ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต คุณค่าของการมีชีวิตอยู่ในความหมายของการเป็นมนุษย์ นับเป็นสิ่งสำคัญอันล้ำค่าต่อข้อตระหนักในการรับรู้ที่หยั่งลึกและสมบูรณ์ภายในจิตใจ มันคือวิถีอันก้าวล้ำไปข้างหน้าด้วยญาณสัมผัสอันกระจ่างแจ้งเป็นการตีความปริศนาด้วยภาวะที่อ่อนโยนแต่เฉียบคมในเชิงพินิจ/คำถามสำคัญในโลกอันเป็นจริงของเราก็คือว่า..การมีชีวิตของเราทุกคนนั้นคืออะไร?...มันหมายถึงและเกี่ยวข้องกับสิ่งใด ?...แน่นอนว่า..หลายๆคนอาจจะจนมุมในการหาคำตอบอันเที่ยงแท้นี้..อาจจะนึกอะไรไม่ออก/แต่ถ้าหากใครก็ตามลองพินิจถึงเหตุผลที่เราตื่นขึ้นมาในตอนเช้าว่า..มันเป็นเพราะเหตุใด?/...จากคำถามนี้คนญี่ปุ่นจะแสดงความเชื่อกันออกมาว่า...ทุกคนย่อมมีเหตุผลเฉพาะตัวต่อการมีชีวิตอยู่ในตัวเอง ที่พวกเขาต่างเรียกกันว่า “อิคิไก”...อันหมายถึงความสุขเล็กๆน้อยๆที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน/...ไม่ว่าจะเป็นการได้ลิ้มรสกาแฟที่มีรสชาติหอมอร่อยท่ามกลางแสงแดดอุ่นไอในตอนเช้า...การได้อ่านหนังสือดีๆมีคุณค่าสักเล่ม หรือการได้กินข้าวกับครอบครัวหรือบุคคลอันเป็นที่รัก/...สิ่งเหล่านี้ล้วนต่างเป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลที่ทำให้เราต้องตื่นนอนขึ้นมาในทุกๆวัน เพื่อจักได้ใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย/เหตุนี้”อิคิไก”จึงคือปรัชญาในการใช้ชีวิตของคนญี่ปุ่นที่แฝงอยู่ในความเป็นชีวิตและถูกหลอมรวมมาช้านาน/...ไม่ได้เป็นหรือมีเพียงเป้าหมายเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายรวมถึงคุณค่าในตัวเอง /การสร้างความสุขในสิ่งที่ทำ/ การมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง/ การมีจิตใจที่แจ่มใส /หรือแม้กระทั่ง...การมีจิตวิญญาณแห่งตนที่มุ่งมั่น.. “อิคิไก/ความหมายของการมีชีวิตอยู่”..หนังสื่อที่สื่อสาระถึงว่า เมื่อการงานไม่ใช่สิ่งที่แปลกแยกจากชีวิต...มันคือปรัชญาที่ชาวญี่ปุ่นจะทำให้ผู้อ่านทุกคนตื่นแต่เช้าเพื่ออกไปทำสิ่งที่รัก/ “เคน โมจิ” (Ken Mogi)...นักวิทยาศาสตร์ด้านสมองชาวญี่ปุ่น...ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้จะพาผู้อ่านไปสำรวจและทำความเข้าใจกับหลักการพื้นฐานของ “อิคิไก” ที่เป็นเบื้องหลังความสุขและความสำเร็จของตัวเราให้พบ..แท้จริงแล้ว “อิคิไก” มีเสาหลักค้ำยันในหลักการเฉพาะตนอยู่ห้าประการอันประกอบด้วย/การเริ่มต้นเล็กๆ/การปลดปล่อยตัวเอง/ความสามารถที่สอดคล้องและยั่งยืน /ความสุขกับสิ่งเล็กๆ/และการอยู่ ณ ตรงนี้ ในตอนนี้.../เสาหลักทั้งห้านี้จะปรากฏขึ้นมาบ่อยๆ เพราะเป็นกรอบแนวทางอันเป็นรากฐาน ที่ช่วยให้อิคิไกงอกงามเบ่งบาน โดยพวกมันไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเพียงประการใดประการหนึ่งหรือเกิดขึ้นครบถ้วนทั้งหมดทุกประการ/...ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะไหนพวกมันต่างเป็นความจำเป็นต่อการเข้าใจอิคิไก...กระทั่งเป็นผลสะท้อนมาสู่ชีวิตจริงของเราทุกๆคน “แดน บิวท์เนอร์” (Dan Buettner)นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านพื้นที่ในโลกที่ผู้อยู่อาศัยอายุยืนมากที่สุดได้ยืนยันว่า.. “อิคิไก” คือความลับเบื้องหลังการมีอายุยืนร้อยปีของคนญี่ปุ่น เขาพบคำตอบนี้จากการพูดคุยกับผู้สูงวัย นับแต่ชาวประมงอายุร้อยปีผู้ค้นพบอิคิไกจากการออกไปตกปลากับครอบครัวสัปดาห์ละสามครั้ง/หรือจากกรณีของหญิงชราวัย102 ปีที่รู้สึกถึงอิคิไก ในขณะที่อุ้มลูกของเหลน/... “อิคิไก” คำนี้จึงให้ความหมายอันแท้จริงว่า “จุดมุ่งหมาย” หรือ “เหตุผลของการมีชีวิตอยู่”...อันหมายถึงภาวะของเหตุผลที่เราต้องตื่นมาในทุกๆเช้า...ไม่ว่าจะเป็นอากาศเย็น/ กาแฟร้อนๆ/แสงของดวงตะวัน/ขนนุ่มๆของสัตว์เลี้ยงพื้นบ้านที่ไม่เปื้อนฝุ่น/หรือความสดใหม่ของผัก/...อะไรๆก็เป็นได้/...เพราะอิคิไก คือคุณค่าของสิ่งต่างๆที่เราสามารถรับรู้ได้ในชีวิต...เป็นปัญญาที่ซ่อนอยู่ในปรัชญา...โอบล้อมความเป็นเซนเอาไว้ภายใน/...คือการสร้างความสุขและสุขภาพที่ดีของร่างกาย จิตใจและจิตวิญญาณ ผ่านการรู้สึกตัวและการค้นพบตัวตน โดยผ่านหลักการสี่ข้อคือ..อะไรคือสิ่งที่เรารัก/อะไรคือสิ่งที่สร้างรายได้ให้เรา/อะไรคือสิ่งที่โลกต้องการ/และอะไรคือสิ่งที่เรามีทักษะทำได้ดี/... ในปี 2001..นักวิจัยนาม “อะกิฮิโระ ฮาเซกาวะ” นักจิตวิทยาคลินิกและอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย “โตโย เอวะ” ได้บันทึกไว้ในงานวิจัยถึงคำว่า “อิคิไก” ในฐานะคำที่ถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวันของชาวญี่ปุ่นว่า...ประกอบไปด้วยคำสองคำอันได้แก่คำว่า “อิคิ” (Iki)ที่แปลว่าชีวิต กับคำว่า “ไก” (Gai) ซึ่งหมายถึง “คุณค่าในทางจิตใจ”/อย่างไรก็ตาม..ความหมายของคำว่า “อิคิไก” นี้สามารถย้อนหลังไปสืบค้นรากเหง้าได้ถึงยุคเฮอัง...ค.ศ.794-1185 อันเป็นยุคที่รุ่งเรืองสูงสุดทางศิลปะวัฒนธรรมของญี่ปุ่น ที่เมืองหลวงยังอยู่ที่เกียวโต และคำว่าเอฮังนี้ ก็มีความหมายว่า “ความสงบ สันติ” “อาเซกาวะ” ได้ระบุว่า.. “Kai” ที่แปลว่าหอยในภาษาญี่ปุ่น..หอยที่คนญี่ปุ่นยุคดั้งเดิม ใช้แทนการใช้จ่ายเป็นตัวแทนวัดคุณค่าของสิ่งต่างๆในยุคนั้น..มันคือสิ่งที่มีคุณค่าอันสำคัญอย่างยิ่ง/เหตุนี้คำว่าอิคิไก...จึงกลายมาจากคำที่ให้ความหมายถึงคุณค่าของการมีชีวิตอยู่...เช่นเดียวกับคำอื่นๆในภาษาญี่ปุ่นอย่างคำว่า “ยาริไก” ซึ่งแปลว่า..คุณค่าของการลงมือทำ หรือคำว่า “ฮาตาระคิไก” ..