ความคืบหน้าความเห็นต่างการรื้อถอนสะพานข้ามทางรถไฟโรงแรมสีมาธานี ซึ่งเป็นเส้นทางของโครงการรถไฟทางคู่ มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ช่วงผ่านเมือง นครราชสีมา ได้ยื้อเยื้อมานานร่วม 2 ปี ทำให้การดำเนินโครงการ ฯ ล่าช้า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้สั่งการให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องพูดคุยให้ได้ข้อสรุปเป็นแนวทางเดียวกัน แม้นต้องเพิ่มงบประมาณแต่ต้องมีความชัดเจนและเหตุผลความจำเป็นและเกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งความเป็นไปได้ทางเทคนิคก่อสร้าง ล่าสุดนายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา จัดประชุมพิจารณาเสนอรูปแบบการแก้ไขปัญหาจราจรและเชิญคู่เห็นต่างมาพูดคุย เพื่อแสวงหาจุดร่วมแต่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 5 กันยายน ที่มูลนิธิหลักเสียงเซียงตึ้งโคราช ในวาระการประชุมงานเทศกาลกินเจ ประจำปี 2562 นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา ได้ชี้แจงข้อมูลดังกล่าวให้ตัวแทนองค์กรคนไทยเชื้อสายจีน คณะกรรมการบริหารมูลนิธิ ฯ พร้อมนำโมเดลจำลองมาแสดงให้ดู ปรากฏได้รับความสนใจมีการซักถามข้อสงสัยนานร่วมชั่วโมง นายสุรวุฒิ ฯ นายก ทน.นครราชสีมา เปิดเผยว่า หลายฝ่ายวิตกกังวลผลกระทบที่เกิดขึ้นหากรื้อถอนสะพานสีมาธานีและสะพานหัวทะเลทั้งในระหว่างก่อสร้างและหลังเสร็จสิ้น ผลการศึกษาอย่างรอบด้านพบรูปแบบทางรถไฟยกระดับและรื้อถอนสะพานทั้ง 2 แห่ง สามารถเชื่อมระบบการจราจรได้ทั้งเมืองพร้อมตัดถนนซึ่งเป็นเส้นทางคู่ขนานทางรถไฟรวมทั้งวางระบบระบายน้ำจากทิศเหนือลงทิศใต้ได้สะดวกยิ่งขึ้น จะนำไปสู่การขยายความเจริญออกไปได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันซึ่งมีข้อจำกัดด้านโครงสร้างหลายประการ อย่างไรก็ตามเมื่อทราบข้อมูลแบก่อสร้างที่ชัดเจน จะช่วยให้ ทน. ฯ สามารถออกแบบผังเมืองมีถนนโครงข่ายเชื่อมต่อกันในลักษณะเส้นทางลัด ลดระยะเวลาเดินทางรองรับสภาพจราจรที่คับคั่ง รองรับปัญหาน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนการบริหารจัดการระหว่างรื้อถอนสะพาน ฯ ได้จัดการจราจรใช้เส้นทางถนนสืบสิริโดยเตรียมเพิ่มช่องทางจราจรจากเดิม 4 เลน เป็น 6 เลน ส่วนการเดินทางจากกรุงเทพ ฯ ทางหลวงชนบทหรือถนน 1120 ผ่านหน้าโรงเรียนสุรนารี 2 กำลังขยายช่องทางจราจรจากเดิม 4 เลน เป็น 8 เลน เพื่อเข้าสู่เมืองโคราช ด้านนายจักริน เชิดฉาย อดีตประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะประธานกลุ่มโคราชเพื่อโคราชและแกนนำเห็นต่าง กล่าวว่า ยืนยันจุดยืนแบบก่อสร้างทางรถไฟต้องยกระดับผ่านสะพานสีมาธานีและสะพานหัวทะเลแล้วค่อยลดระดับลงเท่านั้นและไม่ควรรื้อถอนสะพานทั้ง 2 แห่ง จะสามารถตอบโจทย์แก้ไขปัญหาจราจรและความขัดแย้งได้ดีที่สุด หากอ้างความจำเป็นต้องรื้อถอนสะพาน ฯ ผลการศึกษาระบุเกิดปัญหาวิกฤตจราจรในวันปกติ รถติดสะสมนาน 4 ชั่วโมง ช่วงเทศกาลสำคัญ 10 ชม. และใช้เวลาก่อสร้าง 36 เดือน หรือ 3 ปี แม้นการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ใช้สะพานแบริ่งติดตั้งไว้ทั้งขาเข้าและออก เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรคับคั่ง ก็ สามารถจำลองสถานการณ์โดยปิดใช้สะพาน ฯ เป็นเวลา 2 สัปดาห์ เพื่อเตรียมเผชิญเหตุการณ์จริงและการใช้เส้นทางเลี่ยงแทน จากนั้นให้สอบถามผู้ใช้รถใช้ถนนรับผลกระทบได้หรือไม่ นครราชสีมา/เกษม ชนาธินาถ