คนข้างวัด / อุทัย บุญเย็น ข่าวที่น่าสลดใจอย่างยิ่งสำหรับคนไทย ซึ่งส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา คือ ข่าวสามี-ภรรยา (เจ้าของร้านขายของชำ) ผูกคอตายด้วยกันเมื่อเร็วๆ นี้ ทราบจากสถิติว่า คนไทยฆ่าตัวตายมากเป็นอันดับสองรองจากตายเพราะอุบัติเหตุ และดูเหมือนว่า จำนวนคนไทยฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้นและอยู่อันดับต้นๆ เมื่อหลายปีก่อน ข่าวรายงานว่า คนญี่ปุ่นนิยมฆ่าตัวตายมากกว่าใครเพื่อน การฆ่าตัวตาย ทำได้หลายแบบ เช่น ผูกหรือแขวนคอตาย กินยาพิษตาย ยิงตัวตาย ฯลฯ ล่าสุดใช้วิธี “รมควัน” โดยจุดไฟในรถให้หมดอากาศหายใจตาย สาเหตุการฆ่าตัวตาย มีหลายอย่าง ส่วนใหญ่เนื่องมาจากความคับแค้นเพราะปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า ไม่มีทางออก ปัญหาเศรษฐกิจ นำไปสู่ปัญหาอื่นๆ เช่น น้อยใจ (ถูกเร่งรัดหนี้สิ้นจน)ตัดสินใจตัดช่องน้อยแต่พอตัว ทะเลาะวิวาท เสียสติ ฯลฯ วงการแพทย์ถึงกับจัดให้เป็น “โรค” อย่างหนึ่ง เรียกว่า “โรคซึมเศร้า” ต้องรักษาด้วยการกินยา มีสาเหตุหนึ่งที่น่าสนใจ คือ วงการแพทย์ย้ำระบุว่า โรคจิตอย่างหนึ่งเกิดจากการเจริญสมาธิภาวนา ซึ่งพระก็ยอมรับว่าการฝึกสมาธิที่ไม่มี “ครูอาจารย์” ที่ดี ก็มีโอกาสเป็นโรคจิตได้ สมัยก่อน มีอาการชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นแก่ผู้เคร่งในการปฏิบัติธรรมเรียกว่า อาการ “ธรรมแตก” (ปัจจุบันก็ยังมีอยู่) อาการธรรมแตก มักจะปรากฏให้เห็นในวันพระ 8 ค่ำ หรือ 15 ค่ำ เป็นอาการคุมสติไม่อยู่ อาจจุเดินไปทั่ว ทัดดอกไม้สีแดง พูดเพ้อด้วยภาษาแปลกๆ บางคนมีอาการงุ่นง่านผิดสังเกตเมื่อจะถึงวันพระ (ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไมต้องเป็นวันพระ?) แต่ก็ไม่เป็นอันตรายแก่ใคร ในสมัยพุทธกาล มีพระภิกษุฆ่าตัวตายเหมือนกัน และแม้แต่พระพุทธเจ้าก็ห้ามไม่ได้ (เพราะเป็นเรื่องของกรรม) กรณีพระภิกษุฆ่าตัวตายครั้งใหญ่ มีอยู่ครั้งหนึ่ง ถ้าพูดอย่างชาวบ้านทั่วไป ก็เป็นการฆ่าตัวตายเพราะปฏิบัติทางกรรมฐานที่ผิด คือปฏิบัติ “อสุภกรรมฐาน” (พิจารณาให้เห็นซากศพเป็นนิมิต) ทำให้พระภิกษุในวัดรังเกียจตัวเอง เห็นตัวเองตายด้วยตัวเอง มีการจ้างวานให้คนอื่นช่วยฆ่าตัวเองให้ตาย ซึ่งก็มีผู้อาสาเป็นผู้ฆ่าให้ด้วย (คงจะเรียกได้ว่าเป็น “การุณยฆาต” (mercy killing หรือ euthanasia)นั่นกระมัง) จนกระทั่งจำนวนพระภิกษุในวัดนั้นเหลือน้อยลงอย่างผิดสังเกต พระพุทธเจ้าได้แนะนำให้ใช้วิธี “อานาปานสติ” (กำหนดลมหายใจเข้า-ออก) เป็นกรรมฐานที่ปลอดภัยแก่คนทุกจริต และบัญญัติเป็นสิกขาบทว่าภิกษุฆ่าตัวเองหรือให้ผู้อื่นฆ่า (ตัวเองและมนุษย์) เป็นอาบัติปาราชิก ทรงเล่าบุพกรรม (กรรมในอดีต) ของพระภิกษุเหล่านั้นให้พระภิกษุทั้งหลายฟัง แต่มีอยู่เรื่องหนึ่ง ทั้งๆ ที่พระพุทธเจ้ารู้ว่า พระภิกษุรูปหนึ่งจะฆ่าตัวตาย และ (ตามเรื่องเล่าว่า) มารตนหนึ่งไปกราบทูลพระพุทธเจ้าให้ยับยั้งการฆ่าตัวตายนั้น (ตามวิสัยของมารที่ขัดขวางการบรรลุธรรมเสมอ) พระพุทธเจ้าตรัสแก่มารว่า “ ปราชญ์ (ผู้มีปัญญา) ย่อมทำอย่างนั้นแหละ ท่านไม่คำนึงถึงชีวิต ท่านถอนตัณหาถึงราก ปรินิพพานแล้ว” เรื่องนี้ น่าพิจารณาอย่างยิ่ง พระภิกษุผู้ฆ่าตัวตายรูปนั้น ชื่อ “โคธิกะ” เหตุที่ท่านฆ่าตัวตาย เพราะสมาธิ (เจโตวิมุตติ) เองท่านเสื่อมหรือล้มเหลวถึง 6 ครั้ง (ได้ผ่านที่ 3 ถึง 6 ครั้ง) แต่เข้าฌานที่4 ไม่ได้ (ผ่านที่ 4 หรือจตุตถฌาน เป็นฌานเข้าสู่การบรรลุมรรคผล) ท่านเห็นว่า เมื่อฌานเสื่อมอย่างนั้น ก็แสดงว่า การเกิดในภพใหม่ (คติ) ของท่าน ก็ไม่แน่นอน คือจะต้องเวียนว่ายตายเกิด อยู่ในสังสารวัฏฏ์ไม่จบสิ้น จึงตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยการเอามีโกนปาดคอตัวเองให้ตาย มารรู้ว่านั่นเป็นการเริ่มวิปัสสนา พระโคธิกะ จะบรรลุอรหัตตผล (เป็นพระอรหันต์จึงต้องการขัดขวาง แต่ตัวเองจะแสดงตัวยับยั้งเองคงไม่เป็นผล จึงไปกราบทูลให้พระพุทธเจ้าขัดขวางให้ได้ พระพุทธเจ้าเสด็จไปพบพระโคธิกะ (พร้อมด้วยพระภิกษุจำนวนมาก) ขณะที่พระโคธิกะนอนอยู่บนเตียงจ่อมีดโกนที่คอหอยแล้ว พระโคธิกะได้ฆ่าตัวตาย! คราวนั้น เกิดปรากฎการณ์มีกลุ่มควัน (และเมฆ) ลอยไปมาอยู่เบื้องบน พระพุทธเจ้าบอกพระภิกษุว่า นั่นคือมารกำลังวิ่งว่อนหาวิญญาณ ของพระโคธิกะ แต่ก็หาไม่พบ เพราะวิญญาณของพระอรหันต์ดับสูญ (ปรินิพพาน) แล้ว หมายความว่า พระโคธิกะเป็นพระอรหันต์ขณะคมมีดโกนเฉือนที่คอนั่นเอง พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระภิกษุว่า พระโคธิกะเป็นปราชญ์ เพียบพร้อมด้วยปัญญา (มีสติปัญญาสมบูรณ์พร้อม) ได้ฌาน