ที่แปลว่าคุณค่าของการทำงาน “เคน โมจิ” ได้เน้นย้ำให้ผู้อ่านทุกคนได้ตระหนักถึงสาระสำคัญของชีวิตเพื่อการก้าวเข้าสู่ความเป็นอิคิไกอย่างน่าใคร่ครวญในนัยที่ว่า..การมีชีวิตอยู่อย่างสอดคล้องกับผู้อื่นและสิ่งแวดล้อม เป็นองค์ประกอบสำคัญของอิคิไก ..ความไวต่อความรู้สึกของสังคม ถือเป็นปัจจัยกำหนดประสิทธิภาพโดยรวมของอิคิไก/นั่นหมายถึงว่าอิคิไกของแต่ละคนเมื่อนำมาใช้อย่างสอดคล้องกับผู้อื่น จะหนุนให้เกิดการสร้างสรรค์ จากการแลกเปลี่ยนความคิดอย่างเป็นอิสระ ด้วยการชื่นชมและเคารพต่อบุคลิกลักษณะของผู้คนรอบตัวเรา เราจะสามารถพบกับสามเหลี่ยมทองคำ อันเกิดจากอิคิไก...ผ่านความลื่นไหล และความคิดสร้างสรรค์ที่สอดคล้องไปกับองค์ประกอบทั้งภายนอกและภายในตัวเราทุกคน.... สิ่งสำคัญในแนวคิดอิคิไกของญี่ปุ่น คือการเป็นคนสงวนท่าทีและควบคุมตัวเอง โดยถือว่าความสอดคล้องกลมกลืนกับคนอื่นควรต้องมาเป็นอันดับแรก /ทั้งนี้ก็เพราะว่า ในโลกที่ความแตกต่างทางเศรษฐกิจได้ทำให้ก่อเกิดความไม่สงบทางสังคมได้แพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวาง/..คนญี่ปุ่นได้มองเห็นเนื้อในของปัญหานี้และต่างก็ได้พยายามรักษาธรรมเนียมในการเป็นชาติที่สงบเสงี่ยมและถ่อมตัวเสมอมา... “..แม้สภาวะทางเศรษฐกิจในอดีตจะรุ่งเรืองปานใดก็ตาม แต่ก็เป็นเวลาเนิ่นมาแล้วที่คนญี่ปุ่นถือว่าตัวเองนั้นอยู่ในกลุ่มชนชั้นกลาง..จนเมื่อไม่กี่ปีมานี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจได้ชะลอตัวลง และมีจำนวนประขากรสูงอายุเพิ่มขึ้น /ญี่ปุ่นจึงเริ่มมีการตื่นตัวกันในเรื่องความแตกต่างทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวมากขึ้น มีตัวชี้วัดหลายๆอย่างมายืนยันความคิดดังกล่าวนี้..โดยแท้จริง ในประเทศญี่ปุ่น เราจะไม่ค่อยได้เห็นคนรวยใช้เงินกันจำนวนมหาศาล หรือการโอ้อวดตัวเองของคนมีชื่อเสียง อย่างน้อยก็ในการรับรู้ของคนทั่วไป..ญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมของเซเลบริตี้แบบไม่เอิกเกริก ไม่ค่อยมีคนแบบ จัสติน บีเบอร์ หรือ ปารีส ฮิลตัน./ เซเลบริตี้ที่มีอยู่ก็มีระดับความดังที่น้อยกว่า” กล่าวโดยสรุป...ถ้าทัศนความคิดในเชิงปฏิบัติของคนญี่ปุ่นเป็นเช่นนี้/คำถามสำคัญที่ตามมาก็คือว่า”คนญี่ปุ่นเอาพลังในการก้าวต่อไปมาจากไหน?/...คำตอบก็คือสำหรับบางคนอาจจะเจอแหล่งพลังหรือแรงบันดาลใจที่ทำให้อดทนยืนหยัด จากบรรทัดฐานและคุณธรรมประจำสังคม การศึกษา และความมั่นคงทางเศรษฐกิจก็มีบทบาทสำคัญด้วยเช่นกัน รวมถึงสายใยแห่งครอบครัวและมิตรภาพของเพื่อนฝูงด้วย ... “สำหรับคนญี่ปุ่น สิ่งนี้ถูกสอนกันตั้งแต่วัยเยาว์/ “Weekly Shonen Jump” นิตยสารมังงะของสำนักพิมพ์ ซูเออะ แห่งโตเกียว/ได้อ้างว่ามียอดขายตีพิมพ์มากกว่าสองล้านก๊อบปี้ต่อฉบับ ผ่านไปปีแล้วปีเล่า