสนองความต้องการของสมาชิก ภายใต้กรอบกฎหมายที่เปิดให้สามารถกระทำการได้ แต่เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์มายิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการสร้าง “คลัสเตอร์”(Cluster) ขึ้นมา เพื่อร่วมมือเกื้อหนุน เชื่อมโยงและเสริมกิจการซึ่งกันและกันอย่างครบวงจร เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืน ด้วยการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และสร้างนวัตกรรมร่วมกัน นายนาวี หะยีดอเลาะ สหกรณ์จังหวัดพัทลุง กล่าวว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 สำนักงานสหกรณ์จังหวัดพัทลุง ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานโครงการพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกร ได้รับเป้าหมายในการขับเคลื่อนคลัสเตอร์ในสินค้า 3 ประเภท ได้แก่ สินค้าโคเนื้อ สินค้าปศุสัตว์ (สุกร) และสินค้ายางพารา โดยสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับคลัสเตอร์เป้าหมายทั้ง 3 กลุ่ม ให้ขับเคลื่อนไปตามแผนงานยุทธศาสตร์ที่วางไว้ ซึ่งผลสำเร็จของการขับเคลื่อนคลัสเตอร์ในแต่ละชนิดสินค้าได้แก่ คลัสเตอร์โคเนื้อ ขับเคลื่อนภายใต้แบรนด์ Red Beef ได้แก่ 1.สหกรณ์โคเนื้อศรีวิชัย (พัทลุง) จำกัด (หัวขบวน/แม่ข่าย) จัดทำเฟรนไชน์เพื่อจำหน่ายให้กลุ่มคลัสเตอร์โคเนื้อศรีวิชัย (เครือข่ายศรีวิชัย) จำนวน 11 แฟรนไชส์ เป็นเครือข่ายคลัสเตอร์โคเนื้อในพื้นที่พัทลุง จำนวน 5 แห่ง และเครือข่ายคลัสเตอร์โคเนื้อต่างจังหวัด จำนวน 6 แห่ง 2.ร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเนื้อโค เป็นหนางหัววัวเพื่อจำหน่าย 3.กลุ่มเครือข่ายคลัสเตอร์โคเนื้อ/สมาชิก ดำเนินการขุนโคส่งให้สหกรณ์โคเนื้อศรีวิชัย (พัทลุง) จำกัด (หัวขบวน/แม่ข่าย) เพื่อจำหน่ายให้ผู้ซื้อเฟรนไชน์ และ4.ดำเนินการแปรรูปเนื้อโคขุน ตามโครงการการวิจัยการจัดการซากโคเนื้อ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และช่องทางการจำหน่ายเนื้อโคศรีวิชัย ภายในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพัทลุงและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาโคเนื้อครบวงจร คลัสเตอร์ปศุสัตว์ (สุกร) ได้จัดทำแผนงานยุทธศาตร์ในการขับเคลื่อน ซึ่งเกิดจากการร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาเกิดขึ้นจากสถานการณ์ปัจจุบัน ปัญหาต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก (SWOT Analysis) เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนคลัสเตอร์ปศุสัตว์ (สุกร) ภายใต้วิสัยทัศน์ “พัฒนาเนื้อและผลิตภัณฑ์ สุกรคุณภาพ ปลอดสารพิษ สู่ตลาดผู้บริโภคในภาคใต้” โดยการพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร ในแต่ละด้าน ได้แก่ 1.ด้านการบริหารจัดการ จำนวน 6 สหกรณ์ 2.ด้านการตลาดให้กับฝ่ายการตลาด จำนวน 6 สหกรณ์ 3.ด้านการผลิตสุกรให้ได้มาตรฐาน จำนวน 6 สหกรณ์ 4.ด้านการแปรรูปและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จำนวน 6 สหกรณ์ 5.ส่งเสริมการเลี้ยงสุกรให้กับสมาชิกคลัสเตอร์ให้ได้คุณภาพและมีกระบวนการผลิตที่ถูกต้อง ได้มาตรฐานและปลอดภัย จำนวน 518 ราย 6.ส่งเสริมการเลี้ยงสุกรให้มีหลัก ธรรมาภิบาล รับผิดชอบต่อสังคม 2 สหกรณ์ 7.ปริมาณการจำหน่ายของผู้ประกอบการและกลุ่มคลัสเตอร์ปศุสัตว์ระดับภาคใต้ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3 ต่อปี 8.มีกิจกรรมที่เสริมสร้างงานคลัสเตอร์ฯ ไม่น้อยกว่า 6 ครั้งต่อเนื่องตลอดปี 9.ดำเนินโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาคลัสเตอร์สินค้าปศุสัตว์ 10.จัดให้มีการประชุม/เสวนาคณะกรรมการคลัสเตอร์ปศุสัตว์ระดับภาค 2 ครั้งต่อปี โดยได้รับบริการทางวิชาการจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราชและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คลัสเตอร์ยางพารา ขับเคลื่อนโดยที่ประชุมเครือข่ายและการศึกษาดูงานสหกรณ์กองทุนสวนยางที่ประสบความสำเร็จด้านการแปรรูปยางพาราเพื่อการส่งออกในจังหวัดตรัง ทำให้สหกรณ์กองทุนสวนยางในจังหวัดพัทลุง จำนวน 8 สหกรณ์ ได้ให้ความสนใจในการพัฒนาศักยภาพโรงงานให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานโรงงาน GMP (Good Manufacturing Practice) ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำโครงการดังกล่าว จากการขับเคลื่อนงานคลัสเตอร์สินค้าแต่ละประเภทในสหกรณ์ จะเห็นได้ว่า สหกรณ์สามารถรวมกลุ่มกันโดยยึดประเภทสินค้า เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาสินค้าเกษตรในลักษณะองค์รวม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาต้นน้ำ กลางน้ำ หรือแม้กระทั่งปลายน้ำ เมื่อรวมกันได้ก็สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะการช่วยลดต้นทุนการผลิตและสร้างอำนาจการต่อรองทางการตลาดและสร้างพันธมิตรทางการค้าไปพร้อมๆ กัน ทั้งนี้ก็เพื่อตอบสนองความต้องการของมวลสมาชิก ส่งผลให้สมาชิกสหกรณ์กินดี อยู่ดี มีสันติสุขในสังคม ตามอุดมการณ์สหกรณ์ต่อไป