ดิ่งอยู่ในฌานตลอดเวลามีความเพียรทั้งวันทั้งคืน ไม่ห่วงชีวิต เอาชนะความตายได้ ไม่มีการเกิดอีก ถอนตัณหาถึงรากถึงโคน ปรินิพพานแล้ว เรื่องนี้ ทำให้ได้ความรู้ว่า สภาวะของนิพพาน (การดับกิเลสและการตายของพระอรหันต์) คือการดับเบญจขันธ์ (โดยเฉพาะวิญญาณที่จะไปเกิดในภพใหม่อีก) ชนิดที่วิญญาณด้วยกัน (คือมาร)ก็หาไม่พบ (วิญญาณในที่นี้ คือ ปฏิสนธิวิญญาณ) เข้าใจว่า การเคลื่อนไหวของวิญญาณ (คือมาร)นั้น สามารถเห็นเป็นกลุ่มควันหรือเมฆ ด้วยฌานของพระพุทธเจ้าและพระภิกษุผู้ได้ฌาน (โดยปกติ สภาวะของวิญญาณหรือจิต เป็นแสง (ปภัสสร) แต่วิญญาณของมาร ที่เป็นกลุ่มควัน เพราะวิญญาณถูกห่อหุ้มด้วยกิเลสนั่นเอง) ที่น่าสงสัย ก็คือ การฆ่าตัวตายของพระโคธิกะ เป็นอาบัติปาราชิกหรือไม่? นึกไปถึงเรื่องพระองคุลิมาล เมื่อท่านสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว กรรมใดๆ ที่เคยฆ่าคนนับพันวิ่งตามให้ผล ก็วิ่งตามไม่ทัน กรรมเหล่านั้นของพระองคุลิมาล เป็นอันโมฆะ(เป็นอโหสิกรรม) คือไม่เป็นกรรม แสดงว่าอาบัติปาราชิก (ซึ่งเป็นกรรม) ของพระโคธิกะ ไม่มีผล เพราะพระโคธิกะ สำเร็จเป็นพระอรหันต์ขณะฆ่าตัวตาย การบรรลุผลเป็นไปในชั่วขณะจิตหนึ่งๆ การตาย (สำหรับผู้เข้าฌาน) ย่อมกำหนดได้ จึงมีคำว่า “จริมกจิต” (จิตขณะจะเคลื่อนภพหนึ่งสู่ภพหนึ่ง) เข้าใจว่า จิตของพระโคธิกะ ขณะมีดโกนจะเฉือนคอนั้นเป็นจิตที่มีสติปัญญาสมบูรณ์และดิ่งเข้าฌานที่ 4 และท่านก็รู้ตัวทั่วพร้อมว่า กิเลส (ตัณหา) ดับสนิทแล้วสิ้นเชิงในขณะจิตนั้น! ลักษณะอย่างนี้ จะเป็นไปได้ก็สำหรับผู้เคยเข้าฌาน ที่ 2-3 จนชำนาญแล้ว คนทั่วไปคงอ้างอย่างนั้นไม่ได้ เขียนมาอย่างนี้ ก็เพื่อตีกันไม่ให้คนหรือพระทั่วไปอ้างเหตุเพื่อจะฆ่าตัวตายง่ายๆ ไม่ได้นั่นแหละ การฆ่าตัวตาย (suicide) หรือ “อัตวินิฆาตกรรม” นั้น ทุกศาสนาถือเป็นบาป ในสิกขาบทของพระภิกษุปรับเป็นอาบัติปาราชิก (อาบัติหนักที่สุด) สำหรับพระภิกษุ ในทางธรรม พุทธศาสนาถือเป็น “กรรม” อย่างหนึ่ง ซึงจะทำให้เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์ต่อไป (แม้แต่สั่งฆ่าหรือให้ฆ่าก็เป็นอาบัติและเป็นกรรม เป็นบาป) น่าสังเกตว่า คนจนจริงๆ และคนพิการแทบจะไม่มีการฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะสัตว์เดรัจฉานไม่มีการฆ่าตัวตายเลย