มังงะรายสัปดาห์ที่มียอดขายสูงที่สุดในโลกเล่มนี้ ได้ปลูกฝังคุณค่าสามประการไว้ในเนื้อหาที่นำเสนอ อันได้แก่มิตรภาพ การต่อสู้ และชัยชนะ รากฐานชีวิตในสามประการนี้ เป็นที่มาของแบบสอบถามที่ทางโรงเรียนจัดให้เด็กนักเรียนชั้นประถมสี่และประถมห้าได้ทำ เด็กญี่ปุ่นเติบโตมาพร้อมกับการตระหนักถึงความสำคัญของคุณค่าเหล่านี้ การ์ตูนมังงะนำเสนอรูปแบบอันหลากหลายในการจัดการกับความยากลำบาก แล้วก็เอาชนะมันไปได้ ด้วยการร่วมมือกับเพื่อนฝูง/...เนื้อหาทำนองนี้ถูกป้อนเข้าสู่สมองของเด็กๆ/..นี่เอง จึงเป็นเหตุให้เด็กญี่ปุ่นมีสัมผัสแห่งอิคิไก...ด้วยกันทุกๆคน” ... “วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ” แปลหนังสือเล่มนี้ออกมาได้อย่างงดงามและเข้าใจ..ด้วยรากฐานของการสืบค้นเพื่อหาความหมาย..ในประเด็นเรื่องราวนานา/จากจิตแห่งการรับรู้อันสอดคล้องด้านในที่ลึกซึ้ง... “นี่คือหนังสือที่เปี่ยมเต็มไปด้วยคุณค่าของการสำนึกร่วมระหว่างกัน”...เป็นโยงใยอันละเอียดอ่อนผ่านผัสสะอันลึกซึ้งของตัวตนแห่งจิตวิญญาณด้านใน/...แผ่วเบาในการรับรู้และก่อผัสสะ /แต่กลับเสริมส่งพลังด้านในต่อการมีชีวิตอยู่อย่างประจักษ์แจ้งและเห็นค่าของความหมาย/ทั้งในห้วงขณะแห่งการทำงานแห่งชีวิต หรือแม้กระทั่ง ณ ขณะที่เราต่างรักใครสักคนด้วยความรัก/ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากอิคิไกที่ปลูกสร้างไว้ในหนังสือเล่มนี้ ..จะช่วยให้เรามีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในการแยกแยะปัญหาชีวิต/ด้วยการหันไปทำสิ่งต่างๆด้วยก้าวเล็กๆโดยไม่จำเป็นที่จะต้องหาสิ่งตอบแทนในแบบทันทีทันใดจากภายนอก/ขณะะเดียวกันมันก็จะช่วยให้เราสามารถมองเห็นความเชื่อมโยงอย่างถึงที่สุดระหว่างความสอดคล้องกับความยั่งยืน/กระทั่งรู้สึกถึงว่าตัวตนของเรานั้น ควรผ่อนคลายกับตัวเองในแบบที่ควรจะเป็น /พร้อมกับยอมรับความแตกต่างของคนอื่นได้มากขึ้น/จนที่สุดทุกสิ่งจะง่ายแสนง่าย กับการที่ชีวิตสามารถหาความสุขอันแท้จริงได้จากสิ่งเล็กๆ.../เนื่องเพราะแท้จริงแล้วชีวิตของเราทุกๆคนล้วนต่างต้องการการวิวัฒน์ หาใช่การปฏิวัติในแบบที่จะถูกซัดพาไปโดยหลักการใหม่ที่เพิ่งค้นพบ/ ความคิดใหม่และการกระทำที่ใหม่เอี่ยมถอดด้ามนั้น..ครั้นเมื่อรวมเข้ากับความคิดในการเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง/...นั่นคือสิ่งที่จักนำพาให้ผู้คนหลงผิดจนออกนอกลู่นอกทาง...แต่ในความเป็นจริงที่แท้แล้ว... “อิคิไก...เป็นเพียงแค่สิ่งที่ช่วยหนุนเนื่องปัญญาญาณที่เราทุกคนมีอยู่แล้ว/ เมื่อเป็นเช่นนี้...ความเปลี่ยนแปลงในวิถีดังกล่าวจึงเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป สงบเสงี่ยมเจียมตัว...คล้ายดั่งความเป็นชีวิตของเราทุกคน ...นั่นเอง”