แสดงว่า การฆ่าตัวตายมีการคิดปรุงแตงเป็นปัจจัยสำคัญ การคิดปรุงแต่งนั้น ทางพุทธศาสนาเรียกว่า “สังขาร” อันเป็น “นาม” อย่างหนึ่งในขันธ์ 5 (นามหรือ “นามธรรม” 5 คือ เวทนา(ความรู้สึก) – สัญญา (ความจำได้หมายรู้) - สังขาร (ความคิด) และวิญญาณ (ความรับรู้) ไม่ว่าจะเป็นความน้อยใจ , ความคับแค้นใจ,ความขุ่นแค้น,ความคิดฟุ้งซ่าน ฯลฯ อันนำไปสู่การฆ่าตัวตาย ล้วนแต่เป็นความคิดปรุงแต่งหรือเป็น “สังขาร” มนุษย์ได้ชื่อว่า มีเบญจขันธ์ (ขันธ์ 5) ครบทุกอย่าง แต่ละนามขันธ์ (คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) แต่ข้อเสียเปรียบก็คือ มีความคิดปรุงแต่ง (สังขาร) ได้มากมาย พระพุทธเจ้าจึงให้บริหารสังขารหรือความคิดให้ดี สังขารนี้แหละเป็นปัจจัยก่อการเกิดเป็นชีวิตขึ้นมา ทางพุทธศาสนาสอนว่า การเกิดเป็นมนุษย์เป็นเรื่องยากเพราะการเป็นมนุษย์ถึงการมีเบญจขันธ์ครบถ้วน ได้เปรียบสัตว์โลกด้วยกัน นามทั้ง 4 (คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ของมนุษย์นั้นเป็นเครื่องมืออันวิเศษที่จะช่วยให้เจริญและเสื่อมได้เท่าที่ต้องการ มนุษย์มีความรู้สึก (เวทนา) สุขทุกข์และไม่สุขไม่ทุกข์ได้ มีความจำ (สัญญา) มีความคิด (สังขาร)ได้มากมาย และมีการรับรู้ทางอายตนะ (วิญญาณ) ได้หลายทาง (สัตว์โลกหลายชนิดอาจจะมีเบญจขันธ์ทุกอย่าง แต่มักจะไม่สมบูรณ์เท่ากับที่มนุษย์มี) แต่เพราะความมีเบญจขันธ์พร้อมสมบูรณ์ทุกอย่างนั้นแหละ ธรรมชาติจึงมีการจัดสรรให้มนุษย์มีข้อเสีย คือ รู้จึกฆ่าตัวตาย! ซึ่งสัตว์โลกประเภทอื่นไม่มี ถ้าสัตว์โลกทั้งหลายรู้จักฆ่าตัวตาย พวกเขาต่างหากจะมีการฆ่าตัวตายทุกวัน เพราะพวกเขามีความเป็นอยู่ที่ลำบากมากมายนัก แต่สัตว์โลกทั่วไปไม่รู้จักคิดฆ่าตัวตาย มานึกดูก็เสียดายมนุษย์ที่ตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยเหตุใดก็ตาม เพราะการที่จะได้เกิดเป็นมนุษย์นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เกิดมาแล้วกว่าจะเจริญเติบโตเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ก็แสนยาก มนุษย์คิดอ่านอะไรได้มากมาย แต่มนุษย์ก็ลืมคิดไปว่า เมื่อตัวเองเกิดมานั้น ก็มาแต่ตัว แต่ “สังขาร” ทำให้คิดเอาอะไรไปมากมาย จึงเกิดความผิดหวังได้ยอมฆ่าตัวตายเพราะคิดผิดแท้